ฝุ่นละออง pm 2.5 เป็นสารพิษในชั้นบรรยากาศที่มีขนาดเล็ก มองไม่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หากร่างกายได้รับฝุ่นชนิดนี้ ก็จะเข้าไปในหลอดลม ทำให้เกิดการอักเสบบริเวณหลอดลมและถุงลม ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจได้ วันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่มาดูวิธีป้องกันฝุ่นในเด็ก และวิธีสังเกตอาการป่วยจากฝุ่นของลูก เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ฝุ่น pm.2.5 ค่ะ
กรมควบคุมมลพิษ เตือน ฝุ่นละออง pm 2.5 สูงเกินค่ามาตรฐาน
นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษตร อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าฤดูฝุ่น PM 2.5 อย่างเป็นทางการแล้ว โดยสถานการณ์ของฝุ่นจะทวีความรุนแรงตั้งแต่วันนี้ลากยาวไปจนถึงเดือนมีนาคม โดยคาดว่าปัญหาฝุ่นจะรุนแรงที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ สำหรับสถานการณ์ฝุ่นละออง pm 2.5 จะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในวันที่ 5-12 มกราคม 2567 นี้ ด้วยพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีอัตราการระบายอากาศต่ำมาก และฝุ่นจะเยอะขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากช่วงวันดังกล่าวมีลมแรง ก็อาจส่งผลกระทบ ให้ลมพัดพาฝุ่นไปยังภาคตะวันตกของประเทศด้วย ทั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รับช่วงต่อการรับมือกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 แล้ว โดยเบื้องต้นได้ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกร เพื่อแจ้งว่าไม่ให้มีการเผาผลิตผลทางการเกษตร เพื่อไม่ให้ฝุ่นรุนแรงไปกว่านี้
ทั้งนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แจ้งขอความร่วมมือกับทุกหน่วยทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลสุขภาพและป้องกันตัวเองจากฝุ่น อาทิเช่น การสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น รวมถึงลดการเผาไหม้
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 กับอันตรายต่อสุขภาพ
ช่วงนี้หมอได้ตรวจผู้ป่วยที่อยู่ใจกลางเมือง มาด้วยอาการป่วยของระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก แสบจมูก มีน้ำมูก ไอ จาม แสบตา คันตา บ่อยขึ้นกว่าปกติ อันน่าจะมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับปัญหามลพิษ ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน จนเห็นเป็นกลุ่มควันปกคลุมทั่วท้องฟ้าอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ ควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อจะได้ดูแลตนเองและปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัยค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์เตือน! ฝุ่นพิษ PM 2.5 อันตรายต่อเด็กเล็ก เลี่ยงพาลูกออกจากบ้าน
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร
PM ย่อมาจาก Particulate Matters เป็นคำเรียกค่ามาตรฐานของฝุ่นขนาดเล็กที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของทาง United state Environmental Protection Agency ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดตามขนาดของฝุ่นเป็นหน่วยไมครอน ได้แก่ PM 10 และ PM 2.5 โดยฝุ่น PM2.5 จะมีขนาดเล็กเพียงแค่ 1 ใน 25 ของขนาดเส้นผม และมีน้ำหนักเบามาก
ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากอะไร
แหล่งกำเนิดของฝุ่นขนาดเล็กนี้ ได้แก่ ควันเสียจากการเผาไหม้ของรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซลที่การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ควันไฟจากการเผาไร่นาและสิ่งปฏิกูลของภาคการเกษตร และจากโรงงานอุตสาหกรรม
อันตรายจากค่าฝุ่นละออง PM 2.5 คืออะไร
เนื่องจากฝุ่นชนิดนี้มีขนาดเล็กมาก จึงสามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายดังนี้
1. ระบบทางเดินหายใจ
เนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดเล็กมากจึงสามารถลงไปได้ถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยหากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานาน จะสะสมในปอด ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลง ทำให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบเหนื่อยได้ หากเป็นผู้ที่มีโรคเรื้อรังในระบบการหายใจ เช่น โรคหืด ถุงลมโป่งพอง หรือจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ก็อาจจะเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ หากสูดหายใจเข้าไปต่อเนื่องในระยะยาวจะส่งผลให้การทำงานของปอดแย่ลง จนอาจเกิดโรคถุงลมโป่งพองได้ และอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอดอีกด้วย
2. ระบบอื่น ๆ ของร่างกาย
เมื่อได้รับ PM 2.5 เข้าสู่ร่างกายแล้ว บางส่วนของฝุ่นชนิดนี้อาจผ่านผนังถุงลมและเส้นเลือดฝอยเข้าสู่กระแสเลือด จึงสามารถกระจายตัวแทรกซึมไปทั่วร่างกายของเราได้ และอาจทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดเกิดอาการกำเริบขึ้นได้ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
บทความที่เกี่ยวข้อง : แพทย์เตือน! คนท้องสูดดมฝุ่น PM 2.5 มาก ๆ ระวังทำร้ายลูกในครรภ์
คนกลุ่มใดที่ควรหลีกเลี่ยง PM 2.5 อย่างเคร่งครัด
กลุ่มผู้มีความเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยง PM 2.5 อย่างเคร่งครัดได้แก่ ผู้ที่มีโรคประจำตัวในระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด โรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก
โดยเด็กจะมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่าผู้ใหญ่ มีระบบทางเดินหายใจที่ยังพัฒนาและเติบโตไม่เต็มที่ อีกทั้งยังมีน้ำหนักตัวที่น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้ได้รับมลพิษ PM 2.5 ในอัตราส่วนต่อน้ำหนักตัวค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่
วิธีป้องกันฝุ่นละอองในอากาศ
เราจะป้องกันตนเองในช่วงที่ PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานได้อย่างไร
ในบริเวณที่มีค่า PM 2.5 ในอากาศสูงเกินค่าเฉลี่ยปกติใน 24 ชั่วโมงของกรมควบคุมมลพิษ คือ มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะมีคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หากค่ามากกว่า 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะถือว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพ
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินหายใจระบบทางเดินหายใจหรือระบบหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน
- ควรอยู่ในอาคารที่ปิดประตูหน้าต่างและมีเครื่องกรองอากาศ หรือเครื่องปรับอากาศอยู่
- ไม่ควรออกกำลังกายกลางแจ้ง หากจำเป็นต้องเดินทางก็อาจใส่หน้ากากชนิด N95 ชนิดที่สามารถดักจับอนุภาค PM 2.5 ได้ โดยต้องสวมให้ถูกต้องอย่างกระชับกับรูปหน้าค่ะ
ทั้งนี้ สามารถติดตามค่า PM 2.5 และดัชนีคุณภาพอากาศในแต่ละพื้นที่ได้ที่เว็บไซต์ของกรมควบคุมมลพิษ https://air4thai.pcd.go.th
เราทุกคนสามารถช่วยกันลดปริมาณ PM 2.5 ได้โดยลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว หากเดินทางไปในที่เดียวกันก็อาจใช้ยานพาหนะร่วมกันให้มากขึ้น และใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะค่ะ
วิธีสังเกตอาการลูกป่วยจากฝุ่น
หากลูกมีอาการเหล่านี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจหาสาเหตุและแก้ไข หากรู้สึกว่าอาการภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจที่เคยเป็นอยู่กำเริบขึ้นมาก็สามารถใช้ยาที่มีอยู่รักษาอาการในเบื้องต้นก่อนได้ หากไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบคุณหมอโดยเร็วค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ว่าด้วยเรื่อง ลูกเป็นภูมิแพ้ กับ ฝุ่น PM2.5 อันตรายใกล้ตัว ที่พ่อแม่ต้องระวัง
10 หน้ากากอนามัย N95 ยี่ห้อไหนดี ได้มาตรฐาน ป้องกันละอองฝุ่น PM 2.5
รู้หรือไม่? มลพิษทางอากาศ และ ฝุ่น PM 2.5 เข้าปอดลูกได้แม้อยู่ในครรภ์แม่
ที่มา : springnews.co.th