ช่องคลอดในช่วงตอนท้อง คือ อวัยวะที่แม่ท้องควรใส่ใจและดูแลมากเป็นพิเศษ เพราะความผิดปกติเพียงเล็กน้อยที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นกังวลสำหรับแม่ท้องได้ วันนี้เราชวนทุกคนมาสังเกตความผิดปกติของช่องคลอด โดยน้ำที่ไหลออกมาจากอันตรายไหม? มีอะไรที่ควรกังวล ต้องไปหาแพทย์ทันทีเลยหรือเปล่า theAsianparent Thailand พามาดูบทความ มีน้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอดผิดปกติไหม 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 13
มีน้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอดผิดปกติไหม 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 13
แม่ท้อง จะมีการเปลี่ยนแปลงทางรูปร่าง ซึ่งเป็นผลจากฮอร์โมนขณะมีท้อง โดยคำถามที่พบบ่อยคือเรื่องตกขาวขณะตั้งครรภ์ โดยจะมีข้อสงสัยว่าแบบไหนถึงปกติ แล้วแบบไหนควรจะไปพบแพทย์ โดยในกรณีที่เป็นของเหลวออกมาเป็นน้ำใส ๆ ไม่มีสีไม่มีกลิ่น แม้ว่าจะไหลออกมามาก ก็ไม่ถือเป็นอันตรายและผิดปกติแต่อย่างไร เพราะมันคือ น้ำคัดหลั่ง ในช่องคลอด หรือเรียกอีกอย่างว่า อาการตกขาวแบบปกติ ไม่มีการติดเชื้อ ซึ่งมันเกิดจากทำความสะอาดตัวเองในช่องคลอด เป็นกลไกปกติของร่างกาย ที่จะมีแบคทีเรียชนิดดีที่สร้างกรดอ่อน ๆ สำหรับทำลายแบคทีเรียที่ไม่ดี ป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายใน
ตกขาวขณะตั้งครรภ์ อันตรายหรือไม่
ตกขาว คือ สารน้ำ สารคัดหลั่ง ที่มาจากเซลล์เยื่อบุผนังช่องคลอด รวมทั้งมูกจากปากมดลูก ซึ่งมีเป็นปกติแล้วในช่องคลอด โดยสารเหล่านี้จะทำหน้าที่รักษาสมดุล ความเป็นกรด-ด่าง ในช่องคลอด ซึ่งเป็นด่านป้องกันการรุกล้ำของเชื้อโรคต่าง ๆ และ เป็นสารหล่อลื่นขณะมีเพศสัมพันธ์ ในแม่ท้องปกติจะมีการสร้างสารน้ำและเมือกเหล่านี้จากผนังช่องคลอดเพิ่มมากขึ้น โดยจะสังเกตเห็นเป็น ตกขาว สีขาว หรือ สีขาว-เหลือง ไม่มีกลิ่น ไม่คัน ไม่เป็นตะกอน ไม่มีมูกปน ไม่มีฟองปน มีปริมาณไม่มาก ไหลออกมาจากช่องคลอดประปราย โดยเมื่อแห้งติดชั้นในอาจจะเป็นคราบสีเหลืองได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ตกขาวสีเขียว คืออะไร ? แล้วเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ?
วิธีดูแลความสะอาดตอนท้อง
โดยหากมีอาการตกขาวแบบด้านบนที่กล่าวไว้ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดี แต่แม่ต้องดูแลสุขภาพหมั่นดูแลความสะอาดบริเวณปากช่องคลอดให้ดี
- ล้างอวัยวะเพศภายนอกด้วยน้ำสะอาดแล้วซับหรือเป่าให้แห้งเพื่อไม่ให้อับชื้น
- งดการสวนล้างช่องคลอดด้วยน้ำยาล้างช่องคลอด
- ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เพียงเท่านี้ก็จะช่วยปรับสมดุลของช่องคลอดให้ดีขึ้น และบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้
แต่หากสังเกตพบอาการผิดปกติ เช่น ตกขาวสีเหลืองคล้ายหนอง มีสีเขียว และมีกลิ่นเหม็นคาวปลา โดยมีอาการคันร่วมด้วย ตกขาวเป็นฟอง มีมูกเลือดปน มีอาการปัสสาวะแสบ ซึ่งบอกถึงช่องคลอดอักเสบจากการติดเชื้อ ก็ควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ
ตกขาวสีน้ำตาล ผิดปกติหรือไม่
ตกขาวสีน้ำตาล อันตรายไหม? บางครั้งเจอตกขาวสีน้ำตาลเก่า ๆ ไหลออกมาเปื้อนชั้นใน ซึ่งมักจะเป็นเลือดเก่าที่ค้างอยู่ในช่องคลอด
- หากพบในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ อาจเป็นสัญญาณบ่งถึงภาวะเสี่ยงต่อการแท้งบุตรได้ จึงควรรีบมาพบแพทย์
- หากพบในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ ควรสังเกตว่ามีมูกปนกับตกขาวสีน้ำตาลด้วยหรือไม่ ซึ่งอาจบ่งถึงปากมดลูกเริ่มเปิดขยายจนมีมูกจากปากมดลูกหลุดออกมาได้ แสดงถึงการเข้าสู่ระยะคลอดลูก จึงควรมาพบแพทย์เช่นกัน
อาการผิดปกติคนท้องที่ต้องรีบไปโรงพยาบาล
นอกจากนี้ คุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการน้ำคร่ำเดินร่วมด้วย โดยจะมีลักษณะน้ำใสที่ไหลออกจากช่องคลอด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่สามารถกลั้นได้ โดยจะไหลออกมาเรื่อย ๆ ซึ่งปริมาณน้อยและค่อยมากขึ้นในช่วงไอ หรือ เบ่ง โดยบางครั้งอาจจะมีไขสีขาวออกมาปนกับน้ำคร่ำด้วย ซึ่งเป็นเซลล์เยื่อบุผิวของทารกที่หลุดออกมา ปนกับน้ำคร่ำนั้นเอง โดยในกรณีที่มีตะกอนเหลวสีเขียวขี้ม้าไหลออกมาปนกับน้ำคร่ำ แสดงว่าทารกถ่ายขี้เทา ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ซึ่งบ่งบอกถึงสภาวะทารกขาดออกซิเจน ซึ่งจำเป็นต้องให้คลอดฉุกเฉิน จึงควรรีบมาพบแพทย์ทันที
ในกรณีที่มีเลือดแดงสดไหลออกมาทางช่องคลอด ถือว่าเป็นความเสี่ยงของการตั้งครรภ์
- โดยถ้าพบในช่วงต้นของการตั้งครรภ์ อาจมีโอกาสแท้งบุตร ท้องลม ท้องนอกมดลูก ครรภ์ไข่ปลาอุก
- หากพบในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์ บอกถึงสภาวะรกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด จึงต้องมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อรักษาเหมาะสมต่อไป
มีน้ำไหลออกจากช่องคลอด แต่ยังไม่ถึงกำหนดคลอดเลย
โดยปกติแล้ว อาการน้ำเดิน นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด โดยหากว่าแม่ท้อง มีน้ำไหลออกจากช่องคลอด แต่ยังไม่ถึงกำหนดคลอด หรือน้ำเดินก่อนเจ็บครรภ์ แสดงว่าแม่ท้องอยู่ในภาวะครรภ์เสี่ยง ควรต้องระวัง
ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด คืออะไร
ภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด คือ ภาวะที่ถุงน้ำคร่ำรั่ว หรือ แตกเอง โดยก่อนจะมีการเจ็บท้องคลอด ซึ่งจะเป็นภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด สามารถเกิดขึ้นได้ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ โดยความถี่ของภาวะนี้ จะพบได้ประมาณ ร้อยละ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด เป็นปัญหาภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อย และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายต่อแม่และลูกในครรภ์ได้ ทำให้มีโอกาสติดเชื้อในการตั้งครรภ์สูงมาก ทั้งนี้ การแตกของถุงน้ำคร่ำ ก็เป็นสัญญาณบอกว่า จะมีการคลอดในไม่ช้า
อันตรายและภาวะแทรกซ้อนจากน้ำเดินก่อนกำหนด
อันตราย และภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้จากภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
- เสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งแม่และลูกในครรภ์
- ทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อในโพรงมดลูก
- ทารกคลอดก่อนกำหนด
- เสี่ยงต่อภาวะสายสะดือของทารกในครรภ์ย้อยต่ำลงมาและถูกกดทับ
- รกลอกตัวก่อนกำหนด
- หลอดเลือดสายสะดือฉีกขาด ทำให้แม่เสียเลือดในการคลอดมากขึ้น รวมทั้งการเสียเลือดมากขึ้นของทารกด้วย
- มีโอกาสต้องทำการผ่าคลอด
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
ปัจจัยเสี่ยงของภาวะน้ำเดินก่อนกำหนด
- มีประวัติน้ำเดินก่อนกำหนดในครรภ์ก่อนหน้า
- สูบบุหรี่ จะเพิ่มความเสี่ยงสูง 2 – 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับแม่ท้องที่ไม่สูบบุหรี่
- แม่ท้องเกิดอุบัติเหตุ
- มดลูกมีการขยายตัวมากเกินไป เช่น ตั้งครรภ์แฝด หรือมีเนื้องอกในมดลูก
- มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด
- แม่ท้องที่มีน้ำหนักมาก หรือ น้อยจนเกินไป
ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะน้ำคร่ำมาก, เนื้องอกมดลูก, รกเกาะต่ำ, มีประวัติเคยผ่าตัดปากมดลูก ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และตรวจพบความพิการของทารกในครรภ์
น้ำเดินต่างจากปัสสาวะเล็ดอย่างไร
ภาวะน้ำเดินจะแตกต่างกับปัสสาวะเล็ดโดยสังเกตได้จากลักษณะและกลิ่นของน้ำที่ไหลออกมาจากช่องคลอด
- หากน้ำเดินเพราะถุงน้ำคร่ำแตก จะมีน้ำไหลออกมาไม่หยุดไม่ว่าจะปริมาณมาก หรือ น้อยก็ตาม
- หากปัสสาวะเล็ดจะมีน้ำเล็ดออกมาครั้งเดียวแล้วหยุด
- หากเป็นน้ำคร่ำจากภาวะน้ำเดินจะไม่มีสี และไม่มีกลิ่น
- หากเป็นปัสสาวะ จะมีกลิ่นของปัสสาวะร่วมด้วย
ทำอย่างไรหากน้ำเดินก่อนกำหนด
โดยหากถุงน้ำคร่ำแตก โดยที่ยังไม่เจ็บท้องคลอด แม่ท้องนั้นอาจจะต้องไปพบหมอที่โรงพยาบาลโดยเร็ว และในระหว่างนี้ต้องพยายามสังเกตการดิ้นของลูกน้อยในครรภ์ เพื่อแจ้งคุณหมอ โดยแม่ท้องบางคนอาจจะเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าต้องรอให้เจ็บท้องคลอดก่อนแล้วพบคุณแม่ แต่หากช้าเกิน นั้นอาจจะทำให้เกิดอาการติดเชื้อก่อน หรืออาจทำให้สายสะดือทารกย้อยลงต่ำ จนเป็นเหตุให้เกิดทารกเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อน้ำเดินก่อนกำหนด จึงต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ห้ามรอจนกว่าจะมีอาการเจ็บท้องคลอดเด็ดขาด
การดูแลตัวเองช่วงตั้งครรภ์
ถึงแม้ว่าแม่ท้องจะมีสุขภาพ ไม่มีโรคประจำตัว แต่การพบแพทย์ในช่วงตั้งครรภ์ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพื่อปรึกษา และตรวจสุขภาพอย่างละเอียด โดยวิธีดูแลตัวในช่วงตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย
- รับประทานวิตามินโฟลิค (โฟเลต) 4-5 มิลลิกรัมต่อวัน ตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ ตลอดจนคลอด
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรค
- รับประทานให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน โดยให้อยู่ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายทุกวัน
- งดอาหารหมักดอง
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็น ยาดอง เหล้า รวมถึงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ
- งดอาหารรสจัด เช่น หวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด เผ็ดจัด
- ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่หักโหมทำงานหนักมากเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างถูกวิธีและเหมาะสม
- กินยาบำรุงตามแพทย์สั่ง ในส่วนของอาหารเสริมและยาตัวอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง
- เมื่อมีอาการผิดปกติควรปรึกษาแพทย์ทันที
- งดการสูบบุหรี่
การสังเกตตนเองของคุณแม่ในขณะตั้งครรภ์ ถือว่าสำคัญมาก ๆ ถ้ามีสิ่งผิดปกติไหลออกมาทางช่องคลอด อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงภาวะหรือความผิดปกติของการตั้งครรภ์ ยิ่งรู้ตัวเร็วมากแค่ไหนก็จะนำไปสู่การตรวจรักษาที่ทันเวลา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ตั้งครรภ์เป็นเชื้อรา มีตกขาว คนท้องใช้ยาเหน็บได้ไหม? อันตรายหรือเปล่า?
อาการคันช่องคลอด เกิดจากอะไร มีวิธีป้องกัน และรักษาอย่างไร
ท้องนี้ฝากครรภ์ ทำคลอดที่ไหนดีนะ? รวม 10 สูติ-นรีแพทย์ฝีมือดี ที่คนไข้ต่างก็ยกนิ้วให้
ที่มา : 1