คุณพ่อคุณแม่ ควรจะ พาลูกออกนอกบ้านได้ตอนกี่เดือน ? คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเอาใจใส่ต่อการดูแลทารกแรกเกิดที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูง เพราะช่วงแรกเกิดของทารกเป็นช่วงที่ร่างกาย อวัยวะของลูกยังมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้อาจเกิดความผิดปกติต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพาลูก ออกนอกบ้าน ในวัยที่อายุต่ำกว่าหนึ่งเดือน ไปในสถานที่ที่มีคนมาก จะมีโอกาสทำให้เด็กอ่อนติดเชื้อได้ง่าย
พาลูกออกนอกบ้านได้ตอนกี่เดือน ?
ในช่วงที่ลูกยังอยู่ในครรภ์จะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ทางสายสะดือ ซึ่งภูมิคุ้มกันจากส่วนนี้ที่ได้รับจากแม่เมื่อแรกคลอดทารกจะมีเกือบสูงเท่าของผู้ใหญ่ แต่จะค่อย ๆ ลดลงภายใน 2 – 3 เดือน เพราะทารกไม่ได้เชื่อมต่อกับแม่ทางสายสะดือแล้ว โดยลูกจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันของตนเองเสริม และรับผ่านจากทางน้ำนมแม่ ดังนั้นสำหรับทารกในช่วง 3 เดือนแรกหลังจากคลอด จึงเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันต่ำสุดตามพัฒนาการ และไม่ควรพาลูกออกนอกบ้านเลยในระยะนี้ เมื่อลูกอายุอยู่ในช่วง 4 – 6 เดือนแล้ว ผู้ปกครองจึงสามารถพาลูกออกมาข้างนอกบ้านได้ แต่ก็ต้องเตรียมตัวให้ดีด้วย โดยเฉพาะคาร์ซีท หากมีรถยนต์ส่วนตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : แนะนำ 10 คาร์ซีทงบประหยัด ปี 2023 ราคาดี มีคุณภาพ คาร์ซีทยี่ห้อไหนดี ?
วิดีโอจาก : Babygiftretail
5 สิ่งเตรียมให้พร้อมก่อนพาลูกออกจากบ้าน
แต่ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบัน และการดำเนินชีวิตของหลายครอบครัวที่การเลี้ยงลูกอาจไม่มีตัวช่วยมากนัก ไม่สามารถฝากใครดูแลลูกได้ การออกไปจับจ่ายซื้อของ หรือการเดินทางจึงจำเป็นต้องพาทารกออกจากบ้านไปพร้อมกัน ซึ่งนั้นก็คือสิ่งที่พ่อแม่ควรเตรียมให้พร้อมหากมีความจำเป็นเมื่อจะพาลูกอ่อนออกนอกบ้าน เพราะทารกนั้นเปราะบางมาก หากไม่ระวัง ลืมของเพียงเล็กน้อย อาจส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด ดังนั้นสิ่งที่ผู้ปกครองไม่ควรลืมเลยก็คือ การเลือกเวลาเดินทางให้เหมาะสม, อุปกรณ์ที่จำเป็นของทารก และคุณแม่, การเลือกสถานที่เดินทาง และคาร์ซีท โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. เลือกเวลาเดินทาง
ควรพิจารณาการเดินทางในเวลาที่เหมาะสม เช่น อาจเลือกเวลาใกล้ ๆ กับเวลานอนของลูกในระหว่างเดินทาง เพื่อให้ลูกได้มีเวลาพักผ่อนได้มากที่สุด เพราะทารกวัยแรกเกิด ยังไม่สามารถรับรู้อะไรได้มากนักเกี่ยวกับสิ่งรอบตัว หรือสิ่งแวดล้อมภายนอก นอกจากการนอนเป็นสำคัญ หากทารกนอนได้อย่างเพียงพอ ไม่ถูกรบกวน ก็ส่งผลดีต่อพัฒนาการของทารกเองด้วย
2. อุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับลูกน้อย
อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับทารก และแม่ให้นมนั้นสำคัญมาก เพื่อไม่ให้การอยู่นอกบ้านเป็นปัญหาในภายหลัง ตัวอย่างเช่น ของใช้จำเป็นสำหรับลูก รถเข็น ของเล่นเด็ก ยาของลูก ผ้าคลุมให้นม ทิชชูเปียก และเสื้อผ้าสำรอง เป็นต้น จัดเตรียมให้พร้อม และตรวจสอบทุกครั้ง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ให้นมลูกนอกบ้าน รวมเทคนิคเตรียมตัว และการเลือกสถานที่
3. คอยสังเกตความผิดปกติของทารก
เพราะร่างกายของเด็กเล็กยังไม่สามารถปรับตัวได้ดี ลูกอาจจะมีอาการงอแง หรือหงุดหงิดแสดงออกมาได้ อันเกิดจากความไม่สบายตัว จากการนอนบนรถที่มีการสั่น หรือส่ายไปมา หรือเพราะลูกน้อยอาจหิว เป็นต้น คุณแม่ต้องคอยสังเกตอาการของลูกน้อย หรือคอยดูชั่วโมงการให้นมให้ดีด้วย และท่าทางการนอนของลูกให้เป็นอย่างดี
4. การเลือกสถานที่เดินทางต้องคำนึงถึงลูก
หากจำเป็นต้องพาลูกเล็กเดินทางไกล หรือไปพักผ่อน การเลือกที่พักโดยมีลูกน้อยไปด้วยควรเป็นโรงแรม หรือห้องพักที่ปลอดภัยพอสำหรับเด็กเล็ก เป็นต้นอย่างไรก็ตาม ช่วงอายุน้อยที่สุดที่พาลูกออกนอกบ้านได้ คือประมาณ 4 – 6 เดือนขึ้นไป เพราะลูกเริ่มมีความพร้อมทางร่างกาย และอารมณ์ ที่พอจะรู้เรื่อง และผ่านการได้รับวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกันมาบ้างแล้ว เมื่อมีความจำเป็นที่ต้องพาทารกออกนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด หรือมีคนมาก และควรให้ลูกอ่อนใช้เวลานอกบ้านให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ดีกว่านะ
5. คาร์ซีท ทารกแรกเกิด
รศ. พญ. รวีรัตน์ สิชฌรังษี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ และภูมิคุ้มกัน ได้ให้คำแนะนำเรื่อง คาร์ซีท ทารกแรกเกิด ว่า ทารกแรกเกิด จนถึงอย่างน้อยอายุ 2 – 4 ปี ควรใช้ car seat สำหรับเด็กเล็กเป็นที่นั่งแบบปรับให้หันหน้าไปด้านหลังรถ (Rear-facing car seat) เดิม car seat แบบนี้ แนะนำให้ใช้จนถึงอายุ 2 ปี แต่ในการศึกษาวิจัยในปัจจุบันแนะนำให้เด็กนั่ง car seat แบบหันหน้าไปด้านหลังรถให้นานที่สุดจนกว่าอายุ 4 ปี หรือตัวโตจนความสูงเกินขนาดของ car seat ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสเกิดการหักของกระดูกต้นคอหากเกิดอุบัติรุนแรง
คำแนะนำการใช้คาร์ซีท
- ปรับตำแหน่งสายเข็มขัดนิรภัยของรถยนต์ให้พอดีกับลำตัวเด็กเสมอ เพื่อกระจายแรงกระแทก ตำแหน่งของเข็มขัดนิรภัยต้องเหมาะสมกับตัวเด็ก โดยตำแหน่งของเข็มขัดนิรภัยที่เหมาะสมกับตัวเด็ก คือ สายพาดเฉียงข้ามไหล่ ต้องอยู่ในตำแหน่งกึ่งกลางของไหล่ด้านที่สายพาดผ่านกึ่งกลางหน้าอก ห้ามพาดอยู่บนคอของเด็ก ส่วนสายพาดบริเวณหน้าตัก ต้องอยู่ต่ำ และพาดผ่านส่วนบนของโคนขา ห้ามพาดอยู่บนสะโพกของเด็ก (หากสายพาดเฉียงข้ามไหล่พาดผ่านหัว หรือหน้าเด็ก หรืออยู่สูงกว่าตัวเด็ก หรือสายพาดบริเวณหน้าตักพาดอยู่บนท้องเด็ก แสดงว่าเด็กคนนั้นยังไม่สามารถใช้สายเข็มขัดนิรภัยปรกติที่มีใน รถยนต์โดยไม่ต้องใช้ booster seat ได้ซึ่งอันตรายมากค่ะ)
- การติดตั้งคาร์ซีทที่ถูกต้องสำหรับเด็ก คือ อยู่ที่เบาะหลัง ซึ่งเป็นตำแน่งที่ปลอดภัยกว่าเบาะหน้า และหากวางไว้ที่เบาะหน้าอาจจะได้รับอันตรายจากถุงลมนิรภัยกระแทกได้
- การใช้ car seat มือสอง สามารถทำได้ แต่ควรเลือกให้เหมาะสม อย่าใช้อันที่มีอายุการใช้งานนานเกินไป โดยเฉลี่ยไม่ควรเกิน 5 – 6 ปี โดยควรเช็คดูโครงสร้างปกติ อุปกรณ์ต่าง ๆ มีอยู่ครบถ้วน
ก่อนออกจากบ้าน การเตรียมความพร้อมให้กับทารก โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความจำเป็น คุณแม่อาจทำเป็นลิสต์ออกมา เพื่อตรวจสอบได้ง่ายทุกครั้งก่อนพาทารกออกไปด้วย ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจเช่นกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
10 เรื่องที่แม่ลูกอ่อนควรเตรียมก่อนพาทารกออกนอกบ้านเที่ยวแบบไร้กังวล
6 ข้ออย่าพลาดก่อนเลือกซื้อรองเท้าให้ลูก และ ไซส์รองเท้าเด็ก คร่าว ๆ
10 คาร์ซีทที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย ระบบ Isofix และ Belt พร้อมวิธีเลือกซื้อ
ที่มา : babycenter, lamaze