โรคนิ่ว ก้อนนิ่ว คืออะไร? นิ่วสามารถเป็นที่บริเวณไหนได้บ้าง มีอาการอย่างไร เกิดจากอะไร และสามารถป้องกันได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบสำหรับผู้ที่สงสัย และอยากรู้เรื่องราวของ “โรคนิ่ว” ไปติดตามกัน
โรคนิ่ว คืออะไร?
นิ่ว เกิดจากการตกตะกอนของแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เกิดการรวมตัวกันเป็นก้อน ซึ่งจะมีขนาดแต่งต่างออกไป โดยนิ่วส่วนใหญ่ มักจะเกิดที่บริเวณไต และทางเดินปัสสาวะ เช่น ถุงน้ำดี โดยนิ่วสามารถสร้างความเจ็บปวดให้กับผู้ที่เป็นได้ หากมีขนาดที่ใหญ่ จนทำให้เกิดการอุดตันและอักเสบบริเวณอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาการจะแสดงออกแต่งต่างกันไป ตามแต่ละบุคคล และบริเวณที่เกิดนิ่ว
สาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกันของนิ่วแต่ละบริเวณ
นิ่วในไต
สาเหตุ
- มีปริมาณเกลือ แร่ธาตุ และสารต่าง ๆ เช่น แคลเซียม กรดออกซาลิก และ กรดยูริกในปัสสาวะ มีมากเกินกว่าของเหลวจะทำละลายได้
- การรับประทานอาหารบางชนิด เช่น เกลือ น้ำตาล อาหารโปรตีนสูง
- การดื่มน้ำไม่มากพอในแต่ละวัน
- ปัญหาสุขภาพ เช่น การติดเชื้อในระบบกระเพาะปัสสาวะ โรคเมตาบอลิก
- การใช้ยารักษาโรค
- อาหารเสริมบางชนิด
อาการ
นิ่วในไต เป็นบริเวณที่พบได้บ่อยมากที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กมาก และสามารถหลุดลอกออกไปตามปัสสาวะได้ โดยไม่ส่งผลเสีย และไม่มีอาการใด ๆ แต่หากนิ่ว มีการเคลื่อนตัวไปรอบ ๆ ไต หรือ ไปที่ท่อไต ซึ่งเป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างไต และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการต่าง ๆ ดังนี้
- ปวดบริเวณหลัง หรือ ปวดช่องท้องด้านล่างข้างใดข้างหนึ่ง
- ปวดบริเวณขาหนีบ
- ปวดบีบ ๆ เป็นระยะ ๆ
- ปัสสาวะมีเลือดปน หรือ ปัสสาวะเป็นสีชมพู และน้ำตาล
- มีอาการเจ็บขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะน้อย ปัสสาวะบ่อย
- กรวยไตอักเสบ เช่น ปัสสาวะมีกลิ่นฉุน คลื่นไส้ อาเจียน หนาวสั่น มีไข้ เป็นต้น
การป้องกัน
นิ่วในไต สามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำ และลดความเข้มข้นของปัสสาวะ และผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นนิ่ว ควรหลีกเลี่ยงอาหาร ที่มีกรดออกซาลิกสูง เช่น นมถั่วเหลือง ช็อคโกแลต มันฝรั่งหวาน บีทรูท ชา หน่อไม้ฝรั่ง ผักโขม ถั่วเปลือกแข็ง เบอร์รี่ กระเจี๊ยบเขียว และเมล็ดธัญพืชต่าง ๆ และควรระมัดระวังในการรับประทานแคลเซียมเสริม โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ หรือ แภสัชก่อนก่อนรับประทานอาหารเสริมอื่น ๆ เสมอ
อ่านเพิ่มเติม โรคนิ่วในไต สังเกตอย่างไร ป้องกันไว้ก่อนไตจะพัง อาการ และวิธีการป้องกัน
นิ่วในประเพาะปัสสาวะ
สาเหตุ
- เกิดจากมีปัสสาวะตกค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ และมีการตกตะกอน
- การติดเชื้อบางประเภท
- ภาวะที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบปัสสาวะ
- มีสิ่งแปลกปลอม อยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
อาการ
นิ่วชนิดนี้จะแสดงอาการ เมื่อก้อนนิ่วทำให้ผนังกระเพาะปัสสาวะ เกิดการระคายเคือง หรือมีการปิดกั้นการไหลของปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้เกิดอาการ ดังนี้
- ปวดท้องส่วนล่าง
- ปวดที่อวัยวะเพศ
- เจ็บแสบ ขณะปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะติดขัด
- ปัสสาวะมีสีขุ่น ปัสสาวะมีสีเข้มมากกว่าปกติ
- ปัสสาวะเป็นเลือด
การป้องกัน
การป้องกันนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะนิ่วชนิดนี้มักมีสาเหตุมาจากอาการอื่น ๆ ก่อน เช่น ปัสสาวะตกค้างในกระเพาะปัสสาวะ มีการติดเชื้อ หรือสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น แต่วิธีการช่วยลดโอกาสการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ สามารถทำได้ด้วยการสังเกตความผิดปกติ หรือ อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบปัสสาวะต่าง ๆ และดื่มน้ำให้มากเพียงพอ เพื่อช่วยเจือจางแร่ธาตุหรือสารเข้มข้นในปัสสาวะได้
นิ่วในถุงน้ำดี
สาเหตุ
สาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดี ยังไม่แน่ชัด ซึ่งแพทย์สันนิษฐานว่าเกิดจากการมีคลอเลสเตอรอล ในถุงน้ำดีมากเกินไป หรือ มีสารบิลิรูบิน ในน้ำดีมากเกินไป ทำให้เกิดการตกตะกอน และกลายเป็นก้อนนิ่ว หรือ อาจเกิดจากกล้ามเนื้อในถุงน้ำดี มีสมรรถภาพในการบีบตัวไม่เพียงพอ ทำให้ไม่สามารถบีบคลอเลสเตอรอล ให้ออกไปจากถุงน้ำดีได้หมด ทำให้น้ำดีมีความเข้มข้นมาก และทำให้เกิดนิ่วได้ในที่สุด
ปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดี อาจมาจาก ความอ้วน การใช้ยาคุมกำเนิด หรือ การใช้ฮอร์โมนทดแทน ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาลดคอเลสเตอรอล พันธุกรรม เป็นต้น
อาการ
นิ่วในถุงน้ำดี มักมีอาการเมื่อก้อนนิ่วทำให้ผนังของกระเพาะปัสสาวะ เกิดการระคายเคือง หรือปิดกั้นที่ปากทางออกของถุงน้ำดี จนเกิดการอุดตัน ซึ่งจะทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา ดังนี้
- ปวดท้องอย่างรุนแรง โดยเฉพาะช่วงท้องส่วนบน หรือด้านขวา
- ปวดร้าวไปถึงกระดูกสะบัก หรือ ไหล่ด้านขวา
- ปวดกลางท้อง หรือ บริเวณกระดูกหน้าอกอย่างกะทันหัน และรุนแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น อาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ เสียด แน่นท้องบริเวณลิ้นปี่
อ่านเพิ่มเติม อาการนิ่วในถุงน้ำดี ทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับนิ่วในถุงน้ำดี
การป้องกัน
การป้องกันนิ่วในถุงน้ำดี สามารถทำได้โดยการรับประทานอาหารให้ตรงเวลา และครบทุก ๆ มื้อ ในทุก ๆ วัน ไม่ควรอดอาหาร สำหรับผู้ที่ต้องการจะลดน้ำหนัก ให้ค่อย ๆ ลดอย่างช้า ๆ เพราะหากน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว จะไปเพิ่มความเสี่ยง ให้เกิดนิ่วในท่อน้ำดีได้ และควรรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เสมอ
นิ่วในต่อมทอนซิล
สาเหตุ
- การรักษาความสะอาดช่องปากไม่เพียงพอ
- ต่อมทอนซิลมีขนาดใหญ่
- ปัญหาไซนัสเรื้อรัง
- ทอนซิลอักเสบหลายครั้ง
- การติดเชื้อในทอนซิล
อาการ
นิ่วในต่อมทอนซิล มักเกิดในผู้ที่มีปัญหาทอนซิลเรื้อรัง มักไม่แสดงอาการรุนแรง แต่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ดังนี้
- มีกลิ่นปาก
- เจ็บคอ
- กลืนอาหารลำบาก
- มีก้อนสีขาวบริเวณช่องคอ
- ทอนซิลบวม
- เจ็บบริเวณหู เนื่องจากทางเดินประสาทระหว่างหู และต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบ
วิธีการป้องกัน
นิ่วในต่อมทอนซิล สามารถป้องกันได้ด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงการใช้ภาชนะร่วมกับผู้ที่มีอาการทอนซิลอักเสล และหมั่นดูแลสุขภาพช่องปากให้สะอาดอยู่เสมอ ๆ อย่าลืมทำการแปรงลิ้นทุกครั้ง บ้วนปากเพื่อลดกลิ่นปาก รวมถึงดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม และเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายทุกวัน
โรคนิ่ว ในบริเวณต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ อาการ และวิธีการป้องกัน เมื่อมีอาการต้องสงสัยว่าจะเกิดนิ่ว ควรพบแพทย์ทันที เพื่อให้แพทย์ตรวจรักษา และวินิจฉัยโรค เพื่อการรักษาที่ถูกต้อง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ต่อไป
ที่มาข้อมูล Pobpad
บทความที่น่าสนใจ
การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ 100 สิ่งแม่ท้องต้องรู้ ตอนที่ 69
โรคนิ่ว ในเด็กเกิดได้อย่างไร และพ่อแม่ควรระวังลูกเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี
คำแนะนำจากคุณหมอ เรื่องการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะหลังคลอด