สูติบัตร ถือเป็นใบบ่งบอกสถานที่ และเวลาเกิดของลูกน้อย ถือเป็นเอกสารที่มีความสำคัญ ที่ต้องเก็บรักษาเอาไว้อย่างดี แต่ปัญหานั้นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่องรวมถึงเอกสารเหล่านี้ด้วยเช่นกัน เมื่อเราทำ สูติบัตรหาย อาจเกิดข้อสงสัยหลายอย่าง เช่น จะขอให้กับทางอำเภอได้หรือไม่ หรือมีขั้นตอนยังไงบ้าง เดี๋ยวเราจะมาเล่าให้ฟังในบทความนี้เอง
ทบทวนก่อนว่าหายจริงหรือไม่
หากไม่ได้อยู่ในสถานะเร่งรีบอาจเริ่มจากการทบทวนก่อน เพราะเอกสารเหล่านี้เป็นเพียงแผ่นกระดาษบาง ๆ ที่อาจหาได้ยาก หากไม่ได้เก็บอยู่ในพื้นที่เดิม นอกจากจะทบทวนบริเวณที่เก็บไว้เป็นประจำแล้ว ควรถามไถ่จากผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้าน หรือผู้อื่นที่เคยเข้ามาในบ้าน รวมถึงตรวจสอบแฟ้มเอกสารอื่น ๆ เพราะอาจถูกจัดเก็บไว้ผิดที่ หรือตรวจสอบพื้นที่ต่าง ๆ ที่เคยนำเอกสารไปในช่วงเวลานั้น ๆ สาเหตุที่เราอยากให้ทบทวนให้แน่ใจ เป็นเพราะว่าการขอสูติบัตรใหม่ มีขั้นตอนพอสมควร และต้องใช้เอกสารอื่น ๆ ร่วมด้วยพอสมควร
บทความที่เกี่ยวข้อง : แจ้งเกิดลูกภายในกี่วัน หลังคลอดลูกต้อง ทำสูติบัตรให้ลูกต้องใช้อะไรบ้าง?
วิดีโอจาก : BY Station
ใบสูติบัตรหายต้องทำอย่างไร ?
เอกสารทางราชการที่มีความสำคัญมักถูกหยิบนำมาใช้ในช่วงเวลาสำคัญด้วยเช่นกัน ดังนั้นหากต้องใช้งานจริงจึงควรรีบเตรียมเอกสารแต่เนิ่น ๆ เพราะหากใบสูติหายจะสามารถทำการขอเอกสารใหม่ได้อย่างทันท่วงที ก่อนที่จะต้องนำไปใช้งานนั่นเอง วิธีการขอใบสูติบัตรใหม่ มีอยู่ 2 กรณี คือ การขอคัดสำเนา และการขอให้ออกหนังสือรับรองการเกิดแทนใบสูติบัตรเดิมที่หายไปค่ะ โดยวิธีการมีดังนี้
- กรณีที่รู้ว่าแจ้งเกิดที่อำเภอไหน : ไปทำยังอำเภอที่คุณเกิดยังมีต้นขั้วอยู่ คุณสามารถไปขอคัดและรับรองสำเนาถูกต้องที่อำเภอได้
- หากทางอำเภอที่ไปแจ้งเกิดไม่มีต้นขั้วเนื่องจากหาย/ชำรุดหรือเกิดที่อื่น : ซึ่งในกรณีดังกล่าวคุณควรติดต่ออำเภอเพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการเกิดแทนสูติบัตร โดยสามารถขอได้ที่อำเภอที่คุณมีชื่ออยู่ตามทะเบียนบ้านหรือที่อำเภอที่คุณเกิด ต้องมีพยานบุคคล 2 คน และหลักฐาน เช่น ทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน วุฒิการศึกษา ฯลฯ ทั้งนี้ ควรระบุวันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด ชื่อ-ชื่อสกุลบิดา-มารดา และชื่อสกุลของมารดาก่อนสมรส
บทความที่เกี่ยวข้อง : เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตร เปลี่ยนนามสกุล ใช้เอกสารอะไรบ้าง ต้องทำอย่างไร
เงื่อนไขการขอคัดสำเนาสูติบัตร
สูติบัตรไม่สามารถขอใบแทน (เอกสารเสมือนตัวจริง) ได้ หากต้องการขอคัดสำเนา สามารถติดต่อสำนักทะเบียนที่ออกเอกสาร แต่หากต้องการเป็นหนังสือรับรอง สามารถติดต่อได้ทุกสำนักทะเบียน โดยต้องเตรียมเอกสาร ดังต่อไปนี้
- เอกสาร/หลักฐาน
- บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง
- ใบแจ้งความ (กรณีเอกสารสูญหาย และต้องการใบแทนหรือคัดสำเนาเสมือนฉบับจริง)
- หนังสือมอบอำนาจจากคู่ความ หรือบัตรประจำตัวทนายความ หรือใบอนุญาตเป็นทนายความ (กรณียื่นขอในฐานะทนายความ)
- บัตรประจำตัวของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ
- หลักฐานแสดงว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
- ค่าธรรมเนียม
- การขอคัดสำเนาสูติบัตร (ฉบับละ10 บาท)
สถานที่ในการติดต่อ สูติบัตร ใบเกิด
- ต่างจังหวัด สามารถติดต่อได้ที่ว่าการอำเภอ
- กรุงเทพฯ สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขต
ทำอย่างไรให้สูติบัตรมีโอกาสหายได้น้อยลง
ด้วยขั้นตอนในการขอเอกสารนั้นค่อนข้างละเอียด จึงอาจดีกว่า หากเราสามารถลดโอกาสที่ใบสูติบัตรจะหายได้ โดยทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนนอกจากการ “เก็บและบันทึกช่วยจำ” นั่นเอง
- จำแนกเอกสารให้ชัดเจน : หลายท่านอาจจัดเอกสารที่สำคัญ จำพวกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับราชการเอาไว้ในแฟ้มเดียวกัน แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องนำไปใช้ต้องมานั่งลื้อเอกสารใหม่ จนทำให้หาได้ยากกว่าเดิม ปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยการจัดเอกสารสำคัญออกเป็นหมวดหมู่ให้ชัดเจนขึ้น เช่น เอกสารที่เกี่ยวกับบิดา, มารดา และบุตรแยกออกจากกัน และแยกเอกสารที่ใช้ร่วมกันออกมาอีกแฟ้ม เป็นต้น
- บันทึกประจำวันช่วยได้ : เอกสารเหล่านี้มีความสำคัญมากก็จริง แต่ใน 1 ปี อาจถูกหยิบออกมาใช้เพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเก็บแฟ้มเอกสารไว้ที่ไหน อาจใช้โน้ตกระดาษช่วยจดบันทึกไว้ สำหรับคนที่ลืมง่าย หรืออาจไม่ใช่คนลืมง่าย แต่ไม่ได้นำออกมาใช้นานจนจำไม่ได้ว่าเก็บไว้ตรงไหน บันทึกเหล่านี้รับรองว่ามีประโยชน์อย่างแน่นอน
- แชร์ข้อมูลให้คนในครอบครัว : เอกสารเหล่านี้อาจถูกนำไปใช้ตามกรณีต่าง ๆ จากบุคคลในครอบครัว อย่างน้อยก็ด้วยทั้งคุณพ่อ และคุณแม่ ดังนั้นหากคนใดคนหนึ่งเป็นผู้เก็บเอกสาร อาจต้องบอกอีกฝ่ายเอาไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะหากลืม หรือโน้ตที่จดไว้เกิดหายซ้ำอีก จะสามารถถามอีกคนหนึ่งได้ นอกจากนี้หากอีกคนต้องการใช้เอกสาร ก็จะไม่ต้องเสียเวลาหาอีกด้วย
ใบสูติบัตร ห้ามนำมาเคลือบเอกสารโดยเด็ดขาด
เหตุเพราะ หากการแจ้งเกิดในครั้งแรกเกิดของเด็กมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ในภายหลังอยากจะแก้ไข/เพิ่ม/เปลี่ยนแปลงให้ถูกต้อง จะกระทำได้ยาก หรือ ไม่ได้เลย และการยกเลิกใบเดิมหากไม่มีเหตุอันควร ก็ใช่ว่าจะยกเลิกได้ง่ายๆ แต่ถ้าถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่ครั้งแรกก็ดีไป ฉะนั้น ไปแจ้งเกิดแล้วแนะนำว่าซื้อ / หา ซองพลาสติกใส่เอกสารแทนการเคลือบนะคะ เพราะวันข้างหน้าเราอาจมีความจำเป็นต้องแก้ไขก็เป็นได้
ใบสูติบัตรถือเป็นเอกสารที่มีความสำคัญอย่างมากกับตัวของเด็กทารก และอาจใช้ในการติดต่อธุระอื่น ๆ แม้เด็กจะโตไปแล้ว ดังนั้นเมื่อ สูติบัตรหาย ก็ทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำไว้ด้วยความใจเย็น รับรองว่าแก้ปัญหาได้อย่างแน่นอนหายห่วง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
แจ้งเกิดลูก แจ้งย้ายที่ที่อยู่ลูก พ่อแม่ต้องเตรียมอะไรบ้าง ?
เงินประกันสังคมกรณีคลอดบุตร และ เงินสงเคราะห์บุตร ยื่นอย่างไร ให้ได้เงิน
แจ้งเกิดลูกโดยไม่มีพ่อ มีปัญหาในอนาคตมั้ย ?
ที่มาข้อมูล : facebook.com