สำหรับเด็กทารกส่วนใหญ่มักจะนอนหลับยาก และชอบร้องไห้โยเย ต้องได้นอนบนอกของคุณแม่ถึงจะหายร้อง พอย้ายไปนอนที่เตียงก็กลับมาร้องไห้อีกครั้ง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเขาต้องการความรักจากคุณพ่อคุณแม่ค่ะ เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าทำไม ทารกชอบนอนบนอกแม่ แล้วจะเป็นแบบนี้ไปอีกกี่เดือน
ทำไม ทารกชอบนอนบนอกแม่ ?
- เพราะต้องการความอบอุ่น ต้องการไออุ่นจากคุณแม่
- เนื่องจากเขารู้สึกปลอดภัยเหมือนตอนที่อยู่ในท้องของคุณแม่
- เขาได้ยินเสียงหัวใจแม่เต้น จึงทำให้นอนหลับง่ายเหมือนตอนอยู่ในท้องแม่
- เพราะได้กลิ่นพ่อแม่อย่างใกล้ชิด แล้วทำให้รู้สึกสบายใจ คุ้นเคย หลับง่ายมากขึ้น
ทารกนอนบนอกแม่ อันตรายไหม ?
อีกหนึ่งคำถามที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ ทารกชอบนอนบนอกพ่อแม่อันตรายไหม คำตอบก็คือ ไม่เป็นอันตรายต่อเด็กเลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่สามารถให้ลูกทารกนอนหลับได้สบาย ๆ ได้เลย และควรให้ลูกนอนบนอกตอนที่เขาร้องไห้งอแงมาก ๆ เพื่อทำให้รู้สึกปลอดภัยหลับสบายง่ายขึ้น แต่หากลูกหลับบนที่นอนได้เอง ไม่ร้องไห้ก็ไม่ควรกล่อมลูกนอนหลับบนอกพ่อแม่ทุกครั้งก็ได้ค่ะ เพราะอาจจะทำให้เขาติดจนรู้สึกว่าการนอนบนที่นอนมันไม่ปลอดภัย นอนไม่หลับ หรือหลับยาก
วิธีกล่อมลูกน้อยให้หลับง่าย หลับยาว
- ให้ใช้ผ้าห่มผืนน้อย ๆ ช่วยให้ลูกหลับ เพราะทารกจะรู้สึกปลอดภัยมากที่สุดตอนที่เขาได้รับความอบอุ่นอยู่เสมอ เพราะการที่เขาออกมาสู่โลกกว้างอาจทำให้ยังไม่คุ้นชิน การเอาผ้าห่มมาปิดที่บริเวณหน้าอกของลูกน้อยจึงสามารถช่วยให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยได้มากขึ้นค่ะ
- เปิดเพลงกล่อมเด็กเบา ๆ หรือจะเป็นเพลงกล่อมเด็กนอนประเภท White Noise ก็ได้ค่ะ เพราะทำให้ลูกน้อยรู้สึกผ่อนคลาย สบายใจ หลับง่าย
- ปรับการจัดห้องนอน ที่นอนให้อยู่ในมุมที่แสงไม่รบกวนมากเกินไป เสียงไม่ดัง เพื่อไม่ให้มารบกวนลูกตื่น แถมยังทำให้เขาหลับได้นานมากขึ้นด้วยค่ะ
- หากลูกติดกลิ่นคุณพ่อคุณแม่ ลองหาเสื้อมาวางไว้ใกล้ ๆ ลูกได้นะคะ เพื่อให้เขายังได้กลิ่นที่คุ้นเคยอยู่ จะได้นอนหลับได้สบายมากขึ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกหลับยาก แม่ทำไงดี มาดูวิธีกล่อมลูกให้หลับใน 5 ขั้นตอน
เคล็ดลับช่วยให้พ่อแม่มือใหม่หายเหนื่อยจากการที่ลูกชอบนอนบนอก
- สำหรับพ่อแม่มือใหม่ ถึงแม้ว่าพวกคุณอาจจะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถนอนหลับได้ทั้งที่ต้องการก็ตาม แต่ก็ใช้เวลาแค่เพียง 3 วันเท่านั้นแหละที่จะปรับนิสัยให้เข้ากับการเลี้ยงลูกของคุณได้
- เมื่ออุ้มลูกจนมั่นใจว่าหลับสนิทแล้ว ให้ลองเข้านอนพร้อม ๆ กันโดยนอนบนเตียงเดียวกันหรือนอนในเตียงนอนของลูกที่ควรวางอยู่ข้าง ๆ เตียง และวางมือลงบนหน้าอกหรือหน้าท้องของทารก เพราะจะทำให้ลูกจะรู้สึกอบอุ่นคล้ายกับตอนที่นอนอยู่บนอกแม่
- พาลูกเข้านอนเวลาเดิม ๆ ในทุก ๆ วัน เพื่อที่จะทำให้คุณคลายเหนื่อยและพักผ่อนได้เมื่อลูกหลับ
- ถ้าลูกร้องไห้ตอนที่คุณพยายามวางนอนลงบนที่นอน ก็ให้อุ้มขึ้นมาแนบอกใหม่จนกระทั่งลูกสงบลงและลองให้วางลูกนอนอีกครั้ง
พฤติกรรมการนอนของลูกน้อยตามวัย
การนอนของลูกน้อยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่
1. REM (Rapid eyes movement)
เป็นการนอนที่ลูกน้อยหลับไม่ยังสนิทดีเท่าไร และถือเป็นช่วงวัยที่ตื่นได้ง่ายมาก ๆ เมื่อได้ยินเสียงหรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอก โดยการหลับในช่วงนี้ ส่วนใหญ่จะมีอาการดิ้น ถอนหายใจแรง หรือบางก็ตื่นขึ้นมาเพื่อร้องไห้สั้น ๆ ค่ะ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลับแต่สมองของลูกน้อยยังคงทำงานอยู่ เพื่อประมวลผลและอาจจะสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เขาหายใจได้ไม่สม่ำเสมอ หรืออาจจะนอนผวาก็ได้
ซึ่งทางการแพทย์เองก็มีความเชื่อว่า การนอนหลับในช่วง REM มีผลต่อความจำและการพัฒนาการของเด็กทารกอย่างมาก และเมื่อเขาโตขึ้นช่วงการนอนในระดับ REM ก็จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ ตามลำดับ
2. NREM (Non-rapid eyes movement)
เป็นช่วงที่เด็ก ๆ หลับลึกมากขึ้น โดยช่วงนี้ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนมากที่สุด คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตได้จากนอนนิ่ง ๆ ของลูกน้อย ลมหายใจที่สม่ำเสมอกัน มีการหายใจลึกขึ้น และชอบทำปากขมุบขมิบ หรือบางรายอาจมีอาการกระตุกเป็นพัก ๆ โดยจะพัฒนาช่วงการนอนแบบ NREM สมบูรณ์ขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนขึ้นไป อีกอย่างก็คือเด็ก ๆ ในช่วงนี้จะตื่นยากมากเลยค่ะ
ตามปกติเด็กนอนกี่ชั่วโมง ?
-
การนอนของลูกในช่วง 0 – 3 เดือน
สำหรับเด็ก ๆ ในช่วงวัยนี้ การนอนหลับและการตื่นนอนจะมีช่วงเวลาเท่า ๆ กันเลยค่ะ ทั้งกลางวันและกลางคืน ประมาณ 20 ชั่วโมงต่อวัน เพราะพวกเขามีช่วงเวลาตื่นที่ไม่แน่นอน แถมยังมีการเปลี่ยนแปลงเวลานอนไปทุกสัปดาห์อีกด้วย และมักจะนอนช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน
-
การนอนของลูกในช่วง 3 – 6 เดือน
เป็นช่วงที่ลูกน้อยเริ่มหลับกลางวันน้อยลง และนอนหลับในช่วงกลางคืนมากขึ้น โดยจะหลับรวดเดียวไปจนถึงเช้าเลยค่ะ ไม่ตื่นมากินนมตอนกลางคืนเหมือนเดิมอีกแล้ว คุณแม่ไม่จำเป็นต้องปลุกให้ลูกตื่นขึ้นมาดูดนมหรือกลัวว่าเขาจะหิวนะคะ เนื่องจากลูกได้กินนมไว้เต็มที่แล้วค่ะ ทำให้ความต้องการนอนในช่วงนี้ลดลงเป็น 15-16 ชั่วโมงต่อวันแทน
การที่ลูกชอบนอนบนอกคุณแม่ถือเป็นการส่งผ่านความรักระหว่างคุณแม่กับทารกแรกเกิดได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นความสุขในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะลูกของเราจะเป็นเด็กทารกได้แค่ 365 วันเท่านั้น เวลามันผ่านไปเร็วพริบตา ขอให้คุณแม่ได้ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ลูกได้นอนหลับและร้องไห้น้อยที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการอุ้มจนลูกหลับ การให้นมจนลูกหลับ หรือการนอนด้วยกัน ถึงแม้ว่าอาจจะดูเหนื่อย แต่ก็เหนื่อยด้วยความสุขจริงไหมคะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกหลับยาก แก้ไขด้วย 9 วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมนอนแบบได้ผล
ลูกติดอุ้มนอน หลับยาก วางไม่ได้เลย คุณแม่ไม่ไหวแล้วค่ะ ทำไงดี
ลูกนอนหลับยาก กระสับกระส่าย แก้ไขได้ด้วยการกินปลา
ที่มา : kidsactivitiesblog, rakluke, babylove