คุณแม่หลายท่านที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ในช่วงของไตรมาสที่ 2 บางท่านอาจกำลังประสบปัญหา หรือมีความกังวลว่า เรามีอาการ ปากมดลูก หลวม หรือเปล่า? อาการปากมดลูกหลวมเป็นอย่างไร อันตรายไหม ในวันนี้ เราจะพาคุณแม่ไปทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลยค่ะ!
อาการของภาวะ ปากมดลูก หลวม
ในตลอดระยะเวลา 9 เดือน ที่คุณแม่ต้องอุ้มท้อง แม้ว่าบางครั้ง คุณแม่ก็อาจรู้สึกเหมือน เป็นเวลานานเป็นปี ๆ หากต้องประสบกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งล้วนไม่มีใครอยากเจอ แต่ปัญหาบางอย่าง ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในนั้นคือ ภาวะ ปากมดลูก หลวมนั่นเองค่ะ คุณแม่หลายคนอาจจะสงสัย ว่าอาการนี้เป็นอย่างไร เรามาลองศึกษาไปพร้อมกันเลย!
ภาวะปากมดลูกหลวม เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อปากมดลูกอ่อนแรง และมีผลทำให้ปากมดลูกเปิด โดยอาการนี้ สามารถเกิดขึ้นได้กับหญิงตั้งครรภ์ แต่ไม่ต้องกังวลมากจนเกินไปนะคะ เพราะว่าอาการเหล่านี้พบได้ไม่บ่อยนักเท่าไร แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือ ภาวะนี้อาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ จนมีผลทำให้สามารถเกิดอาการแท้งบุตร หรือ คลอดก่อนกำหนดได้
โดยคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะดังกล่าว จะไม่มีอาการใด ๆ บ่งชี้อย่างชัดเจน อาการบางอย่างอาจคล้ายกับอาการของคนท้องทั่วไป เช่น อาการปวดหลัง หรือมีของเหลวหลั่งออกมาจากช่องคลอด แต่ลักษณะ สัญญาณต่อไปนี้ที่เราจะมาพูดถึงกัน สามารถเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ว่า ปากมดลูกของคุณแม่อาจจะมีปัญหาหรือเปล่า ซึ่งควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์ทันที นั่นก็คือ
- รู้สึกได้ถึงแรงกดช่วงเชิงกราน ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บ หรือแค่มีความรู้สึกแค่เหมือนถูกกดทับก็ตาม
- รู้สึกผิดปกติ ที่บริเวณช่องคลอด เจ็บ อึดอัด แน่นท้อง หรืออาการต่าง ๆ
- มีการหลั่งของเหลวผิดปกติจากช่องคลอด อันนี้อาจจะสังเกตได้ยาก แต่แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์ทุกครั้งที่มีการเข้าพบแพทย์นะคะ เพราะว่าถ้าหากมีความผิดปกติ จะได้รักษาได้ทันท่วงทีค่ะ
- มีรอยผิดปกติ ไม่ใช่รอยที่เห็นทั่วไป หรือรู้สึกผิดสังเกต ลองสำรวจตัวเองดูนะคะ
- ตะคริวในช่องท้อง ปวดท้องมาก เป็นตะคริว
หากคุณแม่มีอาการเหล่านี้ คุณแม่ควรไปพบแพทย์ทันทีนะคะ เพื่อที่จะสามารถแก้ปัญหาที่พบ ได้อย่างทันท่วงที
บทความที่เกี่ยวข้อง : มดลูกบีบตัวบ่อย คืออาการเจ็บท้องคลอดหรือไม่ เป็นอันตรายต่อทารกไหม
สาเหตุของภาวะปากมดลูกหลวม
ต้องเกริ่นก่อนว่า ปากมดลูก นั่นก็คือ เนื้อเยื่อรูปโดนัท ที่อยู่ปลายด้านล่างของมดลูก โดยในระหว่างตั้งครรภ์ ปากมดลูกจะปิด และจะเริ่มขยายออก เมื่อใกล้เวลาคลอด ถ้าปากมดลูกเปิดก่อนกำหนด ก็อาจทำให้เด็กคลอดก่อนกำหนด หรือถึงขั้นแท้งบุตรได้ แม้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของภาวะปากมดลูกหลวม จะไม่แน่ชัด แต่ก็มีปัจจัยบางอย่าง ที่อาจเพิ่มความเสี่ยง ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่
- ปากมดลูกผิดปกติ จากการรักษา หรือการคลอดลูกครั้งก่อนหน้า
- ความผิดปกติของมดลูกแต่กำเนิด จำเป็นต้องเข้ารับการตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ
- ขั้นตอนการขูดมดลูก โดยหลังการแท้งบุตร อาจทำให้เกิดความผิดปกติต่อปากมดลูกได้
วิธีป้องกัน ดูแลตัวเอง จากภาวะ ปากมดลูก หลวม
หากคุณแม่มีความเสี่ยง ที่จะประสบกับภาวะดังกล่าว เช่น เคยแท้งบุตร คุณแม่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะภาวะดังกล่าว อาจไม่มีอาการบ่งชี้ในระยะแรก แต่เมื่อตรวจพบ ก็อาจสามารถดำเนินการ เพื่อป้องกันการสูญเสียได้ล่วงหน้า
โดยวิธีการป้องกัน ที่จะช่วยไม่ให้ผู้หญิงที่มีภาวะปากมดลูกหลวมแท้งบุตร นั่นก็คือ การเย็บปากมดลูก ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด แต่สามารถทำได้เฉพาะในกรณีที่ปากมดลูกเปิดไม่เกิน 4 เซนติเมตรเท่านั้น ในกรณีที่ไม่สามารถเย็บปากมดลูกได้ คนไข้จำเป็นต้องนอนพักถาวร ซึ่งเป็นท่า ที่จะช่วยลดแรงกดบนปากมดลูกได้มากที่สุด การออกกำลังเพื่อบริหารกล้ามเนื้อเชิงกรานเป็นประจำในช่วงตั้งครรภ์ ก็เป็นอีกวิธี ก็จะสามารถช่วยป้องกันภาวะดังกล่าวได้เช่นกันค่ะ
นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ตามคำแนะนำของแพทย์ เพราะน้ำเชื้อนั้น มีสารพรอสตาแกลนดิน ซึ่งจะทำให้เนื้อเยื่อปากมดลูกอ่อนลงอีก แพทย์อาจเลือกใช้อุปกรณ์เหน็บช่องคลอด เพื่อช่วยลดแรงกดที่ปากมดลูก แนะนำให้คุณแม่ลองปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม ว่าคุณแม่จะสามารถใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ได้หรือไม่
การรักษาภาวะปากมดลูกหลวม
ในด้านของการรักษาภาวะปากมดลูกหลวมนั้น มีทั้งวิธีการรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด และการรักษาด้วยการผ่าตัด โดยมีความแตกต่าง ดังนี้ค่ะ
-
การรักษาด้วยการไม่ผ่าตัด
การรักษาด้วยวิธีนี้ จะเป็นการจำกัดการทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงเพศสัมพันธ์ เพื่อเน้นให้ร่างกายได้รับพลังงานจากการนอนพักเป็นหลัก แต่ในการรักษาวิธีนี้ ยังไม่มีผลลัพธ์ที่ดีและชัดเจนมากพอ สำหรับการรักษาภาวะปากมดลูกหลวม
-
การรักษาด้วยการผ่าตัดเย็บผูกปากมดลูกผ่านทางช่องท้อง
การรักษาด้วยการผ่าตัดเย็บผูกปากมดลูกผ่านทางช่องท้อง (Transabdominal cervicoisthmic cerclage) เป็นอีกหนึ่งวิธีการรักษาที่ใช้กันอย่างสากล และได้รับการรับรองว่าสามารถรักษาได้จริง ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้ เป็นเทคนิคในการเย็บผูกปากมดลูก ผ่านทางการผ่าเปิดหน้าท้องหรือการส่องกล้อง ตามพิจารณาของแพทย์ แต่ในวิธีนี้ จะมีข้อจำกัดอยู่บางข้อ สำหรับบางท่านที่ไม่สามารถทำการเย็บผูกปากมดลูกได้ เช่น ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน หรือเคยล้มเหลวจากการผ่าตัดเย็บผูกปากมดลูกมาแล้วนั่นเอง โดยการผ่าตัดนี้ ส่วนใหญ่จะรักษาในช่วงอายุครรภ์ 10-14 สัปดาห์ หรือทำในขณะที่ยังไม่เริ่มตั้งครรภ์ก็ได้ วิธีนี้จะสามารถรักษาอาการปากมดลูกหลวมได้ค่ะ
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าภาวะปากมดลูกหลวมอาจฟังดูน่ากลัว แต่ก็สามารถรักษาได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวยังควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนัก และควรพักผ่อนให้เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีวิธีการในการรักษาหลายด้าน ทั้งรูปแบบการผ่าตัด และไม่ผ่าตัด การรักษาอาการปากมดลูกหลวมนั้น จะช่วยป้องกันไม่ให้คุณแม่เกิดภาวะการคลอดก่อนกำหนด ที่อาจส่งผลอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยได้นั่นเองค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
7 อาการคนท้อง ตั้งครรภ์ไตรมาสสอง ต้องระวัง อาการแบบไหนเสี่ยงครรภ์เป็นพิษ
วิธีสังเกตอาการคนท้องและพัฒนาการทารกในครรภ์แต่ละไตรมาส
อาการคนท้องไตรมาส 3 ความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด และสัญญาณใกล้คลอด
ที่มา : amarinbabyandkids, med.cmu