ภาวะกรวยไตอักเสบ อาจดูเป็นโรคที่ไกลตัว แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ อาจจะเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตของเราได้ด้วย โดยเฉพาะกับผู้หญิง ว่าแต่กรวยไตอักเสบ คืออะไร เกิดจากอะไร กลุ่มเสี่ยงเป็นใครได้บ้าง อาการ และวิธีการรักษาเป็นแบบไหน วันนี้เรามีข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากค่ะ
กรวยไต คืออะไร?
ก่อนอื่นเราต้องทำความรู้จักก่อน ว่ากรวยไตเป็นอวัยวะ ที่มีลักษณะเป็นโพรง เป็นส่วนต่อกับท่อไต ทำหน้าที่รองรับน้ำปัสสาวะที่กรองแล้ว จากเซลล์ของไต จากนั้นจึงนำส่งไปที่ท่อไต
กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) หรือ ภาวะกรวยไตอักเสบ คือ ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณกรวยไต ซึ่งอยู่ระหว่างไตกับท่อไต ผู้ป่วยกรวยไตอักเสบ จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง และเร่งด่วน เนื่องจากอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้
โดยกรวยไตอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งเชื้อที่พบบ่อยคือ E.coli โดยสาเหตุที่ทำให้กรวยไตติดเชื้อ ได้แก่ การติดเชื้อที่ส่วนอื่น ๆ ของทางเดินปัสสาวะอยู่แล้ว เช่น มีการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ เป็นโรคกระเพาปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกรวยไตอักเสบแบบเฉียบพลัน หรือกรวยไตอักเสบแบบเรื้อรังได้ ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นอาการที่พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
กลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกรวยไตอักเสบ มีใครบ้าง ?
- ผู้หญิงเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่ทางเดินปัสสาวะได้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่า และอยู่ใกล้ช่องคลอดกับทวารหนัก
- ผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันในท่อไตสูงขึ้น จนอาจเกิดกรวยไตอุดตัน และมีการติดเชื้อได้
- ผู้ที่เคยได้รับการส่องกล้อง หรือเคยรับการผ่าตัดในระบบทางเดินปัสสาวะ
- ผู้ที่กลั้นปัสสาวะบ่อย ๆ และดื่มน้ำน้อย ทำให้มีปัสสาวะคั่งค้างในกระเพาะปัสสาวะ
- ผู้ที่เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะส่วนอื่น ๆ เช่น ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ อาจเกิดการติดเชื้อลุกลามมายังกรวยไตได้
- ผู้ที่มีระบบทางเดินปัสสาวะที่ผิดปกติ เช่น ผู้ที่มีนิ่วในไต ระบบทางเดินปัสสาวะตีบ เป็นต้น
การวินิจฉัยโรคกรวยไตอักเสบ
แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ ได้จากประวัติอาการ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ การตรวจร่างกาย และจากการตรวจปัสสาวะ ซึ่งจะพบเม็ดเลือดขาวอยู่กันเดี่ยว ๆ และเกาะกันเป็นแพ (White blood cells cast) ส่วนในรายที่รุนแรง อาจมีการตรวจเชื้อ เพาะเชื้อจากปัสสาวะ และ/หรือ จากเลือด นอกจากนั้น ยังอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การถ่ายภาพไต ด้วยการเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวด์ หรือใช้วิธีการส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ อาการของผู้ป่วย และดุลยพินิจของ แพทย์ผู้ทำการรักษา
โดยมาก แพทย์มักตรวจพบไข้สูง 39-40 องศาเซลเซียส ปัสสาวะมีลักษณะขุ่น ถ้าใช้กำปั้นทุบเบา ๆ ที่สีข้างตรงที่มีอาการปวด ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บจนสะดุ้ง ส่วนหน้าท้องอาจมีอาการกดเจ็บ หรือท้องเกร็งแข็งเล็กน้อย
โรคอื่น ๆ ที่อาจแสดงอาการคล้ายโรคกรวยไตอักเสบที่พบบ่อย ได้แก่
- มาลาเรีย จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่นอย่างมาก แต่จะจับไข้เป็นเวลาแน่นอน วันละครั้ง หรือวันเว้นวัน ผู้ป่วยมักจะมีประวัติการเดินทางเข้าไปในเขตป่าเขา หรือได้รับการถ่ายเลือดมาก่อน
- ไข้หวัดใหญ่ จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามหลังและทั่วตัว เมื่อใช้กำปั้นเคาะสีข้างหรือบั้นเอวจะไม่รู้สึกเจ็บ ผู้ป่วยจะไม่มีอาการหนาวสั่น เพียงแต่รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว และมักจะมีอาการเป็นหวัด เจ็บคอร่วมด้วย
- ปอดอักเสบ (ในระยะ 24 ชั่วโมง) นอกจากจะมีไข้สูง มีเสลด เป็นหนอง หรือเจ็บหน้าอกแปล๊บเวลาหายใจแรง ๆ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นอย่างมากร่วมด้วย
- ภาวะเม็ดเลือดแดงแตก จะมีไข้สูง หนาวสั่น ซีด เหลือง อ่อนเพลีย
- ท่อน้ำดีอักเสบ จะมีไข้สูง หนาวสั่น ตาเหลือง ตัวเหลือง และมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง
วิธีป้องกัน โรคกรวยไตอักเสบ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ หรือดื่มน้ำน้อยจนเกินไป วันละ 8 – 10 แก้ว หรือบวกลบได้อีกเล็กน้อย
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน ๆ
- นั่งบนโถ จะทำให้ปัสสาวะออกมาได้ มากกว่าการยืนบนโถ หากปัสสาวะไม่สุด อาจเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อได้อีกเช่นกัน
- รักษาสุขอนามัยบริเวณอวัยวะเพศ เพื่อลดการติดเชื้อ
- ไม่เช็ดกระดาษชำระจากทวารหนัก ไปที่อวัยวะเพศ เพื่อลดการติดเชื้อ อิโคไลจากอุจจาระ
- ออกกำลังกาย เป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพิ่มภูมิต้านทานโรคให้กับตัวเอง
ภาวะแทรกซ้อนของกรวยไตอักเสบ
กรวยไตอักเสบชนิดเฉียบพลันมักไม่มีภาวะแทรกซ้อนหากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง แต่อาจนำไปสู่การเกิดกรวยไตอักเสบชนิดเรื้อรังได้ ซึ่งอาจทำให้ไตเสียหายถาวร หรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด และแม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก แต่ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที
ส่วนภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ของกรวยไตอักเสบที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง การเกิดแผลเป็นหรือฝีในไต และภาวะไตวายเฉียบพลัน
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคไตและไตเทียม โทร.1719
ที่มา :
- https://medthai.com/%E0%B8%81%E0
- https://www.bangkokpattayahospital.com/th/healthcare-services
- https://www.vichaiyut.com/th/health/diseases-treatment/other-diseases/
- https://www.sanook.com/health/5865/
- https://www.pobpad.com/%E0%B8%81%E0%B8