แม่ท้องอยากรู้! เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน ต่างกับเจ็บจริงยังไงบ้าง ?

undefined

แม่ท้องหลายคนยังสับสน ระหว่างอาการเจ็บท้องเตือน กับเจ็บท้องคลอดจริง ว่าเหมือนหรือต่างกันยังไง เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน มาดูคำตอบค่ะ

ในช่วงที่กำหนดคลอดใกล้เข้ามาทุกที คุณแม่ตั้งครรภ์หลายคนคงเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย โดยเฉพาะอาการ “เจ็บท้อง” ที่มักชวนให้เกิดความสงสัยว่าสัญญาณการเจ็บท้องที่เกิดขึ้นนั้น แค่ “เจ็บท้องเตือน” หรือจะคลอดจริงกันแน่? บทความนี้จะพาคุณแม่ไปสังเกต และทำความเข้าใจว่า เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน ตอนไหน ต่างกับเจ็บท้องคลอดจริงยังไงบ้าง เพื่อให้คุณแม่เตรียมตัวคลอดได้อย่างมั่นใจและไม่ตื่นตระหนกจนเกินไปค่ะ

เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน

เจ็บท้องเตือน คืออะไร? เจ็บตรงไหน

เจ็บท้องเตือน (Braxton Hicks Contractions) คือ อาการเจ็บท้องจากการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูกที่ไม่สม่ำเสมอ ไม่รุนแรง และไม่ทำให้ปากมดลูกเปิด เป็นอาการที่พบได้ทั่วไปในช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ค่ะ แม้อาการจะคล้ายกับอาการเจ็บท้องคลอด แต่การเจ็บท้องเตือนก็ไม่ได้เป็นสัญญาณบอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดนะคะ ซึ่งลักษณะเจ็บท้องเตือนจะต่างจากเจ็บท้องจริง และอาการมักหายได้เองในเวลาสั้นๆ ค่ะ เจ็บท้องเตือนจึงเป็นเสมือนการที่ร่างกายของคุณแม่กำลังฝึกซ้อมมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดจริงนั่นเอง

โดยอาการเจ็บท้องเตือนนี้อาจเกิดจากทารกดิ้นแรง ภาวะขาดน้ำ คุณแม่ทำงานหนัก มีปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะ หรืออาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยที่ทำให้คลื่นไส้และอาเจียน ก็เป็นไปได้เช่นกันค่ะ

 

เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน กันนะ?

เมื่อไม่ใช่สัญญาณเตือนของการคลอดจริงๆ แล้ว เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน กันนะ? ซึ่งอาการเจ็บท้องเตือน มักจะเริ่มในช่วงตั้งครรภ์เดือนที่ 8 โดยมดลูกจะขยายตัวและเคลื่อนต่ำลงในช่วงใกล้คลอด คุณแม่จึงสามารถคลำสัมผัสที่หน้าท้องได้ว่ามีลักษณะเป็นก้อนแข็งๆ มดลูกมีการบีบตัวเป็นจังหวะไม่แน่นอน ปวดตึงบริเวณท้องน้อยเป็นระยะเวลาสั้นๆ ไม่สม่ำเสมอ เป็นๆ หายๆ ซึ่งสัญญาณของอาการเจ็บท้องเตือนมักจะเป็นดังนี้ค่ะ

  • มีอาการท้องแข็ง หรือมีอาการปวดบีบคล้ายปวดประจำเดือน มักปวดแค่บริเวณท้องน้อย
  • อาการเจ็บไม่สม่ำเสมอ ไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน โดยทั่วไปจะมีอาการในช่วงสั้นๆ ไม่เกิน 30 วินาทีไปจนถึง 2 นาทีแล้วหายไป
  • ระยะห่างของการเกิดอาการแต่ละครั้งใกล้เคียงกัน ไม่ถี่ขึ้น
  • ความรุนแรงของอาการเท่าๆ เดิมหรือปวดน้อยลง ไม่ปวดรุนแรงขึ้น
  • อาการมักดีขึ้นเมื่อได้เปลี่ยนท่าทาง

ส่วนอาการเจ็บท้องคลอดนั้น มักเริ่มจากบริเวณกลางหลังลามไปยังหน้าท้อง อาการปวดมักเป็นอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 30–90 วินาที โดยจะปวดนานและปวดรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และมักไม่ดีขึ้นแม้จะนั่งพักหรือกินยาแก้ปวด นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่นที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้คลอด เช่น มีมูกหรือเลือดไหลออกจากช่องคลอด และน้ำเดิน

เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน ต่างกับเจ็บจริงยังไงบ้าง  

จะรู้ได้ไง? ว่า “เจ็บท้องเตือน” หรือ “เจ็บท้องคลอดจริง”

การแยกความแตกต่างระหว่าง เจ็บท้องเตือน และ เจ็บท้องคลอดจริง เป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ใกล้คลอดควรทราบนะคะ เพื่อที่จะสามารถสังเกตอาการและไปโรงพยาบาลได้ทันท่วงทีเมื่อถึงเวลาคลอดจริง ลองสังเกตความแตกต่างเหล่านี้ดูค่ะ

ลักษณะอาการ เจ็บท้องเตือน (Braxton Hicks) เจ็บท้องคลอดจริง (True Labor)
ตำแหน่งความเจ็บ เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน ? จะเจ็บทั่วๆ ท้อง หรือท้องน้อยค่ะ ไม่เจาะจง เริ่มจากหลังแล้วร้าวมาหน้าท้อง หรือเจ็บทั่วท้องน้อย
ความสม่ำเสมอ ไม่สม่ำเสมอ ไม่มีรูปแบบแน่นอน สม่ำเสมอมากขึ้นเรื่อยๆ
ความถี่ นานๆ ครั้ง หรือเกิดขึ้นติดๆ กันแล้วหายไป ถี่ขึ้นเรื่อยๆ ระยะห่างสั้นลง
คววามรุนแรง ไม่รุนแรง ไม่เพิ่มขึ้น รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ระยะเวลา สั้น (30 วินาที – 2 นาที) นานขึ้นเรื่อยๆ
การบรรเทา อาการหายไปเมื่อเปลี่ยนท่าทาง พักผ่อน หรือดื่มน้ำ ไม่หายไป แม้จะเปลี่ยนท่าทาง
อาการร่วมอื่นๆ อาจไม่มี หรือมีแค่ท้องแข็งอาจมีมูกเลือดออก น้ำเดิน ปากมดลูกเปิด

 

แม่ท้องต้องทำยังไงเมื่อมีอาการ

เมื่อคุณแม่รู้สึกเจ็บท้อง สิ่งแรกที่ควรทำคือการตั้งสติและสังเกตลักษณะอาการอย่างละเอียดค่ะ โดยอาจลองจับเวลาความถี่และความนานของการหดรัดตัว เปลี่ยนท่าทาง พักผ่อน หรือดื่มน้ำ หากอาการดีขึ้นและไม่เข้าข่ายอาการเจ็บท้องคลอดจริง ก็พอจะคาดเดาได้ว่าอาจเป็นแค่เจ็บท้องเตือนค่ะ

 

อาการที่บอกว่า “ใกล้คลอด”

เมื่อถึงช่วงใกล้คลอด ร่างกายคุณแม่จะส่งสัญญาณเตือนให้รู้ ซึ่งต้องสังเกตให้ดีว่าเป็นอาการเจ็บท้องเตือน หรือเจ็บท้องจริง ดังนี้ค่ะ

  1. มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด ปกติปากมดลูกของคุณแม่ตั้งครรภ์จะมีมูกเลือดป้องกันสิ่งแปลกปลอม เมื่อใกล้คลอดปากมดลูกเริ่มเปิดและขยาย ทำให้เส้นเลือดที่บริเวณปากมดลูกมีการแตก จึงมีมูกเลือดไหลออกมา
  2. ถุงน้ำคร่ำแตก หรือ น้ำเดิน แสดงว่ามดลูกเริ่มบีบตัวหดเล็กลงเพื่อบีบให้ศีรษะของทารกเคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน น้ำที่ออกมาจะเป็นลักษณะใสๆ ไม่มีกลิ่น โดยอาการน้ำเดินมีโอกาสมากถึง 80% ที่จะคลอดภายใน 12 ชั่วโมงค่ะ หากมีอาการนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
  3. เจ็บท้องคลอด จะรู้สึกว่าเริ่มเจ็บที่ส่วนบนของมดลูกก่อน แล้วเจ็บร้าวลงไปข้างล่าง ท้องแข็งตึง ส่วนใหญ่มักจะมีมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดมากขึ้น

เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน ทำไงดี

เจ็บท้องแบบไหนควรไปโรงพยาบาล

แม้ว่าเจ็บท้องเตือนจะเป็นเรื่องปกติ แต่คุณแม่ควรไปโรงพยาบาลทันทีหากมีอาการดังต่อไปนี้นะคะ

  • เจ็บท้องถี่ขึ้น สม่ำเสมอ และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
  • มีน้ำเดิน (รู้สึกเหมือนมีน้ำคร่ำไหลออกมา)
  • มีมูกเลือดออก (ตกขาวมีเลือดปน)
  • ลูกดิ้นน้อยลง หรือไม่ดิ้นเลย
  • มีเลือดออกทางช่องคลอด
  • รู้สึกกังวลหรือไม่แน่ใจในอาการ

 

การทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการเจ็บท้องเตือน เรียนรู้ลักษณะอาการ เจ็บท้องเตือนเจ็บตรงไหน อย่างไร จะช่วยให้คุณแม่ใกล้คลอดคลายความกังวลและสามารถสังเกตอาการของตนเองได้อย่างแม่นยำ ซึ่งการเตรียมความรู้และความพร้อมจะช่วยให้คุณแม่เผชิญกับการคลอดได้อย่างมั่นใจและปลอดภัยนะคะ

 

ที่มา : www.nakornthon.com , www.pobpad.com , www.bnhhospital.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

คนท้องปวดก้นกบ ทำยังไงดี? 6 วิธีบรรเทาอาการปวดก้นกบแม่ตั้งครรภ์

คนท้องแขม่วท้องได้ไหม อันตรายหรือเปล่า อยากให้พุงยุบไวต้องทำยังไง

คนท้องห้ามไปงานแต่ง จริงหรือ? ชวนดู 8 ข้อห้ามคนท้อง ที่คุณแม่ต้องใส่ใจ

 

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!