คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ : ฝากครรภ์ อัลตราซาวนด์ นับลูกดิ้น อาหารและอาการแทรกซ้อน

คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ นี้เหมาะสำหรับว่าที่คุณแม่ทุกคนค่ะ โดยเฉพาะคุณแม่มือใหม่ เพิ่งท้องเป็นครั้งแรก อาจจะไม่รู้ว่าต้องดูแลตัวเองอย่างไร และมีอาการอย่างไรบ้างในช่วง 9 เดือนของการตั้งครรภ์ theAsianparent จึงรวบรวมข้อมูลสำคัญ เรื่องที่คุณแม่ควรรู้ มาฝากกัน

 

คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ มีหัวข้ออะไรน่าสนใจบ้าง

  • การฝากครรภ์ ตรวจครรภ์
  • อัลตราซาวนด์ มีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันยังไง
  • การนับลูกดิ้น วิธีทำให้ลูกดิ้น
  • วิธีเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์
  • คู่มือคุณแม่ตั้งครรภ์ รวมเรื่องสำคัญที่คนท้องต้องรู้
  • อาหารที่คนท้องห้ามกิน
  • เครื่องดื่มต้องห้ามของคนท้อง
  • อาการแทรกซ้อนที่แม่ท้องต้องระวัง

 

การฝากครรภ์ ตรวจครรภ์

เมื่อรู้ตัวว่าท้อง คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อให้คุณหมอตรวจเช็กสุขภาพ ความพร้อมของร่างกาย ความเสี่ยง โรคทางพันธุกรรม และอื่น ๆ เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย ซึ่งการตรวจครรภ์นั้น คุณหมอจะตรวจอะไรบ้างมาดูกันเลย

 

ท้องไตรมาสแรก (เริ่มตั้งครรภ์ถึง 14 สัปดาห์)

  • ตรวจปัสสาวะหรือเลือดเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์
  • ตรวจภายในเช็กมะเร็งปากมดลูก (ในรายที่มีข้อบ่งชี้)
  • ตรวจเลือดสำหรับฝากครรภ์ครั้งที่ 1 (เอดส์ กามโรค ตับอักเสบชนิดบี/ซี หมู่เลือดและคัดกรองโรคเลือดธาลัสซีเมีย)
  • ตรวจเลือดมารดาเพื่อคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมของทารกในครรภ์ หรือตรวจเลือดวัดสารเคมีบ่งชี้ทารกเด็กดาวน์ซินโดรม
  • ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง

ท้องไตรมาสที่ 2 (15-28 สัปดาห์ )

  • ตรวจเลือดเพื่อคัดกรองเบาหวานขณะตั้งครรภ์ในรายที่มีความเสี่ยงสูง
  • เจาะน้ำคร่ำเพื่อตรวจโครโมโซมของทารกในครรภ์ในรายที่มีความเสี่ยงสูง
  • ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง

ท้องไตรมาสสุดท้าย (29-42 สัปดาห์)

  • สอนนับลูกดิ้น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และบาดทะยัก
  • ตรวจเลือดฝากครรภ์ครั้งที่ 2 (เอดส์ กามโรค ตับอักเสบชนิดบี และความเข้มข้นของเลือด)
  • ตรวจคัดกรองการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสในช่องคลอดหรือกระเพาะปัสสาวะ
  • ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง

 

 

อัลตราซาวนด์ มีกี่แบบ แต่ละแบบต่างกันยังไง

  • 2 มิติ : การทำอัลตราซาวนด์แบบ 2 มิติ ภาพที่ได้จะเป็นภาพตัดขวางทีละภาพ ตามแนวคลื่นเสียงความถี่สูงที่ส่งออกไปในแนบระนาบ ซึ่งจะเห็นเป็นเพียงเงาดำ ๆ เท่านั้น
  • 3 มิติ : สำหรับการตรวจอัลตราซาวนด์ 3 มิติ จะใช้หัวตรวจส่งคลื่นเสียงในลักษณะของหลายระนาบไปพร้อมกัน ทำให้เกิดการเก็บข้อมูลที่ติดต่อกัน ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปยังหน่วยประมวลผลของเครื่อง และทำการสร้างภาพออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ที่จะสามารถมองเห็นความลึกของภาพได้เสมือนจริง และสามารถหมุนดูไปมาได้
  • 4 มิติ : อัลตราซาวนด์ 4 มิติ จะมีการประมวลผลที่ซับซ้อนขึ้น โดยที่เครื่องจะทำการเก็บภาพ 3 มิติ แต่ละภาพ แล้วแสดงผลเรียงต่อกัน ทำให้เกิดเป็นภาพเคลื่อนไหว จึงสามารถเห็นภาพทารกเคลื่อนไหวอยู่ในครรภ์มารดาได้ ตลอดจนสามารถเห็นถึงกิริยาอาการที่ทารกกำลังทำในขณะที่ตรวจด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 46 ใบอัลตราซาวด์บอกอะไรบ้าง

 

 

การนับลูกดิ้น วิธีทำให้ลูกดิ้น

ความถี่ที่เด็กดิ้นนั้นสำคัญมาก การนับจำนวนครั้งที่ลูกดิ้นจะช่วยให้คุณรู้ว่าลูกแข็งแรงหรือไม่ มีพัฒนาการเป็นอย่างไร ในช่วงไตรมาสที่สาม เด็กควรขยับอย่างน้อย 10 ครั้งในเวลา 2 ชั่วโมง

  1. เปลี่ยนท่า โดยเฉพาะการนอนหงายหรือนอนคว่ำสักครู่
  2. กินอาหารหวาน ๆ แล้วรอสัก 2-3 นาที
  3. ฟังเพลง ลูกฉันดิ้นเยอะมากตอนที่ได้ยินเสียงออแกนในโบสถ์
  4. กดท้องด้านหนึ่ง และลองดูว่าเด็กจะกดกลับหรือไม่
  5. ดื่มน้ำเย็นจัด ๆ เพื่อให้ลูกตื่นตัว

วิธีเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์

ลูกในท้องตัวเล็กหรือไม่ ดูได้จากอะไร

  • น้ำหนักคุณแม่ ไม่เพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ปกติ : สำหรับการตั้งครรภ์ทารกคนเดียว น้ำหนักแม่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องหลังอายุครรภ์ 3 เดือน เฉลี่ยสัปดาห์ละ 0.2-0.5 กิโลกรัม แต่ในช่วง 3 เดือนแรก เนื่องจากมีอาการแพ้ท้อง ดังนั้น น้ำหนักอาจลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นได้ ไม่ต้องกังวล
  • วัดความสูงของมดลูก : ขนาดมดลูกที่สังเกตได้ง่าย คือช่วงอายุครรภ์ 5 เดือน หรือ 20 สัปดาห์ ซึ่งจะมีขนาดเท่ากับระดับสะดือของคุณแม่ แต่อายุครรภ์หลังจากนั้นแพทย์จะทำการวัด โดยใช้สายวัดซึ่งความสูงของมดลูกหน่วยเป็นเซนติเมตรจะมีค่าเท่ากับอายุครรภ์เป็นสัปดาห์ เช่น วัดความสูงของมดลูกได้ 28 เซนติเมตร ก็จะเท่ากับขนาดมดลูกที่อายุครรภ์ 28 สัปดาห์

 

สาเหตุที่ลูกในท้องตัวเล็ก

  • สาเหตุจากแม่: แม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน โรคไต โรคเบาหวาน มีการใช้ยาบางอย่าง ดื่มเหล้า สูบบุหรี่
  • สาเหตุจากลูก: ลูกมีพันธุกรรมที่ผิดปกติ มีความพิการแต่กำเนิด มีการติดเชื้อในครรภ์ ทารกในภาวะครรภ์แฝด
  • สาเหตุจากรก: ภาวะรกเสื่อมก่อนกำหนด รกเกาะตำเหน่งที่ผิดปกติ มีการติดเชื้อที่รก

 

เพิ่มน้ำหนักตัวลูกในท้องต้องทำอย่างไร

  • อาหาร : เน้น “สารอาหารที่มีประโยชน์ (nutritions)” ไม่ใช่เน้น “พลังงาน (calories)” ทานอาหารที่หลากหลาย เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ โดยเน้นโปรตีน แต่ให้หลากหลายและมาจากธรรมชาติ เช่น ปลา ไก่ หมู ไม่ใช่ทานอาหารอย่างเดียวปริมาณมาก เช่น ไข่ 10 ฟองต่อวัน นมวันละ 2 ลิตร ทารกคลอดออกมาจะเสี่ยงต่อแพ้ไข่ แพ้นม
  • พักผ่อน : การพักผ่อนไม่พอ ความเครียด ความกังวล ก็ทำให้ลูกตัวเล็กได้เช่นกัน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น การดื่มสุรา และการสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกาย: การออกกำลังกายที่เหมาะสม สามารถทำได้ และพบว่าอาจช่วยให้สุขภาพลูกแข็งแรงด้วย

 

 

อาหารที่คนท้องห้ามกิน

  • อาหารที่มีรสจัด : ไม่ว่าจะเค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวานจัด หรืออาหารที่ใช้เครื่องปรุงแต่งมากเกินไป ควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อนนะคะ กินแค่ให้มีรสชาติในปริมาณที่พอดี เพื่อไม่เสี่ยงต่ออาการปวดท้อง ท้องอืดแน่นเฟ้อ ซึ่งเกิดขึ้นได้บ่อยในช่วงตั้งครรภ์ ทั้งนี้รวมถึงพวกผลไม้ที่ให้ความหวานจัด เช่น ลำไย เงาะ น้อยหน่า เป็นต้น เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเบาหวานในขณะตั้งครรภ์ และน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป
  • อาหารที่มีไขมันสูง : อย่างเช่น พวกของทอด พวกแป้ง หรืออาหารที่ใช้น้ำมันมาก ๆ เมื่อกินเข้าไปจะส่งผลให้แม่ท้องมีโอกาสเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากขึ้น แถมยังได้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ยิ่งทานในปริมาณมาก ก็จะทำให้ท้องอืด แน่นท้อง ย่อยยาก อึดอัดไปกันใหญ่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ได้ค่ะ
  • อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง และอาหารที่เก็บได้นาน : อาหารที่สามารถเก็บรักษาได้นาน มักจะมีสารเคมีเจือปน เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการเก็บ ไม่ว่าจะเป็นอาหารกระป๋องต่าง ๆ ไส้กรอก หมูแฮม แหนม หรือพวกอาหารตากแห้ง แต่หากจำเป็นต้องกิน ควรอ่านฉลากระบุส่วนประกอบและวันหมดอายุก่อน และนำมาปรุงสุกด้วยความร้อนอีกครั้งนะคะ
  • อาหารที่มีส่วนผสมของสารบอแรกซ์ : เช่น ลูกชิ้น ซึ่งหากรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของสารบอแรกซ์ในปริมาณมากไป จะทำให้ระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินอาหาร ส่งผลให้กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผล เกิดอาการอาเจียน หรือท้องเดินได้
  • อาหารที่ปรุงด้วยผงชูรส : ความจริงแล้ว ในผงชูรสที่ให้รสอร่อยนั้น ไม่มีคุณค่าทางอาหารเลย ทั้งยังเป็นตัวทำลาย หรือมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของสมองทารกได้
  • อาหารดิบ ของหมักดอง : ขึ้นชื่อว่าเป็นของดิบ ของดองนั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้ออยู่แล้ว นอกจากไม่ผ่านการปรุงสุกหรือมีกระบวนการทำที่ไม่สะอาด เมื่อกินเข้าไปทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คลื่นไส้และอาเจียน ท้องเสีย ท้องร่วง ซึ่งโรคเหล่านี้นั้นกระทบกับลูกในครรภ์โดยตรง
  • อาหารที่เพิ่มน้ำหนัก : ในช่วงตั้งครรภ์ แม้น้ำหนักตัวของคุณแม่ท้องจะเพิ่มขึ้นก็จริง แต่ควรเพิ่มขึ้นประมาณ 10-12 กิโลกรัมจากน้ำหนักตัวเดิมเท่านั้น หากน้ำหนักตัวคุณแม่เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ก็จะกลายเป็นไขมันส่วนเกินที่ยากจะกำจัด ซึ่งของกินอย่างพวกขนมหวาน ขนมเค้กหรือขนมปังที่มีแป้งเป็นส่วนประกอบ ไอศกรีม เครื่องดื่ม ผลไม้กระป๋องที่มีความหวานต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นอาหารที่เพิ่มน้ำหนักตัวให้คุณแม่ได้ หากคุณแม่อยากกินเพื่อเพิ่มความสดชื่น หรือเพื่อเพิ่มพลังงานก็สามารถกินได้ในปริมาณที่พอดี หรือถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพของแม่และลูกในครรภ์นะคะ

 

เครื่องดื่มต้องห้ามของคนท้อง

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ : เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์นั้น ดื่มมากไปไม่ดีต่อลูกในท้องแน่ ๆ ทำให้เมื่อคลอดออกมาแล้ว อาจมีน้ำหนักตัวน้อย เติบโตช้า ศีรษะเล็ก ใบหน้าเล็ก คางสั้น มีความบกพร่องทางสติปัญญา หรือเกิดความพิการของหัวใจและหลอดเลือดได้ หรือถึงคิดว่าจะดื่มในปริมาณเพียงเล็กน้อยที่คงไม่มีอันตรายหรือกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ แต่ถ้าเลี่ยงหรือเลิกได้ จะดีต่อสุขภาพของแม่และลูกน้อยนะคะ
  • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน : ชา กาแฟ โอเลี้ยง ช็อกโกแลต หากกินในปริมาณมากเกินพอดีต่อวันก็จะส่งผลกระทบได้ เช่น การดื่มชาแก่ ๆ จะทำให้ท้องผูกได้ง่าย ส่วนกาแฟนั้นถ้าดื่มมากเกินไปก็อาจทำให้คุณแม่ใจสั่นและนอนไม่หลับได้ค่ะ
  • น้ำอัดลม : ในน้ำอัดลมนั้น ประกอบไปด้วยน้ำ น้ำตาล และแก๊ส ที่ช่วยเพิ่มพลังงาน ถึงแม้ว่าการดื่มน้ำอัดลมนั้นจะช่วยสร้างความสดชื่นได้ก็จริง แต่ในแง่ของคุณประโยชน์ทางอาหารนั้นแทบจะไม่มีเลย นอกจากนี้ ความหวานจะไปเพิ่มน้ำหนักตัวทำให้คุณแม่อ้วนขึ้นอีกด้วย

บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำ! 8 เครื่องดื่มคนท้อง อร่อยดี มีประโยชน์ บำรุงคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

 

 

อาการแทรกซ้อนที่แม่ท้องต้องระวัง

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

เนื่องจากโรคนี้ มันจะไปเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดครรภ์เป็นพิษ หรือความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดการติดเชื้อของระบบทางเดินปัสสาวะได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ส่วนผลเสียต่อทารกในครรภ์  โอกาสที่จะแท้งมีความเสี่ยงสูงขึ้น และอาจเพิ่มโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ได้ นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดความพิการแต่กำเนิดสูงขึ้น รวมถึงทารกอาจมีน้ำหนักตัวมากทำให้คลอดลำบาก

 

ภาวะรกเกาะต่ำ

มักพบกับคุณแม่ที่เคยตั้งครรภ์มาแล้วหรือคลอดหลาย ๆ ครั้ง ยิ่งครรภ์หลัง ๆ จะยิ่งมีโอกาสพบได้มากขึ้น หรือแม่ที่ตั้งครรภ์แฝด รวมไปถึงคุณแม่ที่มีความผิดปกติของปากมดลูก เช่น มีก้อนเนื้องอกในมดลูกหรือมีแผลเป็นที่ตัวมดลูก หรือเคยมีประวัติผ่าตัดคลอดทางหน้าท้องมาก่อนก็อาจทำให้การเกาะตัวของรกกับผนังมดลูกผิดปกติไป เมื่อคุณแม่ใกล้คลอดจึงมักทำให้เกิดอาการตกเลือด ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้

 

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

อาการนี้ จะเกิดกับคุณแม่ด้วยกัน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มความดันโลหิตสูงก่อนตั้งครรภ์ กับกลุ่มความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งกลุ่มหลังเราจะพบบ่อยมาก โดยที่คุณแม่จะมีอาการบวม ตรวจปัสสาวะเจอไข่ขาวหรือโปรตีนในปัสสาวะ ถ้าอาการรุนแรงและรักษาได้ไม่ดี คนไข้จะชัก อาจจะมีเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิตได้

 

อ่านประสบการณ์จริงของคุณแม่ที่เคยใช้สมุดฝากครรภ์

สมุดฝากครรภ์ ได้ตอนไหน ไปฝากครรภ์แล้วยังไม่ได้เลย สมุดสีชมพู จะเป็นไรไหมคะ

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:

ฝากครรภ์ราคา เท่าไหร่ ต้องจ่ายอะไร ยังไงบ้าง 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 37

เลือกโรงพยาบาลก่อนฝากครรภ์ ต้องเลือกอย่างไร? ฝากครรภ์ที่ไหนดี?

ฝากครรภ์ที่ไหนดี 2566 ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนอย่างไร ?

บทความโดย

Khunsiri