ทารกวัย 6 เดือน เสียชีวิตจากน้ำผึ้ง ด้วยโรคโบทูลิซึม
ทารกวัย 6 เดือน เสียชีวิตจากน้ำผึ้ง ด้วยโรคโบทูลิซึม …ทารกผู้เคราะห์ร้าย อาศัยอยู่ในเขตอาดาจิ ณ เมืองหลวงโตเกียว มีอายุเพียง 6 เดือนเท่านั้น โดยเหตุการณ์น่าเศร้านี้ เกิดตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ เมื่อทารกตัวน้อย เกิดอาการไอ จนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ มีอาการแย่ลง พบอาการชัก ระบบหายใจล้มเหลว จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล และเสียชีวิตในวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา
จากการตรวจสอบพบว่า เด็กชายคนนี้เสียชีวิตลงเนื่องจากการดื่มน้ำผลไม้ผสมน้ำผึ้งที่มีเชื้อ Clostridium botulinum ซึ่งคนในครอบครัวให้เด็กดื่มเพื่อหย่านม จนทำให้ทางการต้องแจ้งเตือน ครอบครัวที่มีทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี ให้หลีกเลี่ยงการรับประทานน้ำผึ้ง
สาเหตุสำคัญมาจาก คนในครอบครัวของทารกน้อย ได้ซื้อน้ำผึ้งมาผสมกับน้ำผลไม้ให้ ดื่มทุกๆ วัน วันละ 2 ครั้ง หวังให้ทารกหย่านม และคิดว่า น้ำผึ้งนั้นดีต่อสุขภาพ เมื่อทำการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการแล้ว ก็พบเชื้อ Clostridium botulinum จากอุจจาระของเด็กชาย และพบในน้ำผึ้งที่เก็บไว้อยู่ภายในบ้านเช่นกัน
จนเมื่อวันที่ 7 เมษายน ทารกเพศชายวัย 6 เดือน ก็ถูกวินิจฉัยสาเหตุการเสียชีวิต ว่าเกิดจาก โรคโบทูลิซึมในทารก (Infant botulism) ซึ่งเกิดจากการเจริญของเชื้อ Clostridium botulinum และสร้างสารพิษโบทูลิซึมในทางเดินอาหารของทารก ซึ่งทางเดินอาหารของทารกมีปัจจัยสำคัญ ที่เหมาะสมในการเจริญของเชื้อ ได้แก่ การพัฒนาการเคลื่อนไหวยังไม่ดีและความเป็นกรดต่ำ โดยอาการที่พบในเด็กทารก จะเริ่มด้วยท้องผูก เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ดูดกลืนลำบาก ร้องไห้เสียงเบา และคออ่อนพับ โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการหลีกเลี่ยงการให้อาหารที่อาจปนเปื้อนเชื้อ Clostridium botulinum เช่น น้ำผึ้ง ในเด็กทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี
สำหรับสถิติ ตั้งแต่ปี 1986 ที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีการรายงานผู้ป่วยโรคโบทูลิซึมในทารกทั่วประเทศเพียง 36 ราย รวมกรณีเสียชีวิตในครั้งนี้ด้วย ซึ่งกรณีเด็กชายนี้ เป็นการเสียชีวิตจากโรคโบทูลิซึมในทารก ครั้งแรกของประเทศญี่ปุ่น โดยโรคโบทูลิซึมในทารกนี้ จะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นเฉพาะกับเด็กทารกเท่านั้น และสัดส่วนความเป็นไปได้ที่จะพบเชื้อชนิดนี้ภายในน้ำผึ้งตามท้องตลาดนั้นก็มีเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก
เว็บไซต์ anngle.org ยังรายงานด้วยว่า โรคโบทูลิซึมในทารก คนไทยเราอาจไม่คุ้นเคยนัก แต่จริง ๆ แล้ว เชื้อนี้เป็นชนิดเดียวกับที่เคยมีรายงานการระบาดเป็นครั้งแรกที่จังหวัดน่านในปีพ.ศ.2541 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการรับประทานหน่อไม้อัดปี๊บที่ไม่ได้ต้ม และมีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อชนิดนี้นั่นเอง
ที่มา : anngle.org
อ่าน โรคโบทูลิซึม เพิ่มเติมหน้าถัดไป
โรคโบทูลิซึม เกิดโรคได้อย่างไร?
แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส วว. พยาธิวิทยากายวิภาค อธิบายว่า โรคโบทูลิซึม มีพยาธิสภาพเกิดโรคได้โดย เมื่อกินอาหารที่ปนเปื้อนพิษ หรือทารกที่กินแบคทีเรีย แล้วแบคทีเรียปล่อยพิษออกมาในลำไส้ หรือพิษที่ผลิตอยู่ในบาดแผลก็ตาม พิษเหล่านี้ก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดในที่สุด และเดินทางต่อไปยังปลายเส้นประสาทชนิดที่ผลิตสารสื่อประสาทชื่อ Acetylcholine
ซึ่งได้แก่ ปลายเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ, ปลายเส้นประสาทของระบบประสาทอัตโนมัติ, รวมถึงปมประสาทส่วนปลายด้วย พิษก็จะออกฤทธิ์ต่อปลายเส้นประสาทเหล่านี้ โดยการไปยับยั้งการหลั่งของสารสื่อประสาท Acetylcholine ผู้ป่วยจึงเกิดอาการจากการที่เส้นประสาทเหล่านี้ไม่ทำงาน และอาการจะหายได้ก็ต่อเมื่อเส้นประสาทมีการสร้างปลายประสาทขึ้นมาใหม่ และเนื่องจากพิษชนิดนี้ไม่เข้าสู่สมองและไขสันหลัง ผู้ป่วยจึงไม่มีอาการของระบบประสาทส่วนกลางเกิดขึ้น
สาเหตุของโรคโบทูลิซึม
การกินเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้เข้าไป แล้วแบคทีเรียปล่อยพิษออกมา (Intes tinal botulism) โดยปกติ หากคนกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียซึ่งยังไม่ผลิตสปอร์เข้าไป กรดและน้ำย่อยชนิดต่างๆ รวมทั้งเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่เป็นปกติในลำไส้ของเราสามารถทำ ลายเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum ได้ แต่ในเด็กทารก โดยเฉพาะที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน พัฒนาการของระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ แบคทีเรียซึ่งเข้าสู่ทางเดินอาหารได้แล้ว จึงสามารถแบ่งตัวสร้างสปอร์ และปล่อยพิษออกมาได้ เพราะในลำไส้ของคนเราอยู่ในสภา วะที่ไม่มีออกซิเจน
โดยส่วนใหญ่แล้ว อาหารที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อแบบนี้ มาจากน้ำผึ้ง ดังนั้นจึงมีข้อแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปีกินน้ำผึ้ง เว้นแต่จะนำไปปรุงและผ่านความร้อน นอกจากนี้ในผู้ใหญ่ที่มีโรคของระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน ลำไส้อักเสบเรื้อรัง หรือได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ หรือได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ๆ ก็จะมีโอกาสได้รับพิษ หากกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ได้เช่นเดียวกับในเด็กทารก
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่อาการแสดงน่าสงสัยว่าจะเป็นโรคโบทูลิซึม จะต้องได้รับการรักษาล่วงหน้าไปก่อนได้รับวินิจฉัยยืนยันว่า อาการเกิดจากโรคนี้ เนื่องจากการรอผลการตรวจหาพิษ Botulinum toxin เพื่อยืนยันใช้เวลามากกว่า 1 วัน หากรักษาล่าช้า จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตได้
สำหรับอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากอาหารคือ ประมาณ 5-10% โดยผู้สูงอายุมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยอายุน้อย, ในผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากการมีบาดแผล อัตราการเสียชีวิตจะมากกว่า คือประมาณ 15-17% และสำหรับในเด็กทารก โอกาสเสียชีวิตจากโรคโบทูลิซึมจะน้อย คือน้อยกว่า 1% อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้เด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี บริโภคน้ำผึ้ง ยกเว้นจะนำไปปรุงเป็นอาหารที่ผ่านความร้อนที่อุณหภูมิมากกว่า 116 องศาเซลเซียส ร่วมกับการเพิ่มความกดอากาศขณะปรุง เช่น การตุ๋น หรือการอบ เพื่อทำลายสปอร์ของเชื้อโรคโบทูลิซึมที่อาจปนเปื้อน
เครดิต : haamor.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
ลูกลำไส้ติดเชื้อ เพราะการสัมผัสจากคนแปลกหน้า
อาหารป้อนลูกน้อย 9 อย่าง ที่คุณแม่และคุณพ่อต้องระวัง