ภาพคู่แฝด ก่อนจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ภาพถ่ายต่อไปนี้ ดูผิวเผินแล้ว เหมือนกับ ภาพคู่แฝด ชายหญิงธรรมดาคู่หนึ่ง แต่ใครจะรู้ว่า ภาพที่เห็นนั้น เป็นภาพคู่ชุดสุดท้าย ที่ทั้งคู่จะมีโอกาส ได้ถ่ายด้วยกัน ก่อนจากไป ด้วยลูกชาย หนึ่งในฝาแฝด กำลังจะจากไปอย่างไม่มีวันหวนคืน
ลินด์เซย์ และแมทธิว พ่อแม่คู่หนึ่งต้องประสบปัญหา กับการมีลูกยากมานานนับหลายปี แต่สุดท้าย ความฝันของพกเขาก็เป็นจริง เมื่อลินด์เซย์สามารถตั้งครรภ์ได้สำเร็จ ที่สำคัญเป็นลูกแฝดหญิงหนึ่ง ชายหนึ่งเสียด้วย
และแล้ววันที่พวกเขาตั้งตารอคอย ที่จะเจอหน้าลูก ๆ ก็มาถึง เมื่อลินด์เซย์ได้ถือกำเนิดลูกทั้งสองคนในวันที่ 17 ธันวาคม 2559 และให้ชื่อพวกเขาว่า วิลเลียม และรีแกน ทุกอย่างเหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดกับครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวนี้ เมื่อหมอบอกว่า วิลเลียมจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน เพราะ มีอาการหัวใจที่ผิดปกติ ซึ่งจริง ๆ แล้ว วิลเลียมมีโอกาสเสียชีวิตได้ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ แต่หนูน้อยก็ไม่ยอมแพ้ ต่อสู้ชะตาชีวิตของตัวเอง จนสามารถลืมตาดูโลกเพื่อที่จะได้เห็นหน้าพ่อแม่ และพี่สาวเป็นครั้งสุดท้าย
ทั้งลินด์เซย์ และแมทธิว ตัดสินใจที่จะใช้วันเวลาสุดท้ายกับ วิลเลี่ยม ให้ได้มากที่สุด และพวกเขาก็ตัดสินใจที่จะบันทึกภาพถ่ายลูกแฝดชุดแรก และชุดสุดท้าย เพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำดี ๆ ของพวกเขาตลอดไป
การถ่ายภาพชุดนี้ ใช้เวลาทั้งสิ้น 11 วัน ซึ่งทั้ง 11 วันนี้ คือ 11 วันแรก และ 11 วันสุดท้ายที่วิลเลียมจะมีลมหายใจอยู่บนโลก … ถึงแม้จะเป็นเรื่องที่หน้าเศร้า แต่อย่างน้อย พวกเขาทุกคนก็ได้ใช้ทุกวินาทีที่มีค่ารวมกันอย่างแท้จริง
รู้จักความเสี่ยงโรคหัวใจปิดปกติแต่กำเนิด
โอกาส และความเสี่ยงโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดในทารก
- สถานการณ์โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด ในปัจจุบัน จะพบในทารก 7.7 คน จากทารก 1,000 คน
- แต่มีแค่ร้อยละ 1 ที่ตรวจทราบหรือพบเลยตั้งแต่แรกคลอดว่าเป็นโรคนี้
- โดยในแต่ละปี มีทารกต้องการการผ่าตัดมากถึง 5,000 – 6,000 ราย แต่สามารถผ่าตัดได้เพียง 3,500 คน
สาเหตุของโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิดในทารก
- สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัดแต่ความผิดปกติ เกิดในขั้นตอนการสร้างอวัยวะ ตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อใน 3 เดือนแรกหรือเกิดจากกรรมพันธุ์
- นอกจากนี้สาเหตุของโรคยังเกิดได้จากพฤติกรรมของมารดาขณะตั้งครรภ์ด้วย เช่น แม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้าตอนตั้งครรภ์
- แม่มีอายุมากเกินกว่าวัยเจริญพันธุ์
- หรือเด็กที่เกิดมาเป็นดาวน์ซินโดรม เด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือเกิดมาน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงเป็นได้
ชนิดของโรค และอาการ
1. ชนิดเขียว หรือมีออกซิเจนในเลือดต่ำ
- เกิดจากความผิดปกติของหัวใจ และหลอดเลือด หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง
- ทำให้เลือดดำปนกับเลือดแดงที่ไปเลี้ยงร่างกาย จนเด็กเกิดภาวะขาดออกซิเจน
2. ชนิดไม่เขียว
- เกิดจากความผิดปกติในโครงสร้างระบบหลอดเลือด และหัวใจ
- โดยอาจเกิดจากผนังกั้นหัวใจมีรูลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ
จะทราบได้อย่างไรว่าลูกเป็นโรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด?
- สำหรับชนิดเขียว ผิวจะมีสีเขียวม่วงคล้ำ โดยจะเห็นได้ชัดขณะร้องหรือดูดนม
- สำหรับชนิดไม่เขียว อาจพบได้จากการตรวจพบเสียงหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยบังเอิญ และเด็กเล็กมักดูดนมได้ครั้งละน้อย ๆ หายใจเร็ว น้ำหนักขึ้นช้า เป็นต้น
แนวทางในการรักษา
- รักษาด้วยยา เพื่อประคับประคองอาการ
- รักษาด้วยการสวนหัวใจในผู้ป่วยที่สามารถใส่อุปกรณ์สวนหัวใจได้
- รักษาด้วยการผ่าตัด ในกรณีที่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผล
- สำหรับเด็กอายุแรกเกิดถึง 1 ปีในบางรายจำเป็นต้องจำกัดปริมาณนม และไม่สามารถรับนมแม่ได้ หรือควรเลี่ยงอาหารรสเค็ม
- ส่วนเด็กที่มีอายุมากกว่า 1 ปี ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และมีพลังงานสูง และควรรับวัคซีนเสริมบางชนิด
- นอกจากนี้ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก และฟันเพื่อลดโอกาสติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ
ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ นายแพทย์ กฤตย์วิกรม ดุรงค์พิศิษฏ์กุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ และหลอดเลือดโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ณ งานเสวนาในหัวข้อ “โรคหัวใจผิดปกติแต่กำเนิด” โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
_________________________________________________________________________________________
ที่มา: Kapook
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ผลวิจัยเผย คลอดลูกแฝดช่วงไหน ปลอดภัยที่สุด
ภาพแรกของ “ทารกแรกเกิดแฝดสยาม” ในเม็กซิโก
ความรู้จากแพทย์กับโรคหัวใจผิดปกติ แต่กำเนิดในทารก