ฝีเต้านม เรื่องหนักใจ ของคุณแม่ให้นม
ฝีเต้านม เป็นภาวะแทรกซ้อนของเต้านมอักเสบ เกิดขึ้นได้ในช่วงสัปดาห์ที่ 2 – 3 หลังคลอด เกิดจากท่อน้ำนมอุดตัน หรือนมคัดตึงแล้วไม่ได้รับการระบาย จนน้ำนมคั่งค้างอยู่ในเต้านมเป็นเวลานาน เมื่อเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่เต้านมทางหัวนมและลานนมที่แตกจึงเกิดการอักเสบติดเชื้อ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยได้แก่ สแตฟีโลค็อกคัส ออเรียส และจะกลายเป็นฝีหนองตามมา หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้น จึงควรรีบไปพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจรักษาทันทีที่เริ่มมีอาการเต้านมอักเสบหรือมีฝีที่เต้านม
ฝีเต้านม มีอาการอย่างไร
- เต้านมบวมแดง ร้อน และมีอาการเจ็บที่เต้านม
- คลำเจอก้อน กดแล้วเจ็บมากบริเวณก้อน
- มีอาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว
- ต่อมน้ำเหลืองใต้รักแร้ข้างเดียวกับเต้านมที่เป็นฝีจะโตและเจ็บร่วมด้วย หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้ฝีแตกและมีหนองไหลออกมาได้
ต้องหยุดให้นมลูกไหมถ้าเป็นฝีเต้านม
สำหรับคุณแม่ที่มีอาการฝีเต้านม สามารถให้นมลูกโดยให้ลูกดูดนมข้างที่ไม่อักเสบ ส่วนข้างที่เป็นฝีเต้านมให้ใช้นิ้วรีดเบาๆ หรือปั๊มน้ำนมออกเพื่อช่วยระบายน้ำนมออกไปจากต่อมน้ำนม เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมคัด และช่วยให้หายจากอาการอักเสบได้เร็วขึ้น
การดูแลตัวเองจากอาการฝีเต้านม
หากคุณเริ่มมีอาการเต้านมอักเสบหรือมีฝีที่เต้านมควรรีบไปพบแพทย์ทันทีครับ และหลังจากที่ไปพบแพทย์แล้ว ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีง่ายๆดังนี้
- ประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำอุ่นจัดประมาณ 3 – 5 นาที ก่อนให้ลูกดูดนม หรือก่อนทำการปั๊มนม เพื่อลดอาการปวดและช่วยให้น้ำนมไหลดีขึ้น
- ประคบเต้านมด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หลังจากที่ลูกดูดนมหรือหลังปั๊มนม เพื่อบรรเทาอาการปวดและบวมของเต้านม
นอกจากนี้ คุณแม่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน และไม่เครียดจนเกินไปนะครับ
ที่มา breastfeeding-problems.com, bumrungrad.com
บทความอื่นๆที่น่าสนใจ
เคล็ดลับการให้นมลูกตอนกลางคืน ช่วยลูกหลับต่อสบาย
สุดยอดอาหารเพิ่มน้ำนม ทั้งปริมาณและคุณภาพ แถมช่วยลูกสมองดี