รกคืออะไร เราอาจไม่เห็นรกเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย แต่จริง ๆ แล้ว รกเป็นอวัยวะพิเศษที่อยู่ภายนอกร่างกายของทารก จะเกิดขึ้นเมื่อมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นหลังจากการปฏิสนธิของตัวอ่อน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ส่วนคือ รกที่เจริญเติบโตไปเป็นทารก และอีกส่วนคือเซลล์ไปสร้างเป็นรกที่ติดอยู่กับผนังด้านในของมดลูก เชื่อมระหว่างมดลูกของมารดาและทารก อยู่นอกถุงน้ำคร่ำ และมีสายสะดือเป็นตัวเชื่อมต่อทำหน้าที่แลกเปลี่ยนสารอาหาร ออกซิเจน จากแม่ไปยังลูก และขับถ่ายของเสีย
รกคืออะไร และมีหน้าที่อย่างไรบ้าง?
รก เกิดจากเซลล์ที่มีการปฏิสนธิจากการที่ไข่ตกแล้วเคลื่อนที่ไปในท่อนำไข่ จนมาถึงมดลูก เซลล์นี้จึงฝังตัวที่โพรงมดลูกประมาณวันที่ 6-7 หลังจากตกไข่ จากนั้นเซลล์เริ่มแบ่งตัวและพัฒนากลายเป็นตัวอ่อนทารก และรก ซึ่งประกอบด้วย เนื้อรก สายสะดือ และเยื่อหุ้มรก จะมีลักษณะแบน เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 15-20 เซนติเมตร หนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร ทั้งนี้ความหนา ยาว ขึ้นอยู่กับขนาดของทารกด้วย ทำหน้าที่แทนระบบต่าง ๆ ในระหว่างที่เซลล์กำลังพัฒนาขึ้นเป็นอวัยวะต่าง ๆ
- สารอาหาร (Nutrition) แลกเปลี่ยนสารอาหารและออกซิเจนจากแม่สู่ลูกในท้อง
- หายใจ (Respiration) รกเปรียบเสมือนปอด คือ เป็นจุดแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างแม่กับลูกน้อยในครรภ์
- ขับถ่ายของเสีย (Excretion) ทำหน้าที่คล้ายกับไต คือ เป็นที่ขับถ่ายของเสียที่เกิดจากกระบวนการเมตาโบลิซึมของทารก
- สร้างฮอร์โมน (Hormone Production) ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นต่อมไร้ท่อชั่วคราวในมดลูก ซึ่งสามารถผลิตฮอร์โมนมากมายที่จำเป็น ได้แก่ ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน
- ป้องกันอันตราย (Protection) เป็นโครงสร้างที่ขัดขวางไม่ให้สารหรือ microorganism บางอย่างผ่านเข้าไปทำอันตรายต่อลูกอ่อน
- เป็นแหล่งเมตาโบไลต์สารบางอย่าง เช่น แอนติบอดี (Antibody) หรือยาบางอย่างที่ได้รับจากแม่จะถูกรกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบที่ไม่เป็นอันตราย
รก ความสำคัญของรกในการสร้างฮอร์โมน
1. ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน
รก จะทำหน้าที่ในการผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้นตลอดการตั้งครรภ์ โปรเจสเตอโรนมีความสำคัญมาก ทำให้การตั้งครรภ์สามารถดำเนินต่อไปได้ โดยการยับยั้งการหดรัดตัวของกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้ร่างกายไม่กำจัด ทารกซึ่งถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมของร่างกายออกมาโดยไปกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
2. ฮอร์โมนเอสโตรเจน
ฮอร์โมนเอสโตรเจนถูกสร้างจากรกและต่อมหมวกไตของทารก ฮอร์โมนเอสโตรเจน มีหน้าที่เสริมสร้างเนื้อเยื่อเซลล์ต่าง ๆ ของคุณแม่ตั้งครรภ์ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปหล่อเลี้ยงที่มดลูกมากขึ้น เอสโตรเจนยังช่วยเปลี่ยนเนื้อเยื่อต่าง ๆ ให้อ่อนนุ่มขึ้น ยืดขยายได้ดี เพื่อจะได้เหมาะแก่การคลอด นอกจากนี้ยังทำให้เต้านมขยาย เพื่อเตรียมสำหรับการผลิตน้ำนมอีกด้วย
ข้อควรระวังเกี่ยวกับรก
รกจะมีพัฒนาการไปพร้อม ๆ กับทารกในครรภ์ โดยจะมีขนาดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปกติเมื่ออายุครรภ์ครบกำหนด รกจะมีน้ำหนักประมาณ 500 กรัมเลยทีเดียว แต่ก็มีข้อควรระวังคือ
- คุณแม่ต้องรักษาสุขภาพระหว่างตั้งครรภ์ให้ดี เพราะหากคุณแม่ท้องไม่แข็งแรง จะทำให้รกมีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยลง การลำเลียงสารอาหารและสิ่งต่าง ๆ ที่หล่อเลี้ยงทารกจะไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแท้งได้
- หากมีความผิดปกติของรก จะเป็นอันตรายต่อทารกอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นภาวะรกเกาะต่ำ รกค้าง รกเสื่อม หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด ล้วนส่งผลร้ายต่อทารกในครรภ์ทั้งสิ้น
บทความที่เกี่ยวข้อง : รกลอกตัวก่อนกำหนด เกิดจากอะไร มีอันตรายต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไร
ความผิดปกติของรก เกิดอะไรขึ้นได้บ้าง
เมื่อมีความผิดปกติของรก อาจมีผลต่อการเจริญเติบโตของลูก และบางครั้งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้น ระหว่างตั้งครรภ์ทุกไตรมาส คุณแม่ต้องคอยสังเกตตัวเอง ถ้าจดบันทึกการตั้งครรภ์ในแต่ละสัปดาห์ไว้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการหาสาเหตุของอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ รก อวัยวะสำคัญแต่บางครั้งคนท้องมักจะลืมว่า สิ่งนี้คือความผูกพันส่งอาหาร เชื่อมโยงความสัมพันธ์จากแม่สู่ลูกเช่นกัน
1. รกเกาะต่ำ
โดยปกติตำแหน่งที่รกเกาะติดกับผนังมดลูกมักอยู่ที่บริเวณด้านบนของมดลูก โดยค่อนไปทางด้านหลังเล็กน้อย แต่ในคุณแม่ตั้งครรภ์บางรายจะมีลักษณะของรกที่เกาะตรงส่วนล่างของมดลูก หรือคลุมที่ปากมดลูก เรียกว่า รกเกาะต่ำ (Placenta previa) ในช่วงใกล้คลอด มดลูกจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ปากมดลูกและส่วนล่างของมดลูกจะเริ่มบางตัวลง และยืดขยายมากขึ้น ทำให้รกเกิดมีรอยปริแยก และมีเลือดออกบริเวณที่รกเกาะ โดยจะไหลผ่านปากมดลูกลงมาในช่องคลอดออกมา หากเลือดออกมากและไม่หยุดไหล อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตคุณแม่และทารกในครรภ์ได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : รกเกาะต่ำ เป็นแบบไหน ทำไมใคร ๆ ก็เตือนให้คนท้องต้องระวัง
2. รกลอกตัวก่อนกำหนด
หากรกลอกตัวก่อนกำหนด จะทำให้คุณแม่ท้องมีเลือดออกจากช่องคลอด และเจ็บครรภ์ ส่วนทารกก็อาจขาดออกซิเจนและขาดสารอาหาร แม้จะเกิดภาวะอันตรายนี้เพียงประมาณ 1 ใน 150 คน และพบได้ในคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 20 สัปดาห์แต่หากไม่ได้รับการรักษาทันที รกที่เกาะอยู่บนผนังมดลูก จะทำให้เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรง เนื้อตัวซีด ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นเร็ว กระสับกระส่าย หมดสติและช็อกได้
3. รกฝังลึก
โดยปกติรกจะฝังตัวอยู่ที่เยื่อบุด้านในผนังมดลูก เมื่อทารกคลอดออกไปแล้ว รกก็จะลอกตัวและถูกคลอดตามออกมา แต่ในกรณีรกฝังลึก คือ การที่รกฝังลึกเข้าไปถึงกล้ามเนื้อ หรือบางรายทะลุออกนอกมดลูกเข้าอวัยวะอื่นที่อยู่ใกล้ ๆ เช่น กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ ทำให้เกิดปัญหา คือ หลังคลอด รกก็จะไม่คลอดออกมาด้วย ทำให้เกิดการติดเชื้อ และเสียเลือดมากหลังคลอด
4. รกเสื่อม
รกถูกสร้างขึ้น และพัฒนาไปพร้อมกับทารกในครรภ์ เมื่อคลอดทารกออกมา รกก็จะหมดหน้าที่ลง ดังนั้น เมื่ออายุครรภ์มากขึ้น รกจะค่อย ๆ แก่ตัวลง และมีแคลเซียมเกาะ ทำให้ความสามารถในการทำงานของรกลดลง ส่งผลให้เลือดที่ส่งจากแม่ไปเลี้ยงทารกไม่เพียงพอ ทารกเจริญเติบโตช้า ลูกดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้น จึงมีความเสี่ยงทารกเสียชีวิตในครรภ์สูง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภาวะรกเสื่อมคืออะไร อันตรายอย่างไร พร้อมวิธีรักษาให้คุณแม่สบายใจ
การรักษาโรคประจำตัวของคุณแม่ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน จะช่วยป้องกันภาวะรกเสื่อมได้ รวมทั้งการป้องกันการตั้งครรภ์เกินกำหนด คุณแม่ควรคลอดไม่เกินอายุครรภ์ 41 สัปดาห์เพื่อลดความเสี่ยงภาวะรกเสื่อมค่ะรกมีความสำคัญขนาดนี้ ถึงแม้ช่วงชีวิตของรกมีแค่เพียง 10 เดือนแต่ก็ถือว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการสร้างและหล่อเลี้ยงชีวิตน้อย ๆ ให้เจริญเติบโตอย่างแข็งแรงสมบูรณ์ภายในครรภ์ของแม่ตลอดการตั้งครรภ์ค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
การตัดสายสะดือช้าลงเป็นผลดีกับสุขภาพของทารก
สังเกตตัวเองด่วนค่ะ! ลูกดิ้นมากไปไหม? ระวังเสี่ยงรกพันคอ!
อัลตราซาวนด์ครั้งแรก กี่สัปดาห์ ถึงจะอัลตราซาวนด์ได้ คนท้องจะได้รู้อะไรบ้าง
แชร์ประสบการณ์หรือ เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับรก ได้ที่นี่!
รกคืออะไร รกทำงานยังไงคะ พอมีคุณแม่คนไหนทราบบ้าง
รกคืออะไร ช่วยเรื่องอะไรบ้างคะ รกจะมีอันตรายกับลูกได้ไหมคะ
ที่มา : 1, Facebook: ใกล้มิตรชิดหมอ, iammomsociety