1.วิธีอุ่นน้ำนมแม่ ใช้น้ำร้อนได้ไหม
การปั๊มนมแม่ ถ้าแม่อยากให้ลูกได้ดื่มน้ำนมอุ่นๆ ให้นำขวดนมมาวางในหม้อหรือภาชนะที่ใส่น้ำอุ่นเอาไว้ (นำน้ำร้อนผสมกับน้ำอุณหภูมิปกติ) โดยที่ไม่ให้น้ำนมสัมผัสกับความร้อนโดยตรง เพราะจะทำให้สูญเสียคุณค่าสารอาหาร ทำลายเซลล์มีชีวิตที่อยู่ในนมแม่ได้
แต่หากเป็นนมแช่แข็ง ให้เอามาใส่ตู้เย็นช่องธรรมดาสัก 1 คืน พอเริ่มละลายแล้ว ให้เอานมออกจากตู้เย็นช่องธรรมดา วางไว้ในห้องราวๆ 1 ชั่วโมง ก็จะทานได้ ซึ่งน้ำนมที่เก็บในถุงเก็บนมจะละลายได้เร็ว
ข้อห้าม
– ห้ามเอานมแม่ที่แช่แข็งมาวางไว้ในอุณหภูมิห้องทันที
– ห้ามอุ่นนมแม่ด้วยไมโครเวฟเด็ดขาด
– ห้ามนำน้ำนมที่อุ่นแล้วเหลือ กลับไปแช่เย็นให้ลูกกินภายหลัง
2.ถ้าปั๊มนมแล้ว ยังจะให้นมลูกทั้งสองข้าง ทุกครั้งที่ลูกเข้าเต้าหรือไม่
ในการให้นมลูกแต่ละครั้ง เป็นเรื่องดีถ้าคุณแม่จะให้ลูกได้ดูดกับเต้าทั้ง 2 ข้าง ลองปล่อยให้ลูกดูดเสร็จจากข้างหนึ่ง ก่อนจะลองให้ลูกดูดจากอีกข้าง ถึงลูกจะดูด หรือไม่ดูดอีกข้างหนึ่งก็ไม่ใช่ปัญหา ถ้าลูกไม่ดูดก็ไม่จำเป็นต้องปั๊มนม แค่ครั้งต่อไป ให้ลูกดูดจากข้างที่ไม่ได้ดูดในครั้งที่แล้ว
หรือลองสลับเต้าให้ลูกดูดกับเต้าที่จะปั๊ม ยกตัวอย่าง แม่ปั๊มน้ำนมข้างซ้ายออกประมาณ 10-15 นาที พอลูกตื่นให้ดูดข้างขวาจนลูกดูดเสร็จ แล้วลองให้ลูกดูดข้างซ้ายต่อจนลูกดูดเสร็จ แล้วแม่ค่อยปั๊มน้ำนมข้างขวาเพื่อกระตุ้น สัก 2-3 นาที
3.เอานมที่แช่เย็นในช่องธรรมดามา 2-3 วัน ย้ายไปแช่ช่องแข็งได้หรือเปล่า
ถ้าคุณแม่รู้อยู่แล้วว่าจะไม่ได้ให้ลูกดื่มทันที ควรจะแช่ช่องแข็งตั้งแต่แรก นับง่าย ๆ ว่า ถ้าต้องใช้ใน 8 วัน ให้แช่ช่องปกติ ถ้าจะแช่ช่องแข็งต้องแช่ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังปั๊ม แล้วอย่าลืมเขียนวันเวลาปั๊มนม
สำหรับช่องแข็งควรแช่นมไว้ด้านในลึก ๆ ให้เย็นที่สุด หลีกเลี่ยงการวางไว้ตรงช่องประตูตู้เย็น โดยตู้เย็นประตูเดียว เก็บนมได้ 1 เดือน ส่วนตู้เย็น 2 ประตู เก็บได้ 2-3 เดือน และถ้าเลือกแช่นมสต๊อกไปแล้ว ก็ไม่ควรแช่ร่วมกับอาหารอื่น ๆ
4.ปั๊มนมบ่อยแค่ไหน ลูกถึงจะพอกิน
แม่ๆ ลองกำหนดปริมาณน้ำนม ที่ควรปั๊มให้ได้ใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ลูกดูดนม 8 ครั้งต่อวัน อาจราวๆ 3 ออนซ์ต่อ 1 มื้อทุก 3 ชั่วโมง (24/8 =3 ออนซ์) โดยภายใน 7-10 วันแรกหลังคลอด ควรมีปริมาณน้ำนม 25-27 ออนซ์ (750-800 มล.) ที่สำคัญคือ ถ้าแม่ปั๊มนมได้บ่อย ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมออกมาได้มาก
อย่างไรก็ตาม ทารกแรกเกิดจะดื่มนมราว 1-2 ออนซ์ (30-60 มล.) ต่อมื้อและเมื่ออายุได้ 4-5 สัปดาห์ ทารกจะดื่มได้มากที่สุดคือ 3-4 ออนซ์ (90-120 มล.) ต่อมื้อและราว 30 ออนซ์ (900 มล.) ต่อวัน ทั้งนี้ ร่างกายของ คุณแม่ผลิตน้ำนมมากในช่วงกลางวัน และ ทารกมักดื่มนมมากที่สุดในตอนบ่าย หรือช่วงเย็น จึงควรจะปั๊มนมช่วงหนึ่งหรือครึ่งชั่วโมงก่อนที่ ลูกจะดื่มมื้อแรก
5.ถ้าแม่ต้องกลับไปทำงาน ควรวางแผนทำนมสต๊อกอย่างไร
หากรู้ตัวว่าต้องกลับไปทำงานต้องรีบทำนมสต๊อกให้เร็วที่สุด ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการปั๊มนมคือ ช่วงเช้าตรู่ 05.00-06.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของคุณแม่ผลิตน้ำนมได้มากที่สุด แต่ในระหว่างวัน แม่ก็สามารถปั๊มนมได้นะ เช่น ตอนลูกดูดนมอยู่ แม่สามารถปั๊มนมอีกข้างที่ลูกไม่ดูดประมาณ 15 นาที แล้วค่อยมาปั๊มข้างที่ลูกดูด 2-3 นาที นอกจากนี้ ในระหว่างวันแม่สามารถปั๊มนมเก็บได้ ด้วยการปั๊มนมต่อ 10-15 นาทีหลังลูกดูดเสร็จแต่ละมื้อ วิธีนี้จะทำให้ร่างกายรู้ว่าต้องผลิตน้ำนมเพิ่ม
เมื่อไปทำงานแล้ว ระหว่างทำงานควรปั๊มนมทุก 3 ชั่วโมง ทำทุกวัน แล้วเก็บใส่ถุงซิปแช่ตู้เย็น ตอนกลับบ้านก็ใส่มาในกระติกแช่แข็ง
6.เลือกเครื่องปั๊มนมแบบไหนดี
เครื่องปั๊มนมมีอยู่หลายแบบ แม่เลือกได้ตามความต้องการ แต่แม่ต้องซื้อเครื่องปั๊มนมที่ผลิตจากบริษัทที่น่าเชื่อถือ และ มีการรับประกันสินค้า
– เครื่องปั๊มนมแบบใช้มือ ราคาไม่แพงแต่แม่ต้องใช้มือช่วยให้เครื่องทำงาน ใช้เวลานานกว่าจะได้น้ำนมที่เพียงพอ
– เครื่องปั๊มนมไฟฟ้า ราคาสูงแต่สะดวก ดีสำหรับแม่ที่ใช้บ่อย ๆ เพราะสะดวกและรวดเร็ว
ที่มา : thebump.com ,thebump.com
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
รับมือ 4 อาการผิดปกติของเต้านมที่ต้องเจอระหว่างให้นมลูก
โปรตีนในน้ำนมแม่ คุณแม่ต้องรู้ !