ป้อนยาลูก ยังไงไม่ดราม่า?
คุณแม่ท่านหนึ่ง ได้แชร์เคล็ดลับ ป้อนยาลูก หรือ วิธีป้อนยาทารก ให้ลูกกินยาด้วยวิธีง่าย ๆ ลูกไม่งอแง
หัวอกพ่อแม่เห็นลูกร้องกระจองอแง ก็ได้แต่ภาวนาขอเจ็บป่วยแทนลูก แต่ที่ทรมานยิ่งกว่า คือการให้ลูกกินยา โดยเฉพาะลูกในวัยทารก ที่ป้อนยาได้ยากเย็น ลูกเอาแต่ดิ้นไปมาไม่ยอมกินยาได้ง่าย ๆ และประสบการณ์ที่แม่มักจะเจอ เมื่อต้องป้อนยาลูกคือ
- ทารกน้อยไม่ยอมเปิดปาก เผยอปากเพียงเล็กน้อย แม่ป้อนยาไม่ได้เลยลูก
- ลูกน้อยร้องไห้งอแง ตั้งแต่เห็นยา แล้วเมื่อไหร่จะหายล่ะเนี่ย
- เจ้าตัวดีดีดดิ้นไปมา ส่ายหน้าหนีตลอด ป้อนยาไม่ได้ แถมร้องไห้โวยวายไปด้วย
- ลูกบ้วนยาทิ้ง หรือกระทั่งอ้วกยาออกมา
บางทีแม่ก็อยากจะถอดใจ เพราะลูกไม่ยอมกินยาเอาเสียจริง ๆ
ปัญหานี้จะหมดไป! เพราะคุณแม่ชาวอังกฤษ Helena Lee มีเคล็ดลับดี ๆ เกี่ยวกับการป้อนยาลูกน้อยน้อง Alfie มาบอกกัน
3 สเต็ปป้อนยาลูกด้วยจุกนม
1.ใส่ไซริงค์ยาทารกในจุกนมอันโปรด ซึ่งเจ้าตัวน้อยติด ชอบดูดจุกนี้
2.ใส่ยาในปริมาณที่พอดี ที่ทารกจะต้องกินในแต่ละครั้ง
3.ดูลูกดูดจุกจู๊บ ๆ ไปเรื่อย ๆ อย่างแม่ผู้ชนะ วะฮ่าฮ่า
ที่มา : https://sg.theasianparent.com/giving-medicine-to-babies
อย่างไรก็ตาม วิธีป้อนยาทารกด้วยไซริงค์ใส่จุกนมนี้ จะเหมาะกับทารกที่ติดขวด ดูดจุกนมเป็นกิจวัตร แต่ถ้าคุณแม่ชอบจับลูกเข้าเต้าล่ะก็ เราก็มีวิธีป้อนยาทารก มาฝากเช่นกันค่ะ
อ่านวิธีป้อนยาทารก หน้าถัดไป
วิธีป้อนยาทารก
ศ.นพ.เทพ หิมะทองคำ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ แนะนำวิธีการป้อนยาเด็กอย่างถูกต้อง สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูก ซึ่งกินยายาก ดังนี้
วิธีป้อนยาเด็กแรกเกิดถึง 1 เดือน
คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีใส่ยาลงในจุกนมยางที่ลูกใช้ดูดนมหรือน้ำเป็นประจำ โดยถอดจุกออกจากขวด แล้วใส่ยาในปริมาณที่ต้องการลงไป แล้วนำจุกนมไปใส่เข้าในปากลูก ในเด็กเล็ก ๆ เวลามีอะไรอยู่ในปากเขาจะดูดเสมอ ลูกก็จะดูดยา และกลืนยาเข้าไป แต่เมื่อยาหมดแล้วต้องรีบเอาจุกนมออกจากปากลูก มิฉะนั้นลูกอาจจะดูดลมเข้าไปในกระเพาะมาก ทำให้อึดอัดและแหวะนมได้
วิธีป้อนยาเด็กอายุตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป
- ใช้หลอดฉีดยาพลาสติกที่ไม่มีเข็ม ซึ่งมีหลายขนาด ให้ถูกกับปริมาณยาที่จะป้อน หลอดฉีดยาพลาสติกนี้จะมีขนาดตั้งแต่ 1 ซีซี 2.5 ซีซี และ 10 ซีซี หรืออาจใช้หลอดหยดยาก็ได้ ซึ่งหลอดหยดยาหรือดรอฟเปอร์นี้ มักเป็นขนาด 1 ซีซี เท่านั้น ถ้าต้องกินยา 5 ซีซี (1 ช้อนชา) ก็ต้องดูดมาป้อน รวม 5 ครั้ง
- เมื่อดูดยาเข้าหลอดเรียบร้อยแล้ว ให้จับลูกนอน คุยกับลูก อาจให้คุณพ่อถือของเล่นอยู่ข้าง ๆ แล้วค่อย ๆ ใช้หลอดดูดยาค่อย ๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มเด็ก แต่ถ้าหากเด็กปฏิเสธและต่อต้านมาก อาจต้องขอให้คุณพ่อช่วยกันจับมือและเท้าของเด็กไว้ไม่ให้ดิ้น แล้วจึงค่อย ๆ ฉีดยาเข้าข้างกระพุ้งแก้มก็จะสามารถป้อนยาได้สำเร็จ และหากระหว่างการป้อนยามียาหก (ซึ่งอาจจะทำให้เด็กได้ยาไม่ครบ) ก็ไม่ต้องให้ยาซ้ำ เนื่องจากเราไม่ทราบว่ายาที่หกไปมีปริมาณเท่าใดกันแน่
- อย่าตั้งหน้าตั้งตาป้อนยาให้เสร็จอย่างรวดเร็วในเด็กเล็ก ๆ คงทำได้ยาก เพราะเด็กวัยนี้จะห่วงเล่น ถ้าเรายอมให้ลูกเล่นไปด้วย ป้อนยาไปด้วย เด็กจะยอมรับยาได้มากขึ้น
- ท่าทีของคนป้อนยาสำคัญมาก ต้องอดทนค่อย ๆ ป้อน ถ้ามีการขู่บังคับเด็กจะขัดขืนมาก จะทำให้ป้อนไม่ได้ หรืออาจจะสำลักยาเข้าปอดหรืออาเจียนได้
- หลอดฉีดยาแบบพลาสติกนี้ เมื่อใช้ไปนาน ๆ ตัวเลขอาจจะเลือนไปได้ ถ้าคุณแม่มองตัวเลขไม่ชัด ควรเปลี่ยนอันใหม่ดีกว่า มิฉะนั้นอาจจะให้ปริมาณยาแก่ลูกผิดได้
วิธีป้อนยาเด็กเล็ก (1 – 6 ปี)
เด็กโตบางครั้งจำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะชนิดแคปซูล เพราะถ้ากินยาชนิดน้ำนั้น จะต้องกินปริมาณมาก ถ้าลูกยังกลืนยาไม่ได้ มีวิธีการป้อนยา คือ
- คุณแม่สามารถแกะปลอกแคปซูลออก แล้วนำผงข้างในมาให้ลูกกิน แต่เนื่องจากยาผงมักจะมีรสขม คุณแม่สามารถเติมน้ำหวานเข้มข้นลงไปเล็กน้อย แล้วให้ลูกกินแล้วดื่มน้ำตาม ลูกก็จะกินยาได้
- การหัดให้เด็กเล็ก ๆ รับประทานยาเม็ดหรือยาแคปซูล ควรเริ่มด้วยยาเม็ดเล็ก ๆ ยาเม็ดหรือยาแคปซูลบางชนิดไม่สามารถแบ่งได้ ให้ปรึกษาเภสัชกรก่อน หากเป็นยาเม็ดที่แบ่งได้ให้หักเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยๆ ให้ลูกกลืนทีละชิ้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือท่าทีทีนุ่มนวลของผู้ป้อนยา การพูดคุยอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงผลดีของการรับประทานยา อย่าเร่งเร้าเพื่อจะป้อนยาให้เสร็จอย่างรวดเร็ว ต้องอดทนค่อย ๆ ป้อน คุยเล่นกันไปพร้อม ๆ การป้อนยา
อุปกรณ์ป้อนยาเด็ก
หากเด็กเล็กกว่า 1 ขวบหรือในเด็กที่กินยายาก การใช้หลอดดูดยา (syringe) แทนช้อนจะทำให้การป้อนยาทำได้สะดวกขึ้น โดยที่หลอดดูดยาจะมีตัวเลขบอกปริมาตรเป็นซีซีแสดงอยู่ ซึ่งหากว่าเด็กต้องกินยา 1 ช้อนชา ก็จะเท่ากับ 5 ซีซี และขอย้ำว่า “ช้อนชา” ในที่นี้ไม่ใช่ช้อนที่ใช้ในการชงชาตามบ้าน แต่เป็นช้อนที่แถมมาพร้อมกับขวดยา สำหรับในเด็กโตอาจต้องใช้ “ช้อนโต๊ะ” ซึ่งก็ไม่ใช่ช้อนที่ใช้บนโต๊ะอาหารตามบ้านเช่นกัน แต่ 1 ช้อนโต๊ะจะเท่ากับ 3 ช้อนชา ดังนั้น หากบนฉลากเขียนไว้ว่า ป้อนยาครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ก็ควรใช้ช้อนโต๊ะที่แถมมาพร้อมกับขวดยาเท่านั้น หรือใช้ช้อนชาป้อน 3 ช้อนก็ได้
อ่านเพิ่มเติม ป้อนยาเด็ก 3 ช่วงวัย อย่างไรให้ถูกวิธี
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกไม่ยอมกินนมแม่ หรือ Nursing strike จู่ๆ ลูกเบือนหน้าหนีไม่ยอมเข้าเต้าเพราะ?
แม่ป่วยก็ให้นมลูกได้ กินยารักษาได้ไม่ลงในนมแม่
อาเจียน ท้องเสีย เสี่ยงติดเชื้อโนโรไวรัส ที่กำลังระบาดหนัก
ลูกโดนหอม เห่ออุ้ม จนติดเชื้อ RSV เชื้อร้ายที่เบบี๋ต้องระวังและแม่ห้ามมองข้าม