นมแม่จากเต้าคนอื่น
#เรียนรู้นมแม่จากละคร นมแม่จากเต้าคนอื่น อันตรายจริงหรือ ลูกเสี่ยงติดเชื้ออะไรได้บ้าง ทำไมห้ามคนอื่นให้นมลูกซี้ซั้ว ทำไมห้ามรับน้ำนมแม่บริจาคเอง ทำไมต้องผ่านธนาคารนมแม่
เพจมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่โพสต์ของคุณหมอ ศิริพัฒนา ศิริธนา ว่า
“มันเสี่ยงมากเลยนะคะ ไหนจะเชื้อไวรัส บี ไวรัส ซี แล้วยัง เอชไอวี อีก”
อะไรคือความเสี่ยงนี้ ไวรัสพวกนี้มาเกี่ยวอะไรด้วย?
เรามา “เรียนรู้นมแม่จากละคร” กันต่อดีกว่าค่ะ มีทั้งเด็กเล็กๆน่ารัก ที่จะเป็นสื่อรักระหว่าง สองหนุ่มสาว แล้วก็ป้าที่แอบหลงรักลุงเต็งอย่างออกนอกหน้าอีกคน เธอจะเข้ามาแทรกระหว่างกลางเป็นระยะๆ พอไม่ให้เราเบื่อ
ลุงเต็ง “ลุงหลานอ่อน”จำเป็น ที่ต้องรับภาระเลี้ยงลูกแรกเกิด ของน้องชายที่เผลอไปทำให้เขาเกิดมาระหว่างการเรียนต่อที่ต่างประเทศ หลังจากกลับมาคลอดที่กรุงเทพแล้ว ทั้งน้องชายและน้องสะใภ้ก็ต้องกลับไปเรียนต่ออีก 2 ปี ทิ้งให้ลุงใจอ่อนอารมณ์ดีคนนี้หาวิธีเลี้ยงหลานเอง ตาม “สไตล์ลุงเต็ง”
ปัญหาแรกคือจะให้หลานกินนมอะไร โชคดีที่แม่ได้ปั๊มนมแม่แช่แข็งเก็บไว้ให้ส่วนหนึ่ง แต่หลังจากนมแม่ล้อตนี้หมด ลุงจะทำอย่างไร?
วันนี้ลุงไปดูเนอร์เซอร์รี่ ที่จะพาหลานไปฝากเลี้ยงอีกครั้ง ได้รับการต้อนรับอย่างเป็นกันเอง สนิทสนมเป็นอย่างยิ่งจากป้างามพิศ เจ้าของเนอร์เซอร์รี่
ขณะกำลังนั่งคุยกัน. ป้าก็ทำหน้าตาตกอกตกใจ เมื่อลุงตอบคำถาม ว่า “ถ้านมแม่แช่แข็งหมดลง จะทำอย่างไร ” อย่างนี้:
“พอดีเพื่อนข้างบ้านคลอดลูกเวลาใกล้ๆกัน ผมไปขอนมเขามาให้เรียบร้อยแล้วครับ ”
“ขออะไรนะคะ ” ชิดดาว หลานสาวคนสวยที่จะเป็นพี่เลี้ยงหลานรัก “กาโม่” ของลุงเต็ง ทำตาโต ตกใจไม่แพ้กัน
“ขอนมให้กาโม่ไงครับ ” ลุงตอบหน้าซื่อๆ ตื่นเต้นอะไรกันเหรอทั้งป้าหลาน ก็นมแม่เหมือนๆกัน แบ่งกันกินไม่ได้หรือไง
“อุ๊ยตายแล้ว!!!! คุณลุงคะ ….ไม่ได้เลยนะคะ….จะไปซี้ซั้วขอนมคนอื่นมาให้หลานเราเนี่ย ….ไม่ด้ายยยยเลยนะคะ!
“แบบเสริมๆ แจมๆนึดนึงไม่ได้เลยหรือครับ?” ลุงเต็งต่อรองอีก
“ยังไงมันก็เสี่ยงติดเชื้อโรคอ่ะค่ะ” ชิดดาวอธิบายเสียงหวาน ลุงนั่งฟังเคลิ้มเลย
“ใช่ค่ะคุณลุง มันเสี่ยงมากเลยนะคะ ไหนจะเชื้อไวรัสB ไวรัส C แล้วยัง HIV อีก. ต้องบอกว่ามันต้องผ่านการคัดกรองและฆ่าเชื้อ ลักษณะเหมือนกับการให้เลือดนั่นล่ะค่ะ” ป้างามพิศอธิบายเสียยืดยาว
“ถึงแม้ตอนตั้งท้องจะตรวจไวรัส บี. แต่ไวรัสซียังตรวจไม่ได้ เราก็ไม่ทราบว่าคนไหนเป็น เพราะ จะไม่มีอาการจนกว่าจะเป็นหนักมากแล้ว” ชิดดาวเสริม
“ยังจะมีไวรัสซ่อนเร้นอีกนะคะ เชื้อพวกนี้ต้องตรวจละเอียด ถ้าไม่เจอ แล้วได้รับเชื้อเข้าไป ติดไปล่ะก็ลำบากแน่” ป้างามพิศจีบปากจีบคออธิบายต่อ
“ถ้าอยากให้น้ำนมแม่คนอื่นเอามาให้หลาน ก็อาจจะต้องไปธนาคารน้ำนมแม่ที่คุณป้าแนะนำ หรือไม่ก็ เอาน้ำนมจากแม่ข้างบ้านไปตรวจคัดกรอง และฆ่าเชื้อโรคก่อน”
“แต่มันก็มีค่าใช้จ่ายนะคะ” ป้าสรุป ลุงทำหน้าผิดหวังบอกว่า คงสู้ไม่ไหว
“งั้นก็ต้องนมผงล่ะค่ะ กินคู่กันไปกับนมแม่ที่แม่ปั๊มแช่แข็งไว้ให้ พอกินแค่ไหนก็แค่นั้น ” ลุงก็คิดว่าคงต้องเป็นอย่างนั้น
ข้อสรุปบทเรียนวันนี้
- น้ำนมแม่ของตัวเองคือ อาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก แม่ลูกที่มีโอกาสได้อยู่ด้วยกันตั้งแต่แรกคลอด ให้ลูกได้ดูดนมจากเต้าของแม่โดยตรง
- ถ้าแม่ลูกอยู่ห่างจากกัน ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ให้แม่ปั๊มน้ำนมของตนเอง ส่งมาให้ลูกได้กิน
- ถ้าไม่มีน้ำนมแม่ของตัวเอง ขอน้ำนมแม่บริจาคจากธนาคารน้ำนมแม่ ซึ่งจะให้สิทธิ์แก่ทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนด และเจ็บป่วยก่อน
- การรับน้ำนมแม่แบ่งปัน อย่างไม่เป็นทางการ ( Informal milk sharing) มีโอกาสเสี่ยงต่อการรับเชื้อไวรัส และแบคทีเรีย ในน้ำนมที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อ
ข้อสรุปจาก American Academy of Pediatrics 2016 เกี่ยวกับ นมบริจาค
- สำหรับทารกแรกเกิดที่เจ็บป่วย หรือคลอดก่อนกำหนด ในช่วงที่ แม่ยังไม่สามารถให้น้ำนมของตนเองได้ อาจใช้น้ำนมแม่บริจาคได้
- ผู้ที่บริจาคน้ำนมแม่ต้องมีการคัดกรองโดยใช้วิธีที่มีมาตรฐานของธนาคารน้ำนมแม่
- น้ำนมแม่บริจาคควรได้รับการฆ่าเชื้อโดยวิธี พาสเจอไรเซชั่น ตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ น้ำนมแม่ที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วควรมีการทดสอบตามข้อแนะนำสำหรับควบคุมคุณภาพ
- บุคลากรทางการแพทย์ไม่ควรสนับสนุนการแบ่งปันน้ำนมแม่กันเอง หรือการซื้อน้ำนมแม่จาก Internet เพราะ น้ำนมแม่ที่ไม่ได้ผ่านการทำพาสเจอร์ไรซ์มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการ ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย หรือ่ไวรัส และอาจมีความเป็นไปได้ที่น้ำนมนั้นจะมียา สารเสพติด หรือสารอื่นๆ
- การใช้น้ำนมแม่บริจาค ในทารกที่มีความเสี่ยงสูง ไม่ควรถูกจำกัดโดย ภาวะทางเศรษฐกิจของแต่ละคน ต้องมีนโยบายที่จะให้ทารกความเสี่ยงสูงได้รับน้ำนมแม่บริจาคตามความจำเป็นทางการแพทย์ ไม่ใช่เศรษฐฐานะ
ที่มา : https://www.facebook.com/Thaibf/
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ทำความเข้าใจ ขนาดกระเพาะทารก ก่อนคิดว่านมแม่ไม่พอ
ไม่เห็นหน้าอาย!! ถ้าจะ ให้นมแม่ในที่สาธารณะ คุณแม่สะดวกแบบนี้
ให้นมแม่ต้องรู้! ให้ลูกได้กิน น้ำนมเหลือง หลังคลอดดีสุดๆ!!