แม่ท้องรู้ไว้ ท้องแบบไหนเสี่ยง มดลูกแตก

มดลูกแตก คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นตอนไหน อันตรายต่อแม่และลูกอย่างไร แล้วจะรักษาได้ไหม รวมถึงมีวิธีสังเกตอย่างไร ไขข้องข้องใจโดยคุณหมอ คลิกเลย

ท้องแบบไหนเสี่ยงมดลูกแตก

ภาวะ มดลูกแตก เป็นภาวะอันตรายเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สามารถพบได้ทั้งในสตรีตั้งครรภ์ และไม่ได้ตั้งครรภ์ ในกรณีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์มดลูกแตกมักเกิดจากแรงภายนอกมากระทำต่อมดลูกอย่างรุนแรง เช่น การทำร้ายร่างกายหรืออุบัติเหตุที่กระทำต่อช่องท้อง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เกิดจากแพทย์กระทำ เช่น ภาวะแทรกซ้อน จากการขูดมดลูก การใส่บอลลูนในโพรงมดลูก การส่องกล้องโพรงมดลูกได้ ซึ่งส่งผลให้มีการเสียเลือด มีการติดเชื้อตามมาได้

อย่างไรก็ตามที่พบได้บ่อยกว่าคือ มดลูกแตกในขณะตั้งครรภ์ และมีอันตรายมากกว่าถึงขั้นสูญเสียทารกในครรภ์ และมารดาเสียชีวิตได้ เมื่อมีการตั้งครรภ์ในมดลูกปกติ จะมีการขยายขนาดตามอายุครรภ์ จนกระทั่งช่วงเจ็บครรภ์คลอดจะมีการบีบตัวของมดลูกเป็นระยะ สม่ำเสมอ ถี่ขึ้น และแรงขึ้น เพื่อให้การคลอดดำเนินไปตามปกติ การแตกของมดลูกขณะตั้งครรภ์ เกิดได้ทั้งในการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (ระยะท้องอ่อนๆ) หรือไตรมาสที่สอง สามของการตั้งครรภ์ ระยะท้ายที่เข้าสู่ระยะเจ็บครรภ์คลอด ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงที่พบร่วมด้วย

ท้องแบบไหนเสี่ยง มดลูกแตก

เกิดจากอะไร

มดลูกแตก สามารถแบ่งสาเหตุได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. มดลูกที่มีพยาธิสภาพหรือความผิดปกติ เช่น มดลูกที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด อาจมีรูปร่างที่ผิดปกติ และขนาดเล็ก เมื่อมีการตั้งครรภ์ขึ้น แต่มดลูกไม่สามารถขยายขนาดได้มากเหมือนมดลูกปกติจึงมีการแตกของมดลูกตามมา หรือมดลูกที่เคยผ่าตัดมาก่อน อาทิเช่น ผ่าตัดเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก ผ่าตัดคลอดบุตรมาก่อน ซึ่งเมื่อมีการเย็บซ่อมแซมผนังมดลูกจะกลายเป็นแผลเป็นที่ผนังมดลูกซึ่งไม่แข็งแรงเหมือนปกติ และขาดความยืดหยุ่น เมื่อมดลูกขยายขนาดตามอายุครรภ์ จึงมีโอกาสแตกสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีการตั้งครรภ์ซึ่งอยู่ผิดที่โดยฝังตัว และตั้งครรภ์ในผนังมดลูกบริเวณแผลผ่าตัดคลอดซึ่งมีความบางตัว และทำให้มดลูกแตกตามมาได้
  2. มดลูกปกติที่ไม่มีพยาธิสภาพ แต่การตั้งครรภ์นั้นมีการยืดขยายของมดลูกมากเกินไป เช่น ภาวะทารกตัวโต ภาวะครรภ์แฝดน้ำ (น้ำคร่ำมากกว่าปกติ) ตั้งครรภ์แฝด เด็กทารกอยู่ในท่าขวาง หรือเมื่อการรอคลอดที่ยาวนานเกินไป ภาวะหัวทารกโตไม่เหมาะสมกับการคลอดทางช่องคลอด เมื่อมีการเจ็บครรภ์จะทำให้มีการบีบตัวของมดลูกอย่างต่อเนื่อง และรุนแรงจึงเพิ่มโอกาสการแตกของมดลูกได้
  3. มดลูกบีบตัวแรงผิดปกติ ซึ่งมักเกิดจากยาชนิดต่างๆ เช่น ยาทำแท้ง ยาเร่งคลอด ซึ่งหากได้รับยาเหล่านี้ในปริมาณที่มากเกินไป จะทำให้มีการบีบตัวของมดลูกตลอดเวลา และแรงผิดปกติ ส่งผลให้มดลูกแตกตามมาได้

ต้องยุติการตั้งครรภ์หรือไม่

เมื่อมดลูกแตกขณะตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นภาวะวิกฤต จะส่งผลให้มีการเสียเลือดของมารดาเข้าไปในช่องท้อง อาจมีภาวะช็อค ซีด ปวดบริเวณท้องจากมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบเฉียบพลัน ลูกไม่ดิ้นจากทารกเสียชีวิตแล้ว หากวินิจฉัยได้เร็ว ต้องรีบผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยเหลือทารกโดยด่วน พร้อมทั้งประเมินรอยแผลที่แตกของมดลูกว่า จะสามารถเย็บซ่อมแซมได้หรือไม่ หากรอยแผลใหญ่ เสียเลือดมากมาก อาจถึงขั้นต้องผ่าตัดมดลูกออกด้วย  ทั้งนี้ควรต้องเตรียมความพร้อมของทีมแพทย์ ทั้งจองเลือด และไอซียู

มดลูกแตกขณะตั้งครรภ์เป็นภาวะวิกฤติ ต้องรีบผ่าตัดเผื่อช่วยเหลือทารก และชีวิตมารดา

เกิดขึ้นตอนไหน

บ่อยครั้งมักแตกในขณะเจ็บครรภ์คลอด เนื่องจากมีการบีบตัวของมดลูกซึ่งเป็นการเพิ่มแรงดันกับตัวมดลูกโดยตรง ในบางกรณีที่ยังไม่มีการเจ็บครรภ์ก็อาจมีการแตกของมดลูกได้เช่น การตั้งครรภ์ผิดที่ที่ผนังมดลูกบริเวณแผลผ่าตัดคลอดเดิม

มดลูกแตก จะตั้งท้องได้อีกหรือไม่

ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมดลูกที่แตก และเย็บซ่อมแซมผนังมดลูกได้ดีหรือไม่ โดยทั่วไปการตั้งครรภ์ซ้ำภายหลังที่มีประวัติการแตกของมดลูกมาก่อนจะเพิ่มความเสี่ยงของการแตกซ้ำสูงขึ้น จึงไม่แนะนำให้ตั้งครรภ์อีก และให้ทางเลือกใช้แม่อุ้มบุญแทนได้

รักษาอย่างไร

รักษาด้วยการผ่าตัดฉุกเฉินเท่านั้น โดยเย็บซ่อมแซมมดลูก และหยุดเลือดออกให้เร็วที่สุด มักจะต้องผ่าตัดคลอดทารกด้วยเสมอ ควรตระหนักถึงโรคนี้ และทำการประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรค เฝ้าระวัง และติดตามอาการอย่างใกล้ชิด หากเข้าสู่ระยะคลอดควรใช้ยาเร่งคลอดอย่างระมัดระวัง ฟังเสียงหัวใจทารกอย่างสม่ำเสมอ

การรักษาภาวะมดลูกแตก คือ การผ่าตัดเพื่อช่วยหยุดเลือดที่ออก และผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยเหลือทารก

สังเกตตัวเองอย่างไร

หากสตรีตั้งครรภ์มีอาการเจ็บครรภ์มากผิดปกติ ร่วมกับปวดท้องทั่วท้องเฉียบพลัน มีอาการหน้ามืด เป็นลม ซีด จากการเสียเลือด ความดันโลหิตต่ำลง ทารกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้น ล้วนเป็นอาการที่พบได้ในโรคนี้

มดลูกแตก เป็นภาวะวิกฤตทางสูติศาสตร์  มีความรุนแรงมาก และมักจะมีผลลัพธ์ที่ไม่ดี ส่วนใหญ่จะวินิจฉัยได้ เมื่อมีอาการแสดงที่ชัดเจนแล้ว การรักษาหลักคือ การผ่าตัดเพื่อช่วยหยุดเลือดที่ออก และผ่าตัดคลอดเพื่อช่วยเหลือทารก

_________________________________________________________________________________________

theAsianparent Thailand เว็บไซต์ข้อมูลคุณภาพ และสังคมคุณแม่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเอเชีย เรามีผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์ แหล่งความรู้แม่และเด็ก รวมถึงแอพพลิเคชั่น theAsianparent Thailand ที่ติดตามการตั้งครรภ์ให้คุณแม่ได้ลงทะเบียนใช้งาน เพื่อติดตามพัฒนาการทารกตั้งแต่ตั้งครรภ์ จนถึงติดตามหลังคลอดที่ครอบคลุมที่สุด และผู้ใช้งานสูงสุดในประเทศไทย นอกจากความรู้ ยังมีไลฟ์สไตล์ และสื่อมัลติมีเดียหลากหลาย ไม่ว่าสุขภาพแม่และเด็ก โภชนาการแม่และเด็ก กิจกรรมสำหรับครอบครัว 

การวางแผนครอบครัวไปจนถึง การดูแลลูก การศึกษา และจิตวิทยาเด็ก theAsianparent Thailand เราพร้อมสนับสนุนพ่อแม่ทุกท่าน ให้มีความรู้ และมีสุขภาพกายใจเข้มแข็ง เพื่อเสริมสร้างครอบครัวอย่างแข็งแรง

เพราะเราเชื่อว่าพ่อแม่เข้มแข็ง ครอบครัวแข็งแรง

source : www.msdmanuals.com

บทความที่น่าสนใจอื่น ๆ

การทำงานของมดลูกตั้งแต่เจ็บครรภ์จนคลอด

แม่รู้ไหม!!ยอดมดลูกบ่งบอกขนาดทารกในครรภ์

ตั้งครรภ์อายุมาก เมื่อแม่อายุ 38 ปี จะมีความเสี่ยงหรือไม่