ปัญหาลูกไม่อยากโรงเรียนเกิดจากสาเหตุใด
ลูกไม่อยากไปโรงเรียน (School Refusal Problem in Children) เป็นปัญหาที่มักพบได้บ่อยในเด็กเล็ก อาจเกิดขึ้นจากหลายๆ สาเหตุ เช่น การเริ่มต้นของภาคเรียนใหม่ การย้ายไปเรียนโรงเรียนแห่งใหม่ หรือการที่โรงเรียนปิดเทอมเป็นเวลานาน แล้วมีการเริ่มภาคการศึกษาใหม่ เป็นต้น ตามการรายงานพิเศษเกี่ยวกับสุขภาพชิ้นล่าสุดที่มีชื่อว่า การจัดการกับความกังวล และความกลัว (Coping with Anxiety and Phobias) ของวิทยาลัยแพทย์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า การปฏิเสธการไปโรงเรียนมักจะเกิดจากความกังวล โดยสาเหตุที่ซ่อนอยู่ภายในอาจมาจากโรคกลัวสังคม (social phobia) คือ ความกลัวที่เกิดจากสภาพทางสังคม หรือการแสดงออกต่อหน้าสาธารณชน หรือโรควิตกกังวลไปทั่ว (generalized anxiety disorder) กล่าวคือ การกลัวเกินเหตุ และกังวลไปกับหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง เช่น กลัวถูกเรียกในชั้นเรียน กลัวครู กลัวการโดนแกล้ง เป็นต้น
ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนมีลักษณะอย่างไร
ช่วงวัยเด็กที่มักจะมีปัญหาเรื่องไม่อยากไปโรงเรียน มักมีอายุระหว่าง 3 – 6 ปี เนื่องจากช่วงอายุดังกล่าวเด็กจะเพิ่งเริ่มไปโรงเรียนในระดับอนุบาล อาจเกิดจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น
1.ไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อต้องจากพ่อแม่
2.เด็กอาจถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง
3.เด็กไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้จึงไม่มีเพื่อนเล่น
4.บางครั้งสาเหตุอาจเกิดจากวิชาเรียน และการบ้านต่าง ๆ ซึ่งวิชาเรียนอาจง่ายเกินไป ทำให้เด็กเกิดความเบื่อ หรือ วิชาเรียนอาจยากจนเกินไป ทำให้เด็กเกิดความกดดันว่าไม่ฉลาดเท่าเด็กคนอื่นๆ
5.เด็กอาจประสบกับความกังวลในเรื่องอื่นๆ จนไม่มีสมาธิเรียนหนังสือ และไม่อยากไปโรงเรียน
6.ปัญหาเด็กเกลียดครู (จะขอพูดถึงในหัวข้อต่อไปค่ะ)
เด็กจะแสดงพฤติกรรมไม่อยากไปโรงเรียน เช่น แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราด ร้องไห้เมื่อถึงโรงเรียน บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เจ็บหน้าอก เวียนศีรษะ เป็นต้น คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้ง่ายๆ ว่า เมื่อเด็กไม่อยากไปโรงเรียน เด็กจะเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น แต่เมื่อเด็กรู้ว่าจะได้พักอยู่บ้าน อาการของเด็กก็จะดีขึ้นเอง โดยทั่วไปแล้ว เด็กจะเกิดความกลัว หรือเกิดอาการที่แสดงถึงความกังวล เช่น เด็กอาจมีพฤติกรรมแปลกๆ มีความกังวลมากเกินเหตุ หรือเด็กอาจฝันร้าย
พญ.เพียงทิพย์ หังสพฤกษ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า นอกจากการร้องไห้ไม่ไปโรงเรียนแล้ว ความเครียดที่เกิดขึ้น พ่อแม่อาจพบว่าลูกจะมีการเจ็บป่วยทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ปวดขา ปวดแขน ทั้งๆ ที่ไม่ได้ไปโดนหรือหกล้ม ทั้งนี้ เป็นเพราะเด็กเกิดความกังวล หรือเครียดทำให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียดหลั่งออกมา ดังนั้น พ่อแม่และครูก็ต้องช่วยกันสังเกตดู อย่าด่วนไปตัดสินว่าเด็กแกล้งทำสำออย แต่ควรรับฟัง โดยคุณครูอาจจะให้เด็กไปนอนพักห้องพยาบาลก่อน เพื่อให้เด็กรู้สึกว่ามีที่ปลอดภัยมาหลบภัย เมื่ออาการดีขึ้นก็ให้กลับไปเรียนเหมือนเดิม
อ่านปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะเกลียดครู คลิก
ปัญหาลูกไม่อยากไปโรงเรียนเพราะเกลียดครู
ปัญหาในลักษณะนี้หากเกิดขึ้นกับเด็กเล็กวัย 3-6 ปี อาจเกิดจากเด็กรู้สึกด้านลบกับคุณครู เช่น เด็กคิดว่าคุณครูไม่รัก เด็กคิดว่าคุณครูดุเกินไปจึงทำให้เด็กกลัวครูและไม่อยากไปโรงเรียน เป็นต้น ปัญหานี้คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับลูก หากลูกบอกว่าครูที่โรงเรียนดุ ครูไม่รักเขา ชมแต่เพื่อน และลูกยังร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนทุกวันนานเป็นสัปดาห์ คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษากับคุณครูถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนี้
1.อันดับแรก สร้างความมั่นใจว่าคุณอยู่เคียงข้างลูกเสมอ ฟังทั้งสิ่งที่ลูกพูดและฟังความรู้สึกของลูกเด็กเล็กวัย 3 – 6 ขวบรู้สึกไม่อยากไปโรงเรียนนั้น ย่อมต้องมีเหตุผล แต่ไม่ว่าจะเป็นเพราะอะไร คุณควรเริ่มด้วยการทำให้ลูกรู้ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร ครูจะเป็นอย่างไร คุณก็รักลูกและเชื่อมั่นในตัวลูกและในความสามารถของลูก บอกลูกว่าคุณจะคุยกับคุณครูให้ แต่ไม่ควรทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณครูกำลังทำไม่ถูก หรือเข้าข้างลูกเสียจนทำให้ลูกกลับไปไม่เชื่อฟังคุณครู หรือทำอะไรที่ไม่น่ารักกับคุณครูในขั้นแรกเพียงแค่ให้ลูกรู้ว่าคุณจะหาสาเหตุให้พบและอยู่เคียงข้างลูกเสมอไป
2.คุณพ่อคุณแม่ควรขอพบครูในวันเวลาที่คุณครูสะดวกเพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและหาทางร่วมมือแก้ไข
3.ควรคุยอย่างละมุนละม่อม เป็นมิตร แต่ชัดเจนและมั่นคง อาจเริ่มทำนองว่า“ลูกของดิฉันอาจจะเล่าไม่ถูกต้องนัก จึงคิดว่าเราควรคุยกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าใจตรงกันค่ะ” ให้คุณครูเล่าเรื่องจากทางด้านของคุณครู จากนั้นคุณจึงเสริม “ลูกของดิฉันคิดไปว่าคุณครูไม่ชอบเขาค่ะ เลยพาลไม่อยากมาโรงเรียน” ถามคำถามเท่าที่คุณคิดว่าจะทำให้คุณเข้าใจชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นระหว่างครูและลูก อะไรทำให้ลูกของคุณรู้สึกว่าคุณครูดุ มีเหตุการณ์อะไรที่คุณครูนึกออก ส่วนคุณเองแบ่งปันข้อมูลของลูกคุณกับคุณครูเท่าที่จะทำได้ เมื่อทราบว่าปัญหาคืออะไร คุณและครูควรร่วมมือกันวางแผนร่วมกันให้ได้ค่ะ การลงมือช่วยปรับเปลี่ยนความรู้สึกของลูกอาจจะต้องมาทั้งจากฝ่ายคุณเอง และฝ่ายคุณครู ร่วมมือสร้างสรรค์ไปในทิศทางเดียวกัน
4.ขอบคุณที่คุณครูสละเวลาให้และใส่ใจกับเรื่องของลูกคุณ ที่สำคัญควรติดตามเรื่องสม่ำเสมอจนกว่าจะดีขึ้นและเป็นไปตามแผน
5.อย่าวางเฉยหากการณ์กลับกลายเป็นว่าคุณครูไม่ร่วมมือเอาเสียเลย และดูท่าจะไม่ชอบลูกคุณจริงๆ และดุอย่างไม่มีเหตุผลดังที่ลูกบอก รวมทั้งไม่มีอะไรดีขึ้นเลยหลังจากที่คุยกันไปแล้ว ควรไปคุยกับครูใหญ่ให้ช่วยจัดการให้แน่ใจได้ว่าลูกคุณจะได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นเป็นมิตรและปลอดภัยจริงๆ ถ้ายังไงก็ลองดูว่าจะเปลี่ยนห้องได้หรือไม่ เป็นทางเลือกสุดท้าย
ข้อมูลอ้างอิงจาก
https://women.mthai.com/
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
เคล็ดลับรับมือวันแรกที่ลูกไปโรงเรียน
5 ปัจจัยเลือกโรงเรียนอนุบาลให้ลูก