พัฒนาการทารก (Development of Infancy) คือ ความเปลี่ยนแปลง หรือการเจริญเติบโตเกี่ยวกับด้านต่าง ๆ ของทารก โดยเริ่มตั้งแต่แรกคลอด จนถึงช่วงที่เริ่มเดินได้ ซึ่งครอบคลุมช่วงเวลาทั้งสิ้น 12 เดือน ทารกเปลี่ยนแปลง และมี พัฒนาการด้านร่างกาย ทุกเดือน โดยพัฒนาการของทารกจะเปลี่ยนแปลง แตกต่างกันไปตามช่วงเวลาของแต่ละคน ทั้งทางด้านสัดส่วน และปฏิกิริยาการรับรู้ ทารกบางคนอาจพูดคำแรกได้เมื่ออายุ 8 เดือน ในขณะที่ทารกคนอื่นจะเริ่มพูดเมื่ออายุครบ 1 ขวบ ทั้งนี้ พัฒนาการด้านต่าง ๆ ของทารกแบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการทางร่างกาย พัฒนาการทางสติปัญญา และภาษา และพัฒนาการด้านสังคม
เด็กวัยแรกเกิด – 1 ปี เป็นวัยที่มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จากเด็กแรกเกิด ที่ยังไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องอาศัยพ่อแม่ เป็นผู้ดูแลช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด จนกระทั่งอายุ 1 ปี เด็กสามารถบอกความต้องการง่าย ๆ เดินเตาะแตะได้
ดังนั้นวัยนี้เป็นวัยที่มีความสำคัญในด้านพัฒนาการทุกด้าน ได้แก่ กล้ามเนื้อมัดใหญ่ กล้ามเนื้อ มัดเล็ก ภาษา การสื่อความหมาย และ การช่วยเหลือตนเอง ผู้ปกครองสามารถติดตามพัฒนาการของบุตรหลาน ได้จากสมุดบันทึกสุขภาพแม่ และเด็กว่าบุตรหลานของท่านมีพัฒนาการสมวัย หรือไม่
อายุและพัฒนาการตามวัย
ช่วงอายุ : แรกเกิด – 1 เดือน
พัฒนาการตามวัย
- เริ่มมองหน้า และมีการสบตา
- ตอบสนองต่อเสียงพูด ทำเสียในลำคอ
- เคลื่อนไหวแขน – ขา ทั้ง 2 ข้าง
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
- อุ้มให้หน้าลูกอยู่ในระดับเดียวกับหน้าแม่ ยิ้ม พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ
- ให้ลูกนอนหงายเพื่อให้ลูกสามารถเคลื่อนไหว แขน – ขา ได้อย่างอิสระ
- ใช้นิ้วสัมผัสฝ่ามือลูก ไม่ควรใส่ถุงมือตลอดเวลา เพื่อฝึกให้ลูกได้ใช้มือ
ช่วงอายุ : 1 เดือน – 2 เดือน
พัฒนาการตามวัย
- เริ่มยิ้มตอบ ยิ้มทัก
- ทำเสียงอือ อา สนใจฟัง และมองหาเสียง
- มองตามสิ่งที่เคลื่อนไหวได้ 180 องศา
- ชันคอในท่าคว่ำได้ 45 องศา
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
- อุ้มลูกหันหน้าเข้าหาแม่พูดคุย มองหันสบตาเอียงหน้าไป – มา ช้า ๆ เพื่อให้ลูกมองตาม
- ขณะตื่นจัดให้ลูกอยู่ในท่าคว่ำ พูดคุย ส่งเสียง และเขย่าของเล่นที่มี เสียงเหนือศีรษะ เพื่อให้ลูกสนใจเงยหน้ามอง
ช่วงอายุ : 3 เดือน – 4 เดือน
พัฒนาการตามวัย
- ทักทายคนคุ้นเคย
- หันหาเสียง หัวเราะ ส่งเสียงอ้อแอ้ตอบรับ
- เอามือมาจับกัน
- ในท่าคว่ำ ใช้ท่อนแขนยัน ชูคอได้ 90 องศา
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
- ทักทาย เรียกชื่อลูก พูดคุยเล่นสัมผัส กับลูกบ่อย ๆ
- ใช้นิ้วหัวแม่มือ ของแม่ให้ลูกจับด้วยมือทั้ง 2 ข้าง
- เขย่าของเล่นที่มีสีสันสดใส และมีเสียงให้ลูกมองตาม
- ขณะตื่น จัดให้ลูกอยู่ในท่านอนคว่ำ พูดคุย ส่งเสียง และเขย่าของเล่นที่มีเสียง เหนือศีรษะ เพื่อให้ลูกสนใจเงยหน้ามอง
ช่วงอายุ : 5 เดือน – 6 เดือน
พัฒนาการตามวัย
- แสดงอารมณ์ และท่าทาง เช่น ดีใจ ขัดใจ
- จำหน้าพ่อ แม่ ได้
- หันตามเสียงเรียกชื่อ ส่งเสียง สูง ๆ ต่ำ ๆ
- คว้ำของมือเดียว สลับมือถือของได้
- เริ่มพลิกคว่ำ พลิกหงาย คืบ
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
- ยิ้มแย้ม พูดคุยกับลูกในทิศทางต่าง ๆ ฝึกให้ลูกตอบสนองต่อเสียง
- พูดในสิ่งที่กำลังทำกับลูก เช่น อาบน้ำ, กินนม
- หาของเล่นสีสันสดใสให้ลูกคว้าเล่น
- จัดที่ปลอดภัยให้ลูกได้พลิกค่ำ พลิกหงาย และคืบอย่างอิสระ โดยพ่อแม่ ใช้เสียง หรือ ของเล่นสีสดใส เพื่อกระตุ้นความสนใจ
ช่วงอายุ : 7 เดือน – 8 เดือน
พัฒนาการตามวัย
- กลัวคนแปลกหน้า รู้สึกผูกพัน ติดคนเลี้ยงดู
- ชูมือให้อุ้ม
- ทำเสียงพยางค์เดียว เช่น จ๊ะ ป๊ะ หม่ำ
- หันหาเสียงเรียกได้ถูกต้อง
- มองตามของที่ตก
- ถือของมือละชิ้น
- นั่งทรงตัวได้เองโดยไม่ต้องใช้มือยันพื้น
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
- อุ้มลูกไว้ให้รู้สึกอุ่นใจ ขณะพบปะกับคนอื่น และให้เวลาลูกทำความคุ้นเคย
- บอก หรือทำท่าจะอุ้มให้ลูกรู้ทุกครั้ง
- พูดถึงสิ่งที่กำลังทำกับลูก หรือสิ่งที่ลูกกำลังสนใจ เช่น หม่ำ ๆ ขณะพูดคุยกับลูกต้องเรียกชื่อลูกทุกครั้ง
- อ่านหนังสือกับลูก ชี้ภาพประกอบ
- อุ้มลูกในท่านั่ง ถือของเล่นหรือผ้าที่มีสีสันสดใส ปล่อยของเล่นให้ตกลง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ลูกมองตามของที่ตก
- เปิดโอกาสให้ลูกหยิบของเล่นขนาดพอดีมือ
- อุ้มลูกให้น้อยลง ปล่อยให้ลูกนั่งเล่นของเล่น โดยมีพ่อ – แม่ คอยเล่นด้วย
- ฝึกให้นั่งได้อย่างมั่นคง ฝึกให้ลูกเอี้ยวตัว เพื่อคว้าของจากหลายทิศทาง
ช่วงอายุ : 9 เดือน – 10 เดือน
พัฒนาการตามวัย
- เล่นจ๊ะเอ๋ ปรบมือ มองหาของที่ซ่อนอยู่
- หยิบอาหารกินเองด้วยมือ
- ใช้ท่าทาง หรือบอกความต้องการ
- ฟังรู้ภาษา เข้าใจสีหน้าท่าทาง และตอบสนอง
- ส่งเสียงหลายพยางค์ เช่น หม่ำ ๆ จ๊ะจ๋า
- ใช้นิ้วชี้ และนิ้วหัวแม่มือหยิบของ
- คลาน เกาะยืน และเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืน จากท่านั่ง
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
- เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง ทำท่าทางต่าง ๆ และเล่นปรบมือกับลูกบ่อย ๆ
- ฝึกให้ลูกใช้นิ้วหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ที่อ่อนนุ่มเข้าปากเอง เช่น ข้าวสุก ฟักทองต้ม
- สอนให้ลูกแสดงท่าทาง เช่น ชี้มือ เวลาอยากได้สิ่งของ
- พูดคุย โต้ตอบกับลูกด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวล
- จัดพื้นที่ให้ลูกคลาน และเกาะยืนอย่างปลอดภัย
- กระตุ้นให้ลูกยืนจากท่านั่ง โดยวางของเล่นที่ลูกสนใจบนเก้าอี้ เพื่อกระตุ้นให้ลูกรู้จักการเหนี่ยวตัวลุกขึ้นยืนเพื่อหยิบของ
ช่วงอายุ : 11 เดือน – 12 เดือน
พัฒนาการตามวัย
- เลียนแบบท่าทางต่าง ๆ เช่น ไหว้ โบกมือลา หอมแก้ม โยกตัวตามจังหวะเพลง
- ดื่มน้ำจากถ้วยโดยต้องช่วยเหลือ
- พูดได้ 1 คำ อย่างมีความหมาย เข้าใจเสียงห้าม และหยุดทำ
- ถือสิ่งของที่มีขนาดพอดีมือ แล้วนำมาเคาะกัน
- ยืนเองได้ชั่วครู่ หรือตั้งไข่
วิธีการส่งเสริมพัฒนาการ
- เป็นตัวอย่างสอนให้ลูกเลียนแบบท่าทางต่าง ๆ เช่น ไหว้ โบกมือ และชมเชย เมื่อลูกทำสิ่งนั้น ๆ ได้
- สิ่งของ หรือพฤติกรรมใด ที่ลูกไม่ควรทำ ควรห้ามทุกครั้ง
- ให้ลูกถือของมือละชิ้น แล้วนำมาเคาะกัน โดยแม่ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง
- จัดสถานที่ปลอดภัยเพื่อให้หัดยืด โดยพ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด และคอยให้กำลังใจ
การส่งเสริมพัฒนาการเด็ก จำเป็นจะต้องทำด้วยความรัก และความเอาใจใส่ และทำอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ควรดูแลเรื่องความปลอดภัยด้วยเช่นกัน
ที่มา : คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การจัดห้องนอนให้ลูกน้อย หลับสนิท หลับสบาย และเสริมสร้างพัฒนาการ
รีวิว ของเล่น6-12เดือน เสริมสร้างพัฒนาการสำหรับลูกน้อย