ความผิดปกติที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (IUGR) คืออะไร ทำไมแม่ท้องต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดมีหลายประการ และส่งผลกระทบรุนแรงต่อทารกได้ หากคุณแม่คนไหนยังไม่รู้จัก ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ ต้องศึกษาจากบทความนี้ในตอนนี้เลย
ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (IUGR) คืออะไร
สำหรับ “ภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (intrauterine growth restriction หรือ IUGR) คือ อาการผิดปกติที่อันตรายต่อทารก ที่ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตนับตั้งแต่ อยู่ในครรภ์ครบ 22 สัปดาห์เต็มถึงน้อยกว่า 7 วันหลังคลอด อาการนี้ถือเป็นการเสียชีวิตอันดับที่ 2 รองจากการคลอดก่อนกำหนด โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ การที่ทารกมีพัฒนาการที่ไม่สมบูรณ์ หรือพิการแต่กำเนิด และ Intrauterine Hypoxia (ภาวะขาดอากาศหายใจในทารก)
บทความที่เกี่ยวข้อง : พัฒนาการ ทารกในครรภ์ ตลอด 9 เดือนที่อุ้มท้อง มีอะไรเกิดขึ้นบ้าง
วิดีโอจาก : DrNoon Channel
สาเหตุการเกิดภาวะ IUGR
การเกิดภาวะทารกโตช้าในครรภ์นี้เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิดไว้มาก เนื่องจากมีปัจจัยที่สามารถเกิดขึ้นได้หลายปัจจัย ทั้งจากตัวของคุณแม่เอง จากโรคหรืออาการต่าง ๆ ที่ทำให้ทารกได้รับสารอาหารน้อยลง เกิดจากอาการของทารกเอง และความแข็งแรงของรก และสายสะดือ เป็นต้น สามารถสรุปได้ ดังนี้
- สาเหตุจากทารก (fetal causes) : เป็นผลกระทบจากการติดเชื้อในครรภ์ เช่น เชื้อซิฟิลิส, วัณโรค หรือมาลาเรีย ไปจนถึงความผิดปกติของโครโมโซม รวมไปถึงความพิการแต่กำเนิดของทารก เช่น หัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น หากอาการเหล่านี้รุนแรงจะทำให้ IUGR มากขึ้นตามไปด้วย
- สาเหตุจากคุณแม่ (maternal causes) : การขาดสารอาหารของคนท้อง การมีครรภ์แฝดทำให้ทารกเสี่ยงได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ การกินอาหารไม่ครบ 5 หมู่ เกิดภาวะโลหิตจางขณะตั้งครรภ์ แม่ท้องเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบไหลเวียนเลือด ไปจนถึงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- สาเหตุจากรก (placental causes) : รกเกิดการเสื่อมสภาพในวงกว้าง รกลอกตัว รกเกาะต่ำ ไปจนถึงสายสะดือมีปัญหา สิ่งเหล่านี้สามารถส่งผลต่อพัฒนาการของทารก และสามารถทำให้ทารกรับสารอาหารได้น้อยลง จนเกิดความเสี่ยงขึ้นในที่สุด
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคนท้องเป็นภาวะทารกโตช้าในครรภ์ (IUGR)
ภาวะนี้ส่งผลรุนแรงต่อทารกได้หากไม่ระวัง อย่างไรก็ตามผลกระทบจากภาวะนี้ ยังส่งผลต่อตัวของคุณแม่ทั้งโดยตรง และทางอ้อมอีกด้วย ดังนี้
- ผลกระทบต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ : เพิ่มโอกาสที่จะต้องผ่าคลอด จากที่ตั้งใจไว้ว่าอยากคลอดแบบธรรมชาติ ซึ่งเรื่องนี้ยังสามารถส่งผลต่อสภาพจิตใจของคุณแม่อีกด้วย หากเกิดความเครียดมากจนเกินไปในช่วงตั้งครรภ์ จะยิ่งอันตรายต่อทั้งตนเอง และทารกในครรภ์ในเวลาต่อมาได้
- ผลกระทบต่อทารกในครรภ์ : เลือดไม่สมบูรณ์ เช่น แคลเซียม และน้ำตาลต่ำกว่าเกณฑ์ ทารกจะติดเชื้อได้ง่ายกว่าปกติ ส่งผลเสียต่อพัฒนาการ เสี่ยงต่อการพิการแต่กำเนิด และผลกระทบที่รุนแรงสูงสุด คือ เสี่ยงทำให้ทารกเสียชีวิตได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูกในท้องกินอย่างไร จะรู้ได้ไงว่าทารกในครรภ์กินอิ่ม ไม่ขาดสารอาหาร ?
IUGR สามารถป้องกันได้ไหม
คงไม่มีคุณแม่คนไหนที่อยากมีความเสี่ยงให้อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับทารกน้อยในครรภ์อย่างแน่นอน การดูแลตนเอง และการเฝ้าระวังตลอดการตั้งครรภ์ จึงสามารถช่วยป้องกันได้ส่วนหนึ่ง ตัวอย่างเช่น
- คุณแม่ และคุณแม่ควรเริ่มจากตนเอง ด้วยการให้ความสำคัญกับสุขภาพในชีวิตประจำวัน เช่น การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำสะอาด เลี่ยงแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่ เป็นต้น
- ให้ความสำคัญกับการฝากครรภ์ ทำตามคำแนะนำของแพทย์ในการดูแลครรภ์ และไปหาแพทย์ตามนัดหมายให้ครบทุกครั้ง
- สังเกตอัตราการดิ้นของทารกในครรภ์ เนื่องจากเป็นสัญญาณสุขภาพ และสามารถบ่งบอกถึงความปลอดภัยของทารกในครรภ์ได้ หากพบว่าทารกดิ้นน้อย หรือไม่ดิ้นเลย ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
- หากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติที่สงสัยไม่ควรถามเพื่อน หรือคนอื่น นอกจากปรึกษากับแพทย์เท่านั้น เพื่อรับการตรวจ หากพบความผิดปกติแพทย์จะได้แนะนำได้ทันท่วงที
- หากมีความจำเป็นแพทย์อาจช่วยป้องกันความปลอดภัยของทารก ด้วยการพิจารณาทำการเร่งคลอดก่อนเพื่อความปลอดภัย ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
คนท้องเคยมีภาวะ IUGR จะสามารถมีลูกได้อีกไหม
แม้แม่ท้องจะเคยพบเจอกับภาวะทารกโตช้าในครรภ์ไปแล้ว อาจเป็นกังวลว่าในอนาคตหากต้องการมีลูกเพิ่มอีก 1 คนจะยังมีได้อีกไหม เรื่องนี้คุณแม่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะคุณแม่ยังคงสามารถตั้งครรภ์ได้ตามปกติ เพียงแต่ตลอดการตั้งครรภ์ต้องไม่ลืมที่จะฝากครรภ์ และบอกแพทย์ที่ดูแลว่าตนเองเคยมีประวัติ IUGR มาก่อน โดยแพทย์จะทำการดูแลพัฒนาการ และความปลอดภัยของครรภ์อย่างใกล้ชิดมากกว่าปกติ หากคุณแม่ทำตามคำแนะนำของแพทย์ได้ตลอด 3 ไตรมาส ก็จะทำให้ทารกมีความปลอดภัยมากขึ้นตามไปด้วย
ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทารกในครรภ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก บางโรค บางอาการอาจสังเกตด้วยตนเองได้ยาก การวินิจฉัยโดยผู้เชี่ยวชาญจึงสำคัญมาก ด้วยเหตุนี้การสังเกตการณ์ดิ้นของทารก และการดูแลตนเองตลอด 3 ไตรมาส จนหลังคลอดจึงเป็นเรื่องที่แม่ท้องไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ภาวะตายคลอด คืออะไร ทำไมทารกตายคลอด สาเหตุของภาวะตายคลอด
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในครรภ์สมบูรณ์ ลูกในครรภ์ของคุณครบ 32 หรือเปล่า
เอกซเรย์อันตรายต่อลูกในท้องไหม คนท้องเข้าเครื่องสแกนได้หรือเปล่า ??
ที่มา : w1.med.cmu, BKH, ScienceDirect.