คุณหมอสมัยใหม่ไม่สนับสนุนให้คุณแม่ตั้งครรภ์ “กินเผื่อลูก” แล้วค่ะ เพราะคุณแม่มักตีความผิด ๆ ว่าให้กินเข้าไปเยอะ ๆ ยิ่งเยอะเท่าไรยิ่งดี หารู้ไม่ว่าถ้ากินจนน้ำหนักเกินอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอดได้ค่ะ
อันที่จริงแล้ว คุณภาพของอาหารต่างหากที่ควรเน้นมากกว่าปริมาณ สิ่งที่คุณแม่ตั้งครรภ์ทั้งหลายพึงกระทำ คือ เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ร่างกายคุณแม่และลูกน้อยได้รับสารอาหารเพียงพอ รวมทั้งรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายอีกสักหน่อย แค่นี้ก็น่าจะคลอดได้ราบรื่นปลอดภัยไร้กังวลแล้วค่ะ
‘ฉันก็กินถูกต้องตามหลักโภชนาการและออกกำลังกายสม่ำเสมอแล้วนะ แต่ทำไมยังตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ล่ะ’ คำถามนี้อาจผุดขึ้นในใจของใครหลายคน
บ้างก็เชื่อว่าเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ คนเรามีโครงร่างใหญ่เล็กแตกต่างกันไปตามยีนส์ที่อยู่ในตัว
คุณแม่มือใหม่อาจกังวลเยอะนิดนึงเรื่องน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะไม่รู้ว่าตามปกติแล้วคนท้องควรหนักเพิ่มขึ้นเท่าไรกันแน่ หรือไม่ คุณแม่ก็แค่ไม่ชินกับรูปร่างตัวเองที่ขยายใหญ่ขึ้น
แล้วจะรู้ได้อย่างไรล่ะว่าตัวเองเป็นคนท้องที่อ้วนเกินไปหรือเปล่า
คุณแม่มืออาชีพตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับคนท้องที่รูปร่างใหญ่ไว้ 8 ข้อ พร้อมทั้งให้คำแนะนำดังนี้ค่ะ
1. ก้มตัวแตะปลายเท้าไม่ถึง
พุงบังเท้าเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าพุงหนาเกินจนก้มตัวลงแตะปลายเท้าไม่ถึงนี่สิ ต้องระวังนะคะ แต่ก็ยังโอเค คนท้องส่วนใหญ่มักเป็นกันอย่างนี้ในช่วงไตรมาส 3 แล้วอีกไม่นานคงต้องใช้ตัวช่วยเวลาจะลุกขึ้นยืนด้วยค่ะ
2. ต้องนั่งลงใส่กางเกงใน
เมื่อก้มตัวไม่ไหวเพราะติดพุง คุณแม่เลยมีท่าใส่กางเกงท่าใหม่ คือ นั่งลงก่อน ค่อย ๆ หย่อนขาใส่ในรูกางเกง ดึงขึ้นมาที่สะโพก แล้วยืนขึ้นจัดกางเกงให้เข้าที่ ถ้าลำบากมาก คุณแม่อย่าลืมขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัวนะคะ
3. เดินท่าเพนกวิน
เนื่องจากตอนนี้ช่วงกลางลำตัวทั้งป่องและหนักมาก คุณแม่จึงจำเป็นต้องตั้งจุดศูนย์ถ่วงใหม่เพื่อไม่ให้ตัวเซ กลายเป็นเดินอุ้ยอ้ายและอืดอาดไป คุณแม่ต้องใจเย็น ๆ ค่อย ๆ เดินค่ะ มีพุงหนัก ๆ คอยถ่วงไว้อย่างนี้ แค่ขยับเดินนิดหน่อยก็เหนื่อยแล้วค่ะ
4. อยากได้ที่กว้าง ๆ ในรถ
รู้สึกอึดอัดไม่สบายตัวเวลานั่งรถหรือยานพาหนะอื่น ๆ ใช่ไหมคะ ขอแนะนำอย่างนี้ค่ะ ถ้านั่งรถตัวเอง ให้เลือกนั่งเบาะหลัง เพราะมีที่ให้ยืดแข้งยืดขาเยอะกว่าเบาะหน้า และถ้าต้องนั่งรถโดยสารสาธารณะ คุณแม่อาจจะตีตั๋วสองที่นั่งไปเลย แล้วอย่าลืมใช้อภิสิทธิ์คนท้องนะคะ เข้าไปนั่งเก้าอี้ที่เขาจัดเตรียมไว้ให้ได้เลยค่ะ
5. ใส่เสื้อผ้าลำบากจัง
แฟชั่นสมัยนี้คนท้องสามารถใส่ชุดอะไรก็ได้ที่ไม่รัดพุงจนเกินไป แต่ถ้าคุณใส่แล้วพุงเริ่มปลิ้นละก็ ตัดสินใจซื้อชุดสำหรับคนท้องไปเลยดีกว่าค่ะ แล้วลงทุนซื้อชุดชั้นในดี ๆ ด้วยนะคะ ไม่อย่างนั้น หลังคลอดแล้วอาจจะต้องโยนทิ้งเพราะยางยืดย้วยหมดสภาพค่ะ
6. โดนถามตลอดว่า “จะคลอดแล้วเหรอ”
คนที่สามารถบอกได้ว่าคุณตัวใหญ่ไปหรือเปล่าคือคุณหมอเท่านั้นค่ะ โดยคุณหมอจะอัลตราซาวด์วัดขนาดตัวเด็กและให้คำแนะนำตามน้ำหนักตัวคุณได้ ถ้าคุณรู้ว่าน้ำหนักและค่าต่าง ๆ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็ไม่ต้องใส่ใจคำพูดชาวบ้านค่ะ
7. อีกนิดเดียวก็เข้าข่ายเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์
เรื่องนี้สำคัญมากค่ะ ถ้าคุณหมอแนะนำให้ไปพบนักโภชนาการ แสดงว่าคุณจำเป็นต้องมีคนคอยควบคุมอาหารให้แล้วค่ะ ภาวะเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ คือ มีน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนในระยะคลอดได้ ถ้าเป็นอย่างนี้แสดงว่ามาถึงจุดที่คุณต้องงดน้ำตาลกับคาร์โบไฮเดรตแล้วล่ะค่ะ รวมทั้งต้องปฏิบัติตามคำสั่งคุณหมออย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ
8. คุณหมอกำหนดให้ผ่าคลอด
เหตุผลหนึ่งที่คุณหมอให้ผ่าคลอดเป็นเพราะเด็กตัวโตเกินไป ถ้าคลอดวิธีธรรมชาติ คุณแม่จะเบ่งออกมาลำบากและอาจเป็นอันตรายได้ ทางที่ดีพยายามอย่าให้เกิดปัญหานี้ดีกว่าค่ะ เชื่อฟังคำแนะนำของคุณหมอแต่โดยดี คุมน้ำหนักไว้อย่าให้อ้วนเกินไปค่ะ
การดูแลน้ำหนักให้ได้ตามเกณฑ์ในขณะตั้งครรภ์เป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งส่วนหนึ่งต้องมาจากการได้รับโภชนาการอย่างเหมาะสม เพื่อที่จะได้ให้น้ำหนักขึ้นตลอดทั้ง 9 เดือนเป็นไปอยากเหมาะสม และยังส่งผลให้สุขภาพแม่ท้องดีด้วยค่ะ
ที่มา : smartparenting.com.ph
บทความที่เกี่ยวข้อง :
แม่ท้องเบื่ออาหารมีผลต่อน้ำหนักตัวไหม ?
เพิ่่มน้ำหนักลูกในครรภ์ ช่วงไตรมาสสุดท้าย
10 เคล็ดลับการดูแลสุขภาพแม่ตั้งครรภ์