เคล็ดลับ ลูกแพ้อาหารต้องทำอย่างไร
หากลูกน้อยแพ้อาหาร (Food allergies) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มเป็นตั้งแต่วัยทารก คุณพ่อคุณแม่ก็ย่อมจะมีความวิตกกังวลเป็นอย่างมากในการดูแลลูก ว่าควรต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อสุขภาพและความปลอดภัยของลูก วันนี้หมอจะมาบอกเคล็ดลับง่าย ๆ ในการดูแลลูกที่แพ้อาหารแต่ละช่วงวัย ลูกแพ้อาหารต้องทำอย่างไร เพื่อผ่อนคลายความกังวล และแก้ไขข้อข้องใจต่าง ๆ ให้กับคุณพ่อคุณแม่นะคะ
อันดับแรก เราควรทราบว่าลูกแพ้อาหารอะไรและมีอาการอย่างไรบ้าง
เนื่องจากการวินิจฉัยแพ้อาหาร จะต้องอาศัยทั้งการซักถามประวัติอย่างละเอียดถึงอาการ และความเกี่ยวข้องกับอาหารที่ทาน การตรวจร่างกายเพื่อหาความผิดปกติต่าง ๆ และการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันการแพ้อาหารนั้น
ในช่วงวัยทารกที่ลูกทานนมแม่ หากคุณแม่สังเกตว่า หลังจากที่คุณแม่ได้รับประทานอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง แล้วสักพักลูกมีอาการผิดปกติในระบบต่าง ๆ เกิดขึ้นซ้ำๆ ได้แก่ อาการของระบบผิวหนัง เช่น มีผื่นคันเป็นเป็นหาย ๆ ตาบวม ปากบวม
ระบบทางเดินอาหาร เช่น ถ่ายอุจจาระมีมูกเลือด ท้องเสียเรื้อรัง อาการของระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจครืดคราด หายใจเหนื่อย
ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หมดสติ ช็อค ซึ่งบ่งถึงการแพ้รุนแรง ก็ควรไปปรึกษาคุณหมอ เพื่อจะได้รับการซักถามประวัติและตรวจร่างกายลูก เพื่อหาอาการแสดงของระบบต่าง ๆ
โดยหากคุณหมอสงสัยการแพ้อาหาร ก็จะพิจารณาทำการทดสอบภูมิแพ้ เช่น การทดสอบทางผิวหนัง (skin test) หรือการตรวจเลือดของลูก หรือให้ลองงดอาหารที่สงสัยและนัดมาติดตามอาการ หรือทดลองทานอาหารที่สงสัย ภายใต้การดูแลของคุณหมออย่างใกล้ชิดเพื่อช่วยในการวินิจฉัยชนิดของอาหารที่เป็นสาเหตุของการแพ้
ข้อควรระวัง : อาการผิดปกติต่างๆของทารกอาจไม่ได้เกิดจากการแพ้อาหารเสมอไปเช่น ผื่นคันจากผดร้อน หายใจครืดคราดจากเป็นหวัด คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรที่จะงดอาหารเองโดยที่ไม่ได้พบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยให้ชัดเจนว่าลูกแพ้อาหารหรือไม่
เคล็ดลับการดูแลลูกแพ้อาหาร (Food allergies) ในแต่ละช่วงวัย
หมอขอแบ่งเป็น 2 ช่วงนะคะ คือ ในช่วงวัยทารกจนถึงก่อนเข้าโรงเรียน และ ในช่วงเข้าโรงเรียนแล้ว ดังนี้
- การดูแลลูกแพ้อาหาร (Food allergies) ในช่วงวัยทารกจนถึงก่อนเข้าโรงเรียน
ในช่วงวัยทารกหากลูกทานนมแม่ คุณแม่ก็ควรงดอาหารที่ลูกแพ้ และอาหารทุกชนิดที่มีส่วนผสมของอาหารที่ลูกแพ้นั้น โดยต้องอ่านฉลากข้างผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อจะได้ทราบว่าอาหารที่คุณแม่ทานประกอบด้วยอะไรบ้าง ทั้งนี้หากรับประทานอาหารซึ่งทำเองก็จะปลอดภัยที่สุด และเฝ้าสังเกตอาการผิดปกติ ซึ่งบ่งถึงการแพ้อาหาร (Food allergies) ของลูกว่าดีขึ้นหรือไม่ ซึ่งโดยปกติแล้วหากงดอาหารที่แพ้อย่างเคร่งครัด ประมาณ 2 ถึง 4 สัปดาห์ อาการก็จะหายไป
ข้อควรระวัง : หากลูกมีอาการแพ้ (Food allergies) ขึ้นมาอีกครั้งก็จะต้องมีการมาทบทวนว่าเพราะอะไร ซึ่งสาเหตุหลักมักมีดังนี้ค่ะ
- คุณแม่ให้นมอาจทานอาหารที่ลูกแพ้เข้าไปโดยไม่รู้ตัว เช่น ลูกแพ้นมวัว คุณแม่ให้นมก็งดนมวัวและขนมเบเกอรี่ทุกชนิดอย่างเคร่งครัด แต่วันหนึ่งลูกมีอาการกำเริบขึ้น ก็มาทราบทีหลังว่าเกิดจากทานขนมปั้นสิบ ซึ่งมีส่วนผสมของนมวัวเข้าไป โดยไม่รู้ตัว
- ลูกแพ้อาหารหลายอย่างโดยที่เราไม่ทราบมาก่อน เช่น ลูกแพ้ไข่ มีวันหนึ่งทานซาลาเปาแล้วมีอาการผื่นขึ้น เมื่อมาพบคุณหมอทำการทดสอบ ก็พบว่าลูกแพ้ไข่และแป้งสาลีด้วย
- การดูแลลูกแพ้อาหาร (Food allergies) ในช่วงเข้าโรงเรียนแล้ว
เมื่อลูกเข้าโรงเรียน หากยังแพ้อาหาร (Food allergies) อยู่ ก็อาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องอาศัยความร่วมมือในการดูแลป้องกัน ไม่ให้เกิดการแพ้อาหารทางจากที่บ้านและที่โรงเรียนด้วย เนื่องจากลูกไม่ได้อยู่ในสายตาของคุณพ่อคุณแม่ตลอดเวลา จึงควรให้ลูกเริ่มเข้าเรียนในวัยที่เขาได้ทานอาหารกลุ่มเสี่ยงต่อการแพ้ครบทุกชนิดแล้ว เพื่อที่จะได้ทราบว่าแพ้อาหารอะไรบ้าง ซึ่งได้แก่ช่วงอายุหลัง 3-4 ขวบขึ้นไปค่ะ
ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรได้พูดคุยกับทางโรงเรียนเรื่องการเลี่ยงอาหารที่ลูกแพ้ แจ้งให้คุณครูทราบว่าลูกแพ้อาหาร (Food allergies) ชนิดใดบ้าง มีอาการอย่างไรเมื่อทานอาหารนั้น
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกจนจดจำได้ว่าเขาแพ้อาหารใด และมีอาหารใดบ้างที่มีส่วนประกอบของสิ่งที่เขาแพ้ ลูกควรต้องทำอย่างไร หากมีอาการแพ้อาหาร (Food allergies) เช่น หากมีผื่นขึ้นจะต้องรีบแจ้งคุณครู ทานยาแก้แพ้หรือทายา หากมีอาการแพ้รุนแรงจะต้องฉีดยารักษาอาการฉุกเฉิน และรีบไปโรงพยาบาลทันที เมื่อลูกอ่านหนังสือออกก็ควรจะอ่านฉลากทุกครั้งเวลาซื้อขนมหรืออาหารมาทาน
ข้อควรระวัง : อาหารบางชนิดสามารถหายแพ้ได้หลังวัย 3-5 ขวบ เช่น นมวัว ไข่ ถั่วเหลือง จึงไม่ควรให้ลูกงดอาหารไปเรื่อย ๆ โดยไม่ติดตามอาการ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรติดตามอาการกับคุณหมอเป็นระยะ เช่น ทุก 6 เดือน – 1 ปี เพื่อประเมินอาการว่าใกล้จะหายแพ้อาหาร (Food allergies) แล้วหรือยัง อีกทั้งลูกควรมีน้ำหนักขึ้นตามเกณฑ์ ไม่ได้ขาดสารอาหารชนิดใดจากการงดอาหารที่แพ้ โดยไม่ได้ทานอาหารชนิดอื่นทดแทนค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
ลูกแพ้ไข่ รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้ไข่ ลูกแพ้อาหาร ผื่นขึ้น วิธีสังเกตว่าลูกแพ้อาหาร อาการทารกแพ้อาหาร
ลูกแพ้อาหารควรทําอย่างไร อาการทารกแพ้อาหารผ่านน้ำนม แม่ควรทําอย่างไร