ทารกมองเห็นตอนไหน จะรู้ได้ยังไงว่าลูกมองเห็น พัฒนาการสายตาแบบไหนผิดปกติ

ดวงตาและความสามารถในการมองเห็นของลูกน้อยเป็นสิ่งสำคัญค่ะ วันนี้จะพาคุณแม่มาไขข้อข้องใจเรื่องพัฒนาการด้านสายตาของทารกกัน

พัฒนาการทางสายตาของลูกน้อยเป็นเรื่องที่น่าสนใจและมีความสำคัญอย่างยิ่งค่ะ แต่เคยสงสัยกันไหมคะว่า โลกใบใหม่ที่สายตาลูกน้อยมองเห็นเป็นยังไง ทารกมองเห็นตอนไหน ลูกน้อยสามารถมองเห็นอะไรได้บ้างตั้งแต่แรกเกิด แล้ว… จะรู้ได้ยังไงว่าลูกมองเห็น พัฒนาการสายตาทารก แบบไหนผิดปกติ บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปสำรวจโลกแห่งการมองเห็นของลูก พร้อมวิธีการกระตุ้นพัฒนาการสายตาของลูกอย่างเต็มที่ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแรงสมวัย

ทารกมองเห็นตอนไหน

ทารกมองเห็นตอนไหน พัฒนาการสายตาทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ทารกมองเห็นตอนไหน อย่าตกใจนะคะถ้าจะตอบว่า ทารกน้อยเริ่มมองเห็นตั้งแต่แรกเกิดจนความสามารถในการมองพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 12 เดือน เพียงแต่ในช่วงแรกเกิดหรือสัปดาห์แรกของชีวิตนั้นลูกน้อยอาจมองเห็นได้ไม่ชัดนัก มุมมองแรกของลูกที่มีต่อโลกจะมีเพียงเฉดสีเทาเท่านั้น แต่ทักษะด้านการมองเห็นจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามการเจริญเติบโตตามวัย โดยเฉพาะวัตถุที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ หรือของเล่นที่มีสีสันสดใส อย่างไรก็ตาม ระบบสายตาของทารกยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีแรก

จะรู้ได้ยังไงว่าลูกมองเห็น สัญญาณที่บอกว่าลูกน้อยมองเห็น

จ้องมองใบหน้า ทารกจะชอบจ้องมองใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ หรือของเล่นที่มีสีสันสดใส
ตามองตามวัตถุ เมื่อมีวัตถุเคลื่อนไหวผ่านไป ทารกจะหันตามอง
เบิกตาโตเมื่อเห็นแสง แสงสว่างจะดึงดูดความสนใจของลูกน้อยได้
ตอบสนองต่อการสัมผัส เมื่อคุณแม่แตะเบาๆ ที่แก้ม ลูกน้อยจะหันหน้าตาม

ทารกมองเห็นตั้งแต่แรกเกิด

พัฒนาการสายตาทารก แต่ละช่วงวัย

ในช่วงเดือนแรกนั้นดวงตาของลูกน้อยจะไม่ไวต่อแสงมากนักค่ะ และจะเริ่มพัฒนาการมองเห็นเป็นสีได้เร็วมาก โดยหลังคลอดหนึ่งสัปดาห์จะเห็นเป็นสีแดง ส้ม เหลือง และเขียว หลังจากนั้นจะค่อยๆ พัฒนาจนสามารถมองเห็นสีน้ำเงินและสีม่วงได้ เนื่องจากแสงสีฟ้ามีความยาวคลื่นสั้นกว่าและมีตัวรับสีน้อยกว่าในจอตาของมนุษย์ ลูกจึงมองเห็นสีโทนนี้ได้ช้ากว่าค่ะ

กระทั่งเข้าสู่เดือนที่ 2 และ 3 ลูกจะมีพัฒนาการระดับสายตาที่คมชัดขึ้น สายตาเริ่มขยับได้ดีขึ้น สามารถมองตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ นอกจากนี้ยังมีการเรียนรู้วิธีเปลี่ยนการจ้องมองจากวัตถุหนึ่งไปยังอีกวัตถุหนึ่งโดยไม่ต้องขยับศีรษะได้ และดวงตาจะไวต่อแสงมากขึ้น โดยลูกจะสามารถมองเห็นได้ชัดเจนขึ้น ขยับตาได้เร็วและแม่นยำขึ้น รวมทั้งมีการทำงานประสานระหว่างมือและตาที่ดีขึ้น ค้นหาและหยิบสิ่งของได้อย่างรวดเร็ว (แน่นอนค่ะว่าของที่หยิบ ลูกจะนำเข้าปากได้เร็วมากด้วย) และสามารถมองเห็นสีของรุ้งได้ครบทั้งหมดในช่วงวัย 6 เดือน

สำหรับ พัฒนาการสายตาทารก ช่วงวัย 7-12 เดือน เมื่อลูกน้อยสามารถเคลื่อนที่ด้วยการคลานลูกจะเริ่มกะระยะทางของสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น จับและขว้างได้แม่นยำขึ้นด้วยค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะรับรู้ได้เลยว่าในช่วงวัยนี้ลูกน้อยจะรับรู้ความสามารถของร่างกายโดยรวมได้ดีขึ้น และเป็นช่วงเรียนรู้วิธีประสานการมองเห็นกับการเคลื่อนไหวของร่างกายได้ดีขึ้นมากค่ะ

ระยะให้นม คือระยะที่ทารกมองเห็นได้

พัฒนาการด้านการมองเห็นของทารก

ช่วงอายุ พัฒนาการด้านการมองเห็น สิ่งที่สังเกตได้
แรกเกิด – 1 เดือน
  • มองเห็นวัตถุที่อยู่ใกล้ประมาณ 8-12 นิ้ว หรือระยะห่างจากหน้าแม่ในขณะกินนม
  • เห็นเพียงสีดำ ขาวและเทาเท่านั้น
  • ชอบมองใบหน้า
  • เริ่มตอบสนองต่อแสงจ้องมองใบหน้าคุณพ่อคุณแม่
  • เริ่มมีอาการตาเหล่ เนื่องจากดวงตาแต่ละข้างยังแยกกันทำงาน และประสานงานกันได้ยังไม่ดีนัก
  • เบิกตาโตเมื่อเห็นแสงสว่าง
2-4 เดือน
  • ติดตามวัตถุที่เคลื่อนไหวได้ดีขึ้นมองเห็นสีได้ชัดเจนขึ้น
  • จดจำหน้าคนที่อยู่ด้วยบ่อยๆ ได้
  • เริ่มควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตาได้ดีขึ้น
  • กลอกตาไปมาได้อย่างอิสระ
  • ตามองตามของเล่นที่เคลื่อนไหว
  • จับจ้องสีสันสดใส
4-6 เดือน
  • ดวงตาทำงานได้สมบูรณ์ขึ้น เริ่มหายจากอาการตาเหล่
  • มองเห็นระยะทางได้ไกลขึ้น
  • มองเห็นภาพสามมิติได้
  • เริ่มเข้าใจความลึกของภาพ
  • ระดับการมองเห็นชัดเจนขึ้น ใกล้เคียงกับการมองเห็นของผู้ใหญ่
  • มือเอื้อมจับถึงของเล่น
  • เล่นซ่อนหาสิ่งของได้
6-12 เดือน
  • สายตาพัฒนาเต็มที่
  • สามารถมองเห็นวัตถุได้ชัดเจน
  • เริ่มจับคู่สีและรูปทรงได้
  • สามารถใช้ทั้งศีรษะและสายตาหันมองวัตถุที่เคลื่อนไหวไปรอบๆ ได้
  • หันศีรษะตามคนที่เดินผ่านได้
  • ชี้ไปยังสิ่งที่สนใจ
  • จับของเล่นได้แม่นยำขึ้น

 

เทคนิคกระตุ้นการมองเห็นของลูกแต่ละวัย

เมื่อรู้แล้วว่า ทารกมองเห็นตอนไหน ต่อไปนี้คือเทคนิคกระตุ้นการมองเห็นของลูกแต่ละวัย ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปปรับใช้เพื่อช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านสายตาและการมองเห็นของลูกให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสมวัยค่ะ

ช่วงวัย 1 เดือนแรก:

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยกระตุ้นการมองเห็นของลูกน้อยได้ด้วยการใช้สีสันสดใสตกแต่งห้อง อาจเลือกสิ่งของที่มีสีและรูปทรงที่ตัดกัน เช่น แขวนโมบายล์สีสดไว้ด้านบนหรือใกล้กับเตียงนอนของลูก

ทารกวัย 2-4 เดือน:

ลองเพิ่มสิ่งของใหม่ๆ เข้าไปในห้องนอนของลูก หรือเปลี่ยนตำแหน่งเตียงบ่อยๆ เพื่อให้สายตาของลูกน้อยได้มองเห็นสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ สามารถเปิดไฟตอนกลางคืนเพื่อกระตุ้นการมองเห็นของลูกน้อยได้

อายุ 4-12 เดือน:

เป็นช่วงที่สายตาของลูกพัฒนามากขึ้น ดังนั้น อาจกระตุ้นการตอบสนองทางสายตาของลูกด้วยการชวนพูดคุย อ่านหนังสือให้ลูกฟัง ซึ่งภาพประกอบในหนังสือจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางสายตา นอกจากนี้ยังสามารถกระตุ้นพัฒนาการของการประสานระหว่างตากับมือและร่างกายของลูกได้ โดยปล่อยให้ลูกคลานไปหาสิ่งของหรือของเล่นชิ้นโปรดที่คุณพ่อคุณแม่วางไว้บนพื้น และเมื่อเข้าสู่ช่วงวัย 12 เดือน ก็อาจจัดหาของเล่นประเภทที่แยกชิ้นส่วนและประกอบเข้าด้วยกันได้มาให้ลูกเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการได้

เทคนิคกระตุ้นการมองเห็นของทารก

ทารกมีพัฒนาการสายตาแบบไหนผิดปกติ และควรพบแพทย์

ดวงตาของลูกน้อยต้องใช้เวลา 2-3 เดือนในการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันทั้ง 2 ข้าง แต่หากคุณแม่สังเกตเห็นอาการต่อไปนี้ในลูกน้อย ควรพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจค่ะ

  • รู้สึกว่าดวงตาข้างใดข้างหนึ่งของลูกน้อยอยู่ในแนวที่ไม่ตรงอยู่ตลอดเวลา หรือไม่ขยับประสานกับตาอีกข้าง
  • ตาเหล่ ตาเข ตาเอียง คือ ดวงตาลูกน้อยไม่มองไปในทิศทางเดียวกัน หรือดวงตาเบนเข้าหากัน หรือดวงตาเบนออกด้านข้าง
  • ลูกกลัวแสง ร้องไห้เมื่อถูกแสงสว่าง
  • มีอาการตาเหลือง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของโรคตับ

ทั้งนี้ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด มีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสายตามากกว่าทารกที่มีอายุครบกำหนด โดยอาจมีความผิดปกติของจอตา เนื่องจากมีการแทนที่เนื้อเยื่อปกติในจอตาด้วยเนื้อเยื่อเส้นใยและหลอดเลือดที่ผิดปกติ จนอาจทำให้เกิดแผลเป็นที่จอตา การมองเห็นไม่ดี และจอตาลอก ซึ่งในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดภาวะจอตาเสื่อมก่อนกำหนดจนทำให้ตาบอดได้

สัญญาณเตือนพัฒนาการสายตาลูกผิดปกติ

สัญญาณเตือน! พัฒนาการสายตาทารก ผิดปกติ

  • อายุได้ 2 เดือนแล้ว แต่ลูกน้อยยังไม่มีการตอบสนองอย่างกระตือรือร้นเมื่อมีคนมามองหน้าใกล้ๆ หรือไม่ตอบสนองเมื่อเห็นแสงที่ส่องผ่านวัตถุ
  • ลูกน้อยหันไปให้ความสนใจสิ่งอื่นอย่างกะทันหันในระหว่างที่กำลังมองหน้าคุณแม่อยู่
  • ทารกยังคงมีอาการตาเหล่ แม้จะล่วงเข้า 4 เดือนแล้ว
  • ลูกน้อยขยับลูกตาไปมาอย่างรวดเร็ว ไม่อยู่นิ่ง และตากระตุก
  • แก้วตา หรือเลนส์ตาของลูกน้อยมีลักษณะขุ่นขาว ตาวาว อาจสังเกตได้จากในรูปถ่าย
  • ลูกไม่ค่อยสบตาเวลาคุณพ่อคุณแม่คุยเล่นด้วย

 

แม้ลูกจะเริ่มมองเห็นตั้งแต่แรกเกิด แต่ความจริงแล้วพัฒนาการด้านการมองเห็นของลูกเริ่มตั้งแต่ก่อนคลอดค่ะ ดังนั้น การดูแลร่างกายของคุณแม่ในระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น คุณแม่จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของสูตินารีแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งในเรื่องโภชนาการและการพักผ่อนตั้งแต่ตอนท้อง เมื่อคลอดแล้วก็ควรสังเกตพัฒนาการสายตาของลูกน้อยสม่ำเสมอ พาลูกไปตรวจสุขภาพตาเป็นประจำ เลือกรูปแบบของเล่นที่เหมาะสมกับวัยให้ลูก แล้วอย่าลืมพาลูกรับแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าเพื่อช่วยในการผลิตวิตามินดีซึ่งมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพของดวงตานะคะ

 

 

ที่มา : www.allaboutvision.com , hellokhunmor.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ลูก 1 เดือน กินนมแม่ แต่ไม่ถ่ายหลายวัน ท้องผูกรึเปล่า ผิดปกติไหม

ไอเท็มบำรุงน้ำนม หาได้ใน 7-11 น้ำนมไหลง่ายด้วยเมนูสะดวกซื้อ

ลูกชอบโยนของ รับมือยังไง ? พร้อมแชร์เคล็ดลับปรับพฤติกรรมลูกน้อย

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!