ดูดจุกนมหลอกVS ดูดนิ้วให้ลูกดูดอะไรดีกว่ากันนะ
ทำไมเจ้าหนูน้อยถึงชอบดูดนิ้ว
เชื่อไหมคะ ? ลูกดูดนิ้วมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่แล้ว ดังนั้น พฤติกรรมการดูดนิ้วของลูก ไม่ใช่เกิดจากลูกหิวนะคะ และไม่ใช่สิ่งที่จะบอกถึงอาการหรือความต้องการของเด็ก แต่การดูดนิ้ว คือ
1. การกระตุ้นประสาทการรับรส การกระตุ้นการทำงานของช่องปาก ต่อมน้ำลายต่างๆ
2. นอกจากนี้ การดูดนิ้วของทารกน้อย บางครั้งก็เป็นการแสดงออกถึงความกังวลหรือรู้สึกไม่ปลอดภัยเช่นกันค่ะ เช่น เมื่อเจ้าหนูมองไม่เห็นคุณแม่ และกำลังรู้สึกกังวลหรือไม่ปลอดภัย ลูกอาจจะใช้วิธีดูดนิ้ว เพราะเด็กเคยชินกับการดูดนิ้วตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เพราะตอนอยู่ในท้องคุณแม่เด็กจะรู้สึกปลอดภัยและได้ใกล้ชิดกับคุณแม่
3. ลูกมักจะเลิกดูดนิ้วไปเองเมื่อเขาเจอวิธีอื่น ๆ ที่ช่วยให้ตัวเองสงบและสบายใจได้ โดยปกติแล้วมักจะเลิกภายในช่วง 4-5 ขวบค่ะ ถึงแม้ว่าเด็กหลายคนอาจจะยังดูดนิ้วบ้างในตอนกลางคืน หรือในเวลาที่เขารู้สึกเครียด
แม้จะได้ทราบถึงเหตุผลของลูกว่าทำไมชอบดูดนิ้ว แต่อีกใจคุณพ่อคุณแม่ก็อดกังวลไม่ได้ หากนิ้วหรือมือของลูกเกิดไปหยิบจับสิ่งต่าง ๆ จะทำให้เชื้อโรคติดเข้าปากลูกได้ จึงให้ “จุ๊บ” หรือจุกนมปลอมให้ลูกดูดแทนดีกว่า!!!
ดูดจุกนมหลอกดีอย่างไร
1. ลดอาการร้องไห้เมื่อเจ้าหนูกินนมแล้ว แต่ยังร้องไม่เลิก
2. ช่วยลด การเล่นน้ำลาย ดูดนิ้ว ดูดปาก
3. การให้เด็กดูดจุกนมหลอก สามารถป้องกันการเกิดภาวะเสียชีวิตเฉียบพลันไม่ทราบสาเหตุ หรือที่เราเรียกว่า SIDS (sudden infant death syndrome) ได้แนะนำให้รอจนลูกอายุอย่างน้อย 1 เดือนจึงค่อยเริ่มให้ใช้จุกหลอก เพื่อให้ทารกได้คุ้นเคยกับการดูดนมแม่ก่อน เพราะการใช้จุกหลอกอาจมีผลกระทบกับการให้นมของคุณแม่ได้
4. จุ๊บสามารถเบี่ยงเบนความสนใจได้ชั่วคราว เมื่อเด็ก ๆ หิว จุ๊บสามารถถ่วงเวลาให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งท่าให้นม หรือ เตรียมชงนม จุ๊บยังเหมาะกับสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน เช่น ฉีดยา ตรวจเลือด หรือ การตรวจอื่น ๆ
5. จุกนมหลอกยังอาจถูกใช้เป็นตัวแทนของคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดูใกล้ชิดเพื่อลดอาการกังวลจากการแยกจาก เช่นเดียวกับ ผ้าห่ม ตุ๊กตา รวมทั้งเด็กบางคนอาจดูดจุกนมหลอกเพื่อกล่อมให้ตัวเองนอนหลับได้
ข้อเสียของจุกหลอก
1. ลูกติดจุกนมหลอกจนไม่ดูดนมแม่ อาจส่งผลให้ปริมาณของน้ำนมแม่ลดลง เนื่องจากขาดการดูดกระตุ้น
2. จุกนมหลอกลูกมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อโรคได้มากกว่า หากทำความสะอาดไม่ดีพอเช่น โรคติดเชื้อในหูชั้นกลาง
3. การติดจุกหลอกก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อโครงสร้างของเหงือกและฟันจนผิดรูปร่างไปอย่างถาวรซึ่งส่งผลต่อการสบฟันของเด็ก เมื่อมีปัญหาด้านการสบฟันก็จะทำให้มีผลต่อการบดเคี้ยวอาหาร
ทำอย่างไรให้ลูกเลิกดูดนิ้ว & ดูดจุ๊บ
เมื่อติดได้ก็เลิกได้ “ดูดนิ้ว”
1. ฝึกให้ลูกใช้มือในการทำอย่างอื่น หาของเล่นที่ต้องมีการฝึกทักษะมือให้ลูกเล่น เช่น ลูกบอล พอใช้มือมาก ๆ สุดท้ายลูกก็จะลืมเรื่องเอานิ้วเข้าปากไปเอง วิธีการนี้เป็นการช่วยเบี่ยงเบนพฤติกรรมลูกได้ ไม่นานพฤติกรรมนี้ก็จะหายไปได้ในที่สุด
2. หากเห็นลูกดูดนิ้ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรดุว่า หรือดึงมือออกจากปากทันที ควรปล่อยให้ดูดอีกสัก ค่อยเข้าไปพูดเล่นดี ๆ ด้วยและเบนประเด็นให้สนใจทำอย่างอื่นแทนการดูดนิ้ว
เมื่อติดได้ก็เลิกได้ “ดูดจุ๊บ”
1. เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 8 เดือน สามารถเบี่ยงเบนความสนใจเด็กจากจุกหลอกได้หลายรูปแบบ เช่น การเล่นเปลโยก ร้องเพลง หรือการเปิดเพลงสบายๆ
2. เด็กอายุประมาณ 7 – 18 เดือน สามารถให้เด็กทำกิจกรรมอื่น ๆ เช่น เล่นของเล่น หรือให้เด็กมีของเล่นติดมือเป็นของเล่นอื่น ๆ ตุ๊กตา ลูกบอล เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูกจากจุกหลอก
3. ลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไปคุณแม่ควร จำกัดการใช้จุกหลอกเฉพาะช่วงที่จำเป็นในแต่ละวัน เช่น เวลาเข้านอน หรือเวลาที่น้องไม่สบาย คุณต้องหนักแน่นหน่อยนะคะ รวมถึงให้รางวัลเจ้าตัวเล็กด้วยการเล่นกิจกรรมสนุกๆ หรือให้รางวัลโดยใช้แผ่นสะสมดาวหรือสติกเกอร์ อย่าให้ลูกกินขนมแทนการใช้จุกหลอกนะคะ
ได้ทราบถึงสาเหตุของการดูดนิ้ว รวมไปถึงข้อดี ข้อเสียของการดูดจุ๊บหรือจุกหลอก คงจะพอช่วยให้คุณแม่ตัดสินใจได้นะคะว่าดูดจุ๊บหรือดูดนิ้วดีกว่า บทความนี้ขอให้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณพ่อคุณแม่นะคะ ที่สำคัญอย่าให้ติดอะไรเลยจะดีกว่านะคะ ค่อย ๆ เลิกทีละน้อยอาจปฏิบัติตามวิธีการที่แนะนำมาหรือมีวิธีดี ๆ มาบอกเล่ากันก็ยิ่งดีนะคะ
ร่วมบอกเล่าและแชร์ประสบการณ์ในช่วงตั้งครรภ์ คลอดบุตร รวมถึงการเลี้ยงดูทารกน้อย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อครอบครัวอื่น ๆ กันนะคะ หากมีคำถามหรือข้อสงสัย ทางทีมงานจะหาคำตอบมาให้คุณ
อ้างอิงข้อมูล
https://www.thelittlegymrama3.com
https://www.johnsonsbabyclub.com
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ระวัง! จุกนมหลอกไม่ดี ลูกเพดานปากเบี้ยวได้
ลูกชอบดูดนิ้ว ปกติหรือน่ากังวล?