คุณหมอบอกมา 5 ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องระวัง!!

ตลอดระยะเวลาที่อุ้มท้อง คุณแม่ทุกคนก็อยากให้ลูกในท้องมีสุขภาพแข็งแรง คลอดออกมามีร่างกายที่สมบูรณ์ น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ ปลอดภัย แต่ระหว่างระยะเวลา 9 เดือนนั้นมันอาจจะปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้น มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่เกิด โรคแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ ขึ้นได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ เรื่องที่คุณแม่ตั้งท้องไม่เคยคิดอยากจะให้เกิด บางโรคอาจรุนแรงไม่มาก บางโรคก็มีความเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต!!

5 ภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องระวัง!!

รองศาสตราจารย์นายแพทย์วิทยา  ถิฐาพันธ์ ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้กล่าวถึงโรคแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยและค่อนข้างเสี่ยงต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้อง ให้คุณแม่คอยสังเกตอาการผิดปกติ ที่ควรป้องกันและรับมือ หากพบว่ามีลักษณะดังกล่าวควรไปโรงพยาบาลเพื่อพบคุณหมอทันที

#1 ภาวะท้องนอกมดลูก

การตั้งครรภ์ปกตินั้นจะตั้งครรภ์ในมดลูก แต่มีจำนวนไม่น้อยที่ไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิแล้วไปฝังอยู่ที่ท่อนำไข่ หรือบางคนไปฝังในรังไข่ บางคนก็ในช่องท้อง แต่กรณีที่พบบ่อยที่สุดคือท้องในท่อนำไข่ นำไปสู่การตั้งครรภ์นอกมดลูก ซึ่งถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติ เมื่อลูกในครรภ์โตได้ระยะหนึ่งก็อาจเสียชีวิตได้

สาเหตุที่เกิดการท้องนอกมดลูก เกิดจากคุณแม่ที่เคยมีประวัติปีกมดลูกอักเสบ หรือเคยทำแท้งบ่อย ๆ การขูดมดลูกอาจจะมีการอักเสบติดเชื้อทำให้ท่อนำไข่หรือมดลูกไม่เรียบ ไข่เดินทางไปสู่มดลูกได้ช้า การฝังตัวเกิดได้ไม่ดีจึงเกิดฝังตัวนอกมดลูก การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดการท้องนอกมดลูกได้ดีที่สุดคือ การฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อหากพบภาวะนี้สามารถให้การรักษาได้ทันท่วงที ไม่เกิดอันตรายต่อคุณแม่ เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดท่อรังไข่ หรือรังไข่ฉีกขาดได้

#2 ภาวะรกเกาะต่ำ

เมื่อเกิดภาวะรกเกาะต่ำลงมาที่ปากมดลูกเป็นเหตุทำให้ลูกในท้องเคลื่อนลงมาไม่ได้ และถ้าลูกตัวใหญ่ขึ้นรกที่เกาะอยู่แผ่นใหญ่ขึ้น พอขยายตัวอาจทำให้เกิดรอยเผยอระหว่างตัวรกกับปากมดลูกทำให้คุณแม่มีเลือดออกผิดปกติ ถ้าเลือดออกมาก ๆ อาจทำให้ทั้งแม่และลูกเสียชีวิตได้ แต่ก็มีแม่บางรายที่เกิดภาวะรกเกาะต่ำแต่ไม่เกิดปัญหาตามมาก็ได้

สาเหตุที่เกิดภาวะรกเกาะต่ำอาจเกิดขึ้นกับคุณแม่ที่เคยคลอดลูกหลาย ๆ คน หรือว่าเคยขูดมดลูกมาก่อน ในกรณีนี้หากรู้ว่าตนเองมีภาวะเสี่ยง เมื่อตั้งครรภ์ควรรีบฝากครรภ์เสียแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้าตรวจพบว่ามีรกเกาะต่ำ ควรปฏิบัติตัวไม่ให้มีการกระทบกระเทือน ไม่ควรทำงานหนัก  หรือมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเลือดออกจากรกเกาะต่ำ หากมีภาวะนี้เกิดขึ้นคุณหมอจะรอจนมีอายุครรภ์ครบกำหนด และนัดมาผ่าตัดคลอด แต่ในบางรายที่ยังไม่ทันครบกำหนดแล้วมีเลือดออกเยอะ อาจจำเป็นต้องผ่าตัดคลอดก่อนกำหนด เพื่อรักษาชีวิตแม่เอาไว้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

#3 ภาวะแท้งลูก

การแท้งลูกคือการจำเป็นต้องยุติการตั้งครรภ์หรือสิ้นสุดลงก่อนเวลาอันควร หมายถึง การตั้งครรภ์ที่ยุติก่อน 20-28 สัปดาห์ ซึ่งถ้ายุติในช่วงเวลานี้ส่วนมากลูกในท้องจะไม่สามารถมีชีวิตได้เพราะว่าตัวเล็กเกินไป สาเหตุที่เกิดการแท้งคือ การแท้งที่อาจเกิดจากไข่ที่ไม่สมบูรณ์ หรือแม่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น เบาหวาน โรคเลือดบางชนิด ก็อาจทำให้แท้งได้ บางรายก็หาสาเหตุชัด ๆ ไม่ได้ เช่น ภาวะเครียด อดนอน ทำงานหนัก อีกสาเหตุหนึ่งคือการตั้งใจทำแท้ง

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือ การตรวจสุขภาพร่างกายก่อนตั้งครรภ์ ถ้าคุณแม่มีโรคควรรักษาให้หายก่อนการตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำก่อนปล่อยให้มีการตั้งครรภ์

#4 ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด

ตามธรรมชาติรกจะเกาะที่ยอดมดลูก และรกจะหลุดจากมดลูกหลังจากคลอดตามออกมาด้วย แต่บางรายรกที่เกาะมดลูกอยู่หลุดออกมาก่อนโดยที่เด็กยังไม่คลอดออกมา เมื่อรกหลุดทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงทารกผ่านรกขาดไปทันที หากช่วยไม่ทันจะทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องได้ ซึ่งภาวะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ เช่น ถูกกระแทกที่หน้าท้อง หกล้ม กระแทกกระเทือนจากการนั่งรถ หรืออุ้มลูกที่มีน้ำหนักเยอะหรือยกของหนักระหว่างตั้งครรภ์ บางรายอาจเกิดจากการเป็นโรคความดันโลหิตสูง ก็อาจทำให้รกลอกตัวก่อนกำหนดได้เช่นกัน ในกรณีถ้าพบต้องเร่งทำคลอดทันที ดังนั้นระหว่างตั้งครรภ์ควรระมัดระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนที่บริเวณหน้าท้องอย่างยิ่ง

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

#5 ภาวะตกเลือดหลังคลอด

การคลอดปกติจะทำให้แม่เสียเลือดประมาณ 200 – 300 ซีซี. แต่แม่บางคนภายหลังจากคลอดลูก รกคลอดไปแล้ว อาจเลือดออกมากกว่าครึ่งลิตรหรือมากกว่า 500 ซีซี. ซึ่งทำให้เกิดอาการช็อกหรือเสียชีวิต ซึ่งสาเหตุที่เกิดพบได้ 3 กรณีคือ

  • มดลูกบีบตัวได้ไม่ดีทำให้มดลูกแข็งตัวได้ไม่ดี เลือดจึงออกเยอะไหลไม่หยุด มักพบในคุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมาก คลอดลูกบ่อย หรือเกิดจากการคลอดยากซึ่งอาจเป็นเพราะลูกตัวโตหรือมีท่าผิดปกติ หรือคุณแม่ที่ได้รับยาคลายกล้ามเนื้อมดลูกบางอย่างทำให้มดลูกหดรัดตัวได้ไม่ดีเช่นกัน
  • เกิดจากการฉีกขาดของช่องทางคลอด ฝีเย็บอาจจะมีการฉีกขาดทำให้เลือดออกมาก บางรายอาจเกิดมดลูกฉีกขาดหรือแตกจากการคลอดที่สาเหตุมาจากการที่ลูกตัวใหญ่มาก
  • หลังคลอดลูกออกมาแล้วแต่รกคลอดไม่หมด ยังค้างอยู่บางส่วน รกที่ค้างอยู่ทำให้มดลูกหดรัดตัวไม่ดี ทำให้เสียเลือดได้

การเสียชีวิตจากการตกเลือดหลังคลอดส่วนใหญ่พบในประเทศที่ด้อยพัฒนาเนื่องจากอาจจะมีเลือดมารักษาไม่เพียงพอ หรือยารักษาการติดเชื้อไม่ดีพอ สำหรับในประเทศไทยที่มีโอกาสที่จะเสียชีวิตจากโรคนี้ต่ำมาก อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรได้ดูแลตัวเองให้ดีและได้รับคำปรึกษาจากคุณหมอตลอดระยะเวลาการตั้งครรภ์ ก็จะทำให้คลายกังวลจากโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ เหล่านี้.

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ที่มา : www.si.mahidol.ac.th

บทความอื่นที่น่าสนใจ :

6 อาการผิดปกติของคนท้อง แค่เจออาการเดียวก็ต้องไป รพ. พบหมอทันที!

มีลูกตอนอายุมาก ตั้งครรภ์อย่างไรให้ปลอดภัย

บทความโดย

Napatsakorn .R