การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอด เป็นเรื่องที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับคุณแม่แทบทุกคน ซึ่งสภาพร่างกายของแม่แต่ละคนนั้นแตกต่างกันไป อาการเหล่านี้จึงอาจเกิดขึ้นได้มากน้อย หากเกิดขึ้นอย่าเพิ่งตกใจนะคะ เตรียมรับมือไว้กันค่ะ
การเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลังคลอด 10 เรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้กับคุณแม่หลังคลอด
1. การบีบรัดของมดลูกเพื่อกลับสู่สภาพเดิม
การขยายตัวของมดลูกตลอด 9 เดือนที่ผ่านมาเพื่อรองรับทารกในครรภ์ ถึงเวลาที่จะกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังคลอดแล้ว ซึ่งการบีบรัดตัวของมดลูกอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บปวด 2-3 วัน และอาจเจ็บเล็กน้อยต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จนมดลูกกลับเข้าสู่เชิงกราน จากที่เคยคลำแล้วพบเจอมดลูกอยู่ราว ๆ ระดับสะดือ แต่พอหลังคลอดประมาณ 10-12 วันคลำดูอีกทีก็จะไม่เจอมดลูกจากทางหน้าท้องแล้ว ราว ๆ 5-6 สัปดาห์หลังคลอด ขนาดของมดลูกก็จะเล็กลงเท่ากับขนาดปกติ
2. แผลในช่องคลอดและแผลฝีเย็บ
สำหรับคุณแม่ที่คลอดลูกแบบธรรมชาติ ในการคลอดอาจจะถูกกรีดเพื่อช่วยสะดวกต่อการคลอดและจะทำการเย็บคืนแผลด้วยไหมละลายหรือใช้ไหมชนิดตัด ส่งผลให้แผลในช่องคลอดอาจจะบวมเล็กน้อยและทำให้รู้สึกเจ็บแผลบ้าง นั่งลำบากในช่วง 2-3 วันแรก แต่จะค่อย ๆ หายไปและหายสนิทใน 3-4 สัปดาห์หลังคลอด หลังปากมดลูกกลับคืนสภาพปกติ คุณแม่สามารถขมิบช่องคลอดบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มความกระชับ ป้องกันอาการมดลูกหย่อนหลังคลอด โดยทำสม่ำเสมอบ่อย ๆ วันละประมาณ 80-100 ครั้ง หรือเพิ่มจำนวนรอบให้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อพยุงช่องเชิงกราน อีกทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดปัสสาวะเล็ด ปัสสาวะราดในอนาคต
3. เต้านมขยายและคัดตึง
ร่างกายหลังการคลอดจะสร้างกลไกกระตุ้นให้มีน้ำนมสำหรับเจ้าตัวน้อย ไม่ต้องตกใจที่ในช่วงนี้เต้านมของคุณแม่จะมีขนาดและน้ำหนักมากเป็น 3 เท่าของเต้านมปกติ เมื่อเกิดอาการคัดตึงแก้ปัญหาง่าย ๆ ด้วยการให้ลูกดูดนมแม่ หรือปั๊มน้ำนมออกเพื่อเป็นสต๊อกนมแม่ ถ้ารู้สึกเจ็บปวดเต้านมใน 2-3 วันหลังคลอด ให้ประคบด้วยความเย็นและความร้อนสลับกันเพื่อลดความเจ็บปวด และควรเตรียมชุดชั้นในสำหรับให้นมโดยเฉพาะไว้ใส่ระหว่างวันเพื่อช่วยป้องกันการหย่อนยานและลดความเจ็บปวดจากการยืดขยายของเต้านม
4 ผนังหน้าท้องที่ดูหย่อน ๆ
อย่าเพิ่งใจร้อนไปสำหรับหน้าท้องที่เพิ่งคลอดลูกที่ยังไม่ราบเรียบเหมือนแต่ก่อน คุณแม่ควรได้ออกกำลังกายหลังคลอดร่วมด้วย เพื่อช่วยให้ผนังหน้าท้องที่ยืดหย่อนออกมากหดกระชับเข้าที่เป็นปกติ ซึ่งก็ต้องให้เวลาซักระยะนะคะ
5. ปวดท้องน้อยหลังคลอด
ในขณะที่มดลูกหดรัดตัวกลับคืนสู่สภาพปกติหลังคลอด อาจทำให้คุณแม่รู้สึกปวดท้องน้อยได้ อาการปวดนี้คล้ายกับการปวดตอนมีประจำเดือนหรือปวดเหมือนตอนเจ็บเตือนในช่วงใกล้คลอด และอาจรู้สึกปวดมากตอนที่ให้ลูกดูดนม เนื่องจากฮอร์โมนออกซีโตซินที่หลั่งออกมาจะช่วยให้มดลูกหดรัดตัวเพิ่มขึ้น
6. รู้สึกถ่ายปัสสาวะลำบาก
คุณแม่จะรู้สึกถ่ายปัสสาวะติดขัดใน 2-3 วันแรกหลังคลอด เนื่องจากช่องคลอดและบริเวณทางเดินปัสสาวะยังมีอาการบวมอยู่ สามารถแก้ปัญหาอาการนี้ได้ด้วยการขมิบกล้ามเนื้อบริเวณช่องคลอดซึ่งจะช่วยให้ถ่ายปัสสาวะได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดสังเกตมากกว่าปัสสาวะขัด รู้สึกปัสสาวะแสบและปัสสาวบ่อย มีไข้หนาวสั่นเป็นเวลานานร่วมด้วย และรู้สึกปวดหลังบริเวณใต้ชายโครง อาจทำให้น้ำปัสสาวะค้างขังอยู่นานหรือย้อนกลับขึ้นไปที่บริเวณไตจนทำให้ระบบทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ในทันที
7. ท้องผูกหลังคลอด
อาการนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ถึง 50% แม้ว่าจะคลอดทารกออกมาแล้วก็ตาม ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากกล้ามเนื้อหน้าท้องที่ยังไม่เข้าที่ทำให้ความดันในช่องท้องลดลง ประกอบกับระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์มีผลทำให้กล้ามเนื้อลำไส้คลายตัว คุณแม่หลังคลอดจึงเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย รวมถึงอาการเจ็บแผลฝีเย็บที่ทำให้คุณแม่ไม่กล้าถ่ายหรือออกแรงเบ่งเพราะกลัวเจ็บแผล วิธีง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คลายอาการท้องผูกลงได้คือกินอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด แต่มีกากใยมาก ดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อย 7-10 แก้วต่อวัน เพราะน้ำจะช่วยให้กากอาหารในลำไส้มีความอ่อนตัว สามารถเคลื่อนไปตามลำไส้ได้สะดวก ทำให้ถ่ายง่ายขึ้น อย่าไปกลัวว่าแผลจะแยก การถ่ายอุจจาระได้จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคริดสีดวงทวารด้วย
8. ริดสีดวงทวาร
คุณแม่หลังคลอดอาจมีอาการนี้เกิดขึ้นได้เนื่องจากเส้นเลือดที่บริเวณอุ้งเชิงกรานถูกกดทับจากการตั้งครรภ์และการคลอด หากพบว่ามีก้อนเนื้อนิ่ม ๆ โป่งขึ้นมาบริเวณทวารหนัก หรือมีอาการเจ็บหรือมีเลือดออกในขณะที่ถ่ายอุจจาระ ซึ่งอาจมีอาการปวดร่วมด้วย เบื้องต้นอาจประคบด้วยถุงน้ำแข็งเพื่อลดความเจ็บปวด ดื่มน้ำ กินผักผลไม้ และควรปรึกษาคุณหมอเพื่อรักษาอาการ เพื่อบางคนปวดมากอาจจำเป็นต้องใช้ครีมหรือยาเหน็บตามที่แพทย์สั่ง
9. มีน้ำคาวปลา
น้ำคาวปลาจะถูกขับออกมาจากมดลูก ไหลออกมาจากช่องคลอดจนกว่าแผลจะหาย ในระยะ 2-3 วันแรกหลังคลอด น้ำคาวปลาจะมีสีออกแดง ๆ มีปริมาณค่อนข้างมาก และค่อย ๆ ลดปริมาณลง สีจางลง เป็นสีชมพูหรือน้ำตาล และประมาณวันที่ 10 น้ำคาวปลาจะมีสีเหลืองขุ่น ๆ หรือใสและจะหมดไปในที่สุด แต่การมีน้ำคาวปลาของแม่แต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางคนอาจมีนานจนถึงเป็นเดือน และสำหรับแม่ที่ให้ลูกดูดนมระยะการมีน้ำคาวปลาก็จะสั้นลงได้ ในช่วงนี้คุณแม่ควรใช้ผ้าอนามัยซับเหมือนตอนที่มีประจำเดือนและเปลี่ยนบ่อย ๆ ทุก ๆ 3 ชั่วโมงเพื่อความสะอาด เพราะหากเกิดการหมักหมมหรือมีกลิ่นเหม็นก็จะส่งผลให้แผลฝีเย็บเกิดการอักเสบได้ง่าย
10. การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว
มาถึงตรงนี้แล้ว คุณแม่หลังคลอดเริ่มดีใจยกใหญ่เพราะหลังคลอดวันแรกน้ำหนักตัวคุณแม่ลดลงไปประมาณ 6 กิโลกรัม และน้ำหนักจะเริ่มลดลงเรื่อย ๆ เมื่อถึงวันที่คุณหมอนัดตรวจร่างกายหลังคลอดน้ำหนักคุณแม่ควรลดลงเท่ากับน้ำหนักก่อนตั้งครรภ์ หรือไม่เกิน 2-3 กิโลกรัม หากคุณแม่ที่น้ำหนักยังไม่ลงก็ควรเริ่มต้นที่จะออกกำลังกายและดูแลโภชนาการกินกันแล้วล่ะคะ
11. ผมร่วง
ภาวะผมร่วงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับแม่หลังคลอดได้ถึงร้อยละ 50 เชียวน่ะ บางคนอาจจะสังเกตเห็นว่าผมตัวเองร่วงออกมาหลังคลอด หรือ 2-3 เดือนต่อมา อย่าเพิ่งตกใจไปค่ะภาวะผมร่วงนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น และจะกลับมาสู่ปกติและมีผมใหม่ขึ้นมาแทนที่ประมาณ 6-12 เดือนหลังคลอด แต่ถ้าพบว่ามีอาการผมร่วงเยอะมากคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์นะคะ
ที่มา :medthai.com
บทความอื่นที่น่าสนใจ :
5 ของจำเป็นหลังคลอด สำหรับคุณแม่ที่ต้องการคืนรูปร่าง และฟื้นฟูร่างกาย
7 กางเกงในหลังคลอด ใส่สบาย ไม่อึดอัด ชุดชั้นในที่ดีที่สุดสำหรับคุณแม่
5 วิตามินบำรุงหลังคลอด สุดยอดอาหารเสริมของคุณแม่มือใหม่