เมื่อลูก ก้างติดคอ ก้างปลาติดคอ จะปล่อยไว้ หรือควรพาไปหาหมอดี หลายครั้งหลายคราที่ก้างติดคอดูเหมือนไม่ใช่เรื่องร้ายแรง แต่ในบางครั้งก้างติดคอก็ทำความเสียหายต่อลำคอได้มากนะคะ
ทำไงดีเมื่อก้างติดคอลูก ก้างปลาติดคอ ทำอย่างไร
ใครที่เคยมีประสบการณ์ “ก้างปลา” ติดคอ คงจะรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดเป็นอย่างดี ว่า การกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เป็นอย่างไร แค่จะกลืนน้ำลายตัวเองสุดแสนจะทรมาน บางรายโชคดี ใช้วิธีดื่มน้ำเยอะ ๆ หรือ กลืนข้าวคำโต ๆ ดื่มน้ำมะนาว ดื่มน้ำส้มสายชู กลืนขนมปัง กลืนกล้วย กลืนมาร์ชเมลโล่ กินถั่วเปลือกแข็ง ใช้นิ้วล้วงออก แล้วได้ผล แต่หลายคนใช้สารพัดวิธีก็ไม่หาย สุดท้ายต้องโร่ไปให้หมอช่วยเอาออกก็เยอะ
ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ก้างปลาติดคอพบได้ทุกช่วงอายุ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีการศึกษาว่าเป็นช่วงอายุใดมากที่สุด และเป็นก้างปลาชนิดใดมากที่สุด แต่จากประสบการณ์ที่เจอมักจะเป็นปลาทู คงเป็นเพราะประชาชนนิยมบริโภคมากก็เป็นได้ ปลาอื่น ๆ ก็มีมาให้เห็นเหมือนกันแต่ค่อนข้างน้อย
บทความที่เกี่ยวข้อง เด็กชายกินลูกชิ้น พลาดสำลักติดคอ หายใจไม่ออกดับอนาถ!
แก้ไขเองก็ไม่ใช่จะได้ผล
คนไข้ที่มาหาหมอส่วนมาก ก้างปลาติดคอมา 2-3 วันแล้ว ที่ติดคอปุ๊บมาหาหมอทันทีจะน้อย ส่วนใหญ่จะรู้วิธีว่า ต้องดื่มน้ำมาก ๆ หรือกลืนข้าวคำโต ๆ ในบางรายก็ใช้ได้ผล เนื่องจากก้างปลาปักอยู่บริเวณตื้น ๆ พอกลืนข้าวก้างก็ติดลงไปกระเพาะ อาหาร สามารถขับถ่ายออกมาทางอุจจาระ แต่ถ้าก้างปักลึก การกลืนข้าวคำโต ๆ อาจไปกดก้างให้ปักลึกกว่าเดิม
เราไม่เคยนับสถิติจำนวนคนไข้ในแต่ละปี แต่ที่ รพ.ศิริราช น่าจะมีคนไข้ประมาณ 2-3 รายต่อวัน ส่วนใหญ่มักจะมาตอนกลางคืนที่แผนกอุบัติเหตุ หมอทั่วไปตรวจดูแล้วไม่พบก้างปลา ก็จะมาปรึกษาหมอหู คอ จมูก
ปล่อยไว้นานอาจแย่
บางรายปล่อยทิ้งไว้นาน อาจมาด้วยอาการอักเสบ ติดเชื้อ มีหนอง ในช่องคอ โดยเฉพาะถ้าก้างปลาติดที่หลอดอาหาร ทิ้งไว้นาน ๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจจะทำให้เกิดการอักเสบที่ผนังของหลอดอาหาร จนเกิดการทะลุของหลอดอาหาร เกิดการอักเสบติดเชื้อในช่องเยื่อหุ้มระหว่างหัวใจและช่องปอดได้ แต่พบได้น้อย
ตำแหน่งที่พบก้างปลาติดบ่อย คือ บริเวณต่อมทอนซิล บริเวณโคนลิ้น บริเวณฝาปิดกล่องเสียง บริเวณใกล้หลอดรูเปิดทางเดินอาหาร แพทย์หู คอ จมูก จะใช้กระจกเล็ก ๆ เหมือนกับหมอฟัน สวมเฮดไลต์ ที่ศีรษะ ส่องตรวจดู ส่วนใหญ่จะเจอ ก็ใช้อุปกรณ์คีบออกมา
อาจไม่หมูอย่างที่คิด
ในบางรายก้างปลาอยู่ลึก คนไข้อาเจียนง่าย ไม่สามารถเอาก้างออกได้ จะพ่นยาชา ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที แล้วพยายามอีกที ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ทำอย่างไรก็ไม่ออก อาจต้องดมยาสลบ ให้คนไข้นอนแล้วลองดูอีกที แต่ส่วนใหญ่จะสามารถเอาก้างออกได้ที่ห้องตรวจเลย ที่ต้องดมยาสลบมีน้อยรายมาก
ก้างติดคอ ร้ายแรงขนาดไหน
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง คือ เจอปักอยู่ที่หลอดอาหารแล้วทะลุออกมาที่คอ เนื่องจากก้างปลาเป็นวัสดุแปลกปลอม ร่างกายจะผลักมันออกมา บางคนทะลุหลอดอาหารมาถึงผิวหนังที่คอก็มี
ดังนั้นผู้เขียนจึงขอแนะนำคุณพ่อคุณแม่ หากให้ลูกกินปลา ควรมีการเอาก้างออกให้หมดก่อนทุกครั้ง และแน่ใจจริงๆ ว่าจะไม่มีก้างปลาหลงเหลืออยู่เลย หากการใช้ช้อนส้อมทำให้ไม่แน่ใจ หลังแยกชิ้นปลาออกมาจากก้างชิ้นใหญ่แล้ว ควรใช้มือบี้อีกที เพื่อหาก้างที่อาจหลงเหลืออยู่ค่ะ
ข้อควรปฏิบัตเมื่อก้างติดคอ
- ห้ามใช้อุปกรณ์แหย่ลงในคอ เพื่อเขี่ยเอาก้างปลาออก เพราะอาจทำให้อุปกรณ์ที่ใช้เขี่ยหลุดลงไปในคอ
- หลีกเลี่ยงการนวด หรือบีบบริเวณคอ เพราะ อาจทำให้ก้างปลาทิ่มไปหนักกว่าเดิม
- หลีกเลี่ยง การไอ การยืดคอ เพราะ อาจทำให้ก้างปลา หลุดไปในหลอดลม เป็นอันตรายต่อหลอดอาหารได้
- อย่าปล่อยให้ก้าง ติดคอนานเกินไป เพราะ อาจจะทำให้อักเสบเป็นหนองได้
- หากคอเกิดอาหารบวม เริ่มหายใจไม่ออก ควรหยุดนำก้างออกด้วยตัวเอง และรีบไปพบแพทย์
- หากทุกทุกวิถีทางแล้ว แต่ไม่สามารถเอาก้างปลาออกจากคอได้ แถมยังรู้สึกระคายคอมากกว่าเดิม ควรไปพบแพทย์ เพราะหากทำการรักษาด้วยตนเอง อาจทำให้อาการรุนแรง และอักเสบมากกว่าเดิม
ที่มา เดลินิวส์
บทความอื่นที่น่าสนใจ
เหรียญติดคอลูก อย่าให้เด็กเล่นของชิ้นเล็ก อันตราย! เสี่ยงอุดตันทางเดินอาหาร
ปฐมพยาบาลด่วน!! เมื่อสิ่งแปลกปลอมเข้า หู ตา จมูกของลูก
อาหารติดคอเด็ก ภัยร้ายใกล้ตัว ที่ต้องคอยระแวดระวังอยู่เสมอ