การทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) รักษาภาวะมีบุตรยาก

การทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) หรือการเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะบลาสโตซิสต์แล้วค่อยย้ายตัวอ่อนกลับสู่มดลูก เป็นวิธีการรักษาภาวะมีบุตรยากที่เติมเต็มให้การทำเด็กหลอดแก้วสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จะมีวิธีการทำอย่างไรบ้าง เราไปดูกันดีกว่า

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) รักษาผู้มีบุตรยาก

การทำอิ๊กซี่และอิมซี่ช่วยให้เกิดการปฏิสนธิได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่สำหรับตอนที่ 7 หรือตอนสุดท้ายของซีรี่ส์มีบุตรยากนี้ขอนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องการทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์ (Blastocyst Culture) หรือการเลี้ยงตัวอ่อนจนถึงระยะบลาสโตซิสต์แล้วค่อยย้ายตัวอ่อนกลับสู่มดลูก ซึ่งจะช่วยให้อัตราการตั้งครรภ์สูงยิ่งขึ้นไปอีก

การทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์

การทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์คือการเพาะเลี้ยงตัวอ่อนที่ได้รับการผสมแล้วไปอีกห้าวันเพื่อให้ได้ตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสต์มา แล้วจึงค่อยย้ายตัวอ่อนเข้าไปสู่โพรงมดลูกให้ฝังตัวเป็นทารกต่อไป

หลักการทำจะคล้าย ๆ กับการทำเด็กหลอดแก้วทั่ว ๆ ไป คือ มีการกระตุ้นไข่ ใช้อัลตราซาวนด์ตรวจเพื่อกำหนดวันเจาะไข่ผ่านช่องคลอด หลังจากเจาะไข่แล้วก็นำมาผสมกับตัวอสุจิที่ได้รับการคัดเลือกแล้ว ในที่นี้ตัวอสุจิอาจได้รับการคัดเลือกผ่านการทำอิ๊กซี่ก็ได้ เมื่อเกิดการปฏิสนธิก็จะเลี้ยงตัวอ่อนไปอีกห้าวันในห้องปฏิบัติการจนได้ตัวอ่อนในระยะบลาสโตซิสต์ จากนั้นแพทย์จะใส่ตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูกผ่านการสอดท่อเข้าช่องคลอด เมื่อผ่านไปแล้วราว 14 วันก็สามารถตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมนตรวจผลการตั้งครรภ์ได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ข้อดี

โดยปกติเมื่อทำเด็กหลอดแก้ว หลังจากเก็บไข่ออกมาแล้วจะมีการแยกก่อนว่าไข่ใบไหนโตเต็มที่พร้อมสำหรับการผสมกับอสุจิ จากนั้นจึงนำไปผสมให้ได้มาเป็นตัวอ่อน ตัวอ่อนที่ได้จะพัฒนาไปจนถึงระยะที่มี 8 เซลล์ แต่ไม่ใช่ตัวอ่อนทั้งหมดจะสามารถเจริญเติบต่อพ้นช่วงนี้ไปได้

ดังนั้น การทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์เป็นการเพาะเลี้ยงและตรวจสอบให้แน่ใจว่าตัวอ่อนสามารถเจริญพ้นระยะ 8 เซลล์ กลายเป็นบลาสโตซิสต์ ซึ่งจะช่วยให้ได้ตัวอ่อนที่มีความพร้อมมากกว่าสามารถฝังตัวในโพรงมดลูกและเจริญต่อไปเป็นทารกเมื่อได้รับการย้ายกลับไปที่มดลูก การทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์จึงช่วยให้อัตราการตั้งครรภ์สูงขึ้น อีกทั้งแพทย์สามารถตรวจความผิดปกติของตัวอ่อนและเลือกตัวอ่อนที่มีคุณภาพดีสำหรับการเจริญในโพรงมดลูกได้อีกด้วย

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ค่าใช้จ่าย

ข้อดีที่เพิ่มมาก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการทำบลาสโตซิสต์ คัลเจอร์จะเพิ่มขึ้นมาจากการทำเด็กหลอดแก้วปกติประมาณ 10,000-12,000 บาทแล้วแต่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชนซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่านี้แตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมานี้คือค่าใช้ห้องปฏิบัติการสำหรับการเลี้ยงตัวอ่อนให้นานขึ้น แต่หากทำอิ๊กซี่ควบคู่ไปด้วยก็จ่ายเพิ่มอีกราว 10,000-12,000 บาทสำหรับค่าทำอิ๊กซี่ บางโรงพยาบาลก็จะคิดค่าบริการเหล่านี้ไปกับการทำเด็กหลอดแก้วไปเลย สำหรับค่าใช้จ่ายในการทำเด็กหลอดแก้วและอิ๊กซี่ขอให้ย้อนกลับไปดูในตอนที่เคยนำเสนอไปแล้ว

สุดท้ายนี้ ไม่ว่าคุณทั้งสองต้องใช้วิธีใดบ้างก็ขอให้โชคดีและได้มีเจ้าตัวน้อยที่มีสุขภาพแข็งแรงมาเชยชมกันให้สมใจนะครับ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

กลับสู่หน้าหลักเข้าใจหลักการรักษาภาวะมีบุตรยาก

ทางเลือกเมื่อมีลูกไม่ได้