คุณแม่หลายบ้านอาจเคยถูกผู้ใหญ่ทักถามเวลาที่ลูกดูซนผิดปกติ แรก ๆ ก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอตั้งใจสังเกตอย่างจริงจังก็เริ่มลังเลว่าลูกจะมีแนวโน้มเป็น เด็กสมาธิสั้น แบบที่ใคร ๆ เขาว่าหรือเปล่า เพื่อช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลมากเกินไป theAsianparent อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจ โรคสมาธิสั้น ในเด็กกันให้มากขึ้น
สมาธิสั้น คืออะไร ทำไมลูกจึงมี อาการเด็กสมาธิสั้น
โรคสมาธิสั้น อาการ (ADHD – Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เกิดได้จากหลายสาเหตุ จากงานวิจัยส่วนใหญ่แล้วจะพบว่า โรคสมาธิสั้น เกิดจากความผิดปกติของสมองที่เกิดขึ้นในช่วงต้นของพัฒนาการเด็ก ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติทางด้านโครงสร้างและทางสรีรวิทยาของสมอง บางงานวิจัยได้มีการตั้งสมมติฐานว่า อาจเกิดจากความผิดปกติของ สมองส่วนหน้า (Frontal lope) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหว การตัดสินใจ ความมีเหตุผล และการวางแผน รวมถึงเด็ก ๆ อาจมีสารเคมีในสมองอย่างโดปามีน (Dopamine) น้อยกว่าเด็กปกติทั่วไป ซึ่งโดปามีนทำงานเกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึก จึงส่งผลให้เด็กสมาธิสั้นไม่สามารถควบคุมตัวเองให้อยู่นิ่ง ๆ ได้ ชอบเคลื่อนไหวมากผิดปกติ ขาดสมาธิในระดับที่ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้ ซึ่งความผิดปกติของสมองแต่ละคน ก็อาจแตกต่างกันออกไปและเกิดได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเกิดจากพันธุกรรมหรือด้านสิ่งแวดล้อม
คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มสังเกตพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกได้ในช่วงอายุระหว่าง 3 – 6 ปี และมักพบว่ามีอาการชัดเจนมาก ๆ หลังลูกอายุ 7 ปีขึ้นไป เช่น ดื้อ ซน ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ เหม่อลอย ขาดสมาธิ โดยอาการเหล่านี้อาจดีขึ้นตามอายุที่มากขึ้น หรือยังมีอาการคงอยู่จนโตเป็นผู้ใหญ่ก็ได้เช่นกัน
จากการศึกษาและสำรวจพบว่า เด็กทั่วโลกเป็นสมาธิสั้นประมาณ 3 – 5% นั่นหมายถึง ในเด็กจำนวน 100 คน จะมีเด็กสมาธิสั้นปะปนอยู่ถึง 3 – 5 คน ซึ่งอาการของโรคนี้จะพบมากและพบง่ายในเด็กผู้ชาย เนื่องจากมีลักษณะซุกซนมากกว่าปกติ ทำให้สามารถสังเกตเห็นได้ชัดตั้งแต่วัยประถมต้น
โรคสมาธิสั้น เป็นปัญหาด้านพัฒนาการที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย คือ
- ปัจจัยทางพันธุกรรม ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของโรคสมาธิสั้น ซึ่งหากครอบครัวมีประวัติเคยได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคสมาธิสั้น ลูกจะมีโอกาสเป็นเด็กสมาธิสั้นได้สูงถึงร้อยละ 75%
- ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลต่อพัฒนาการของสมองลูก เช่น ขณะตั้งครรภ์มารดามีการใช้สารเสพติด สูบบุหรี่ ได้รับสารเคมีอันตราย เช่น สารตะกั่ว หรือทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกมีน้ำหนักแรกเกิดน้อยกว่าเกณฑ์ ก็อาจส่งผลให้ลูกมีอาการสมาธิสั้นเมื่อโตขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากนี้ สภาพสังคมในปัจจุบันและปัจจัยจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ยุคใหม่ ยังทำให้เด็กจำนวนมาก มีอาการ “สมาธิสั้นเทียม” ซึ่งเป็นผลกระทบจากการเลี้ยงดูโดยขาดการใส่ใจ ไม่มีระเบียบวินัย บางครอบครัวผู้ปกครองปล่อยให้เด็กอยู่กับมือถือ แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ตลอดเวลา ส่งผลให้เด็ก ๆ มีพัฒนาการล่าช้า ขาดทักษะด้านการสื่อสารอย่างรุนแรง มีพฤติกรรมก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย รอคอยไม่ได้ และไม่สามารถเข้าสังคมได้ตามปกติเหมือนเด็กทั่วไป
เด็กดื้อ เด็กซน บ่งชี้ว่าเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่? สังเกตอย่างไรจึงจะรู้ว่าลูกสมาธิสั้น
หากคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจว่าลูกเราที่มีความซุกซน พูดเก่ง วิ่งเล่นได้ทั้งวัน ไม่สนใจคำสั่ง ไม่ชอบทำกิจกรรมที่ต้องอยู่นิ่ง ๆ จะจัดอยู่ในกลุ่มของเด็กที่มีอาการสมาธิสั้นหรือไม่ ให้ลองสังเกตง่าย ๆ ในเบื้องต้นว่า
- ลูกมีพฤติกรรมเข้าข่ายสมาธิสั้นมากน้อยเพียงใด
- เริ่มมีอาการตั้งแต่ก่อนหรือหลังอายุ 7 ขวบ
- มีอาการมานานต่อเนื่องกันมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปหรือไม่
สมาธิสั้นมีอะไรบ้าง สมาธิสั้นแบ่งได้กี่ระดับ?
อาการเด็กสมาธิสั้น สามารถแบ่งตามลักษณะพฤติกรรมได้ 3 กลุ่ม ดังนี้
-
อยู่นิ่งไม่ได้ (Hyperactivity)
มักมีอาการกระสับกระส่าย ไม่ชอบอยู่นิ่ง ๆ ต้องเคลื่อนไหวตลอดเวลา ชอบปีนป่าย วิ่งเล่นได้ทั้งวัน ชอบเล่นแรง ๆ มีพฤติกรรมชอบพูดแทรก พูดเร็ว พูดไม่หยุด พูดเรื่อย ๆ ได้ตลอดเวลา
-
ขาดความอดทน (Impulsivity)
เด็กกลุ่มนี้จะทำอะไรโดยขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น รอคอยอะไรไม่ได้ ถ้าอยากทำอะไรต้องทำทันที ชอบพูดสวนขึ้นมาก่อนที่คู่สนทนาจะพูดจบ วู่วาม ใจร้อนผิดปกติ หงุดหงิดเมื่อต้องรอหรือไม่ได้ดั่งใจ
-
ไม่มีสมาธิ (Inattention)
เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดสมาธิต่อเนื่องในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เนื่องจากจะไม่สามารถบังคับตัวเองให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน มักทำงานตกหล่น หลง ๆ ลืม ๆ อ่อนไหวต่อสิ่งเร้ารอบตัว เหม่อลอย ไม่สนใจฟังสิ่งที่คนอื่นพูด
เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น อาจจะมีลักษณะพฤติกรรมเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นร่วมกันทั้ง 3 กลุ่มก็ได้ หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยหรือพบว่า ลูกมีอาการเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น นอกจากการ ทำแบบทดสอบประเมินแนวโน้มความเสี่ยงสมาธิสั้นเบื้องต้นในเด็กวัย 3 – 6 ปี ผู้ปกครองควรรีบพามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อวินิจฉัยอาการโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากเข้ารับการรักษา รับประทานยา ร่วมกับปรับพฤติกรรม ทำกิจกรรมบำบัด ซึ่งทุกกระบวนการจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก นักจิตวิทยา นักกิจกรรมบำบัด พ่อแม่ผู้ปกครอง สมาชิกครอบครัว และคุณครูในโรงเรียน ยิ่งเด็ก ๆ ได้รับการบำบัดรักษาเร็วเท่าไร อาการสมาธิสั้นก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น จนสามารถใช้ชีวิตในสังคมปกติได้ดียิ่งขึ้นเท่านั้น
ทำแบบทดสอบประเมินความเสี่ยงสมาธิสั้นเบื้องต้น
ลูกสมาธิสั้น วิธีแก้และรับมือ
- ปรับพฤติกรรม ค่อยๆ ฝึกให้เด็กรู้จักการรอคอย การอดทน
- การให้คำชม ให้รางวัล เมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม
- จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่มีสิ่งกระตุ้นมากเกินไป สถานที่เรียนต้องค่อนข้างสงบ ไม่สับสนวุ่นวาย
- คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของโรค เพื่อรับมือดูแลอย่างเหมาะสม
- หมั่นทำกิจกรรมกับสิ่งที่ลูกชอบบ่อยๆ สม่ำเสมอ
- การรักษาโดยการใช้ยา ช่วยให้เด็กมีสมาธิ ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น
- ฝึกฝนการมีวินัยให้กับเด็ก มีระเบียบกำหนดกิจกรรมอย่างเป็นขั้นตอน
เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกรัก ตลอดจนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ จิตวิทยาการเลี้ยงลูก และนำไปปรับใช้ในการดูแลเด็ก ๆ แต่ละช่วงวัยได้อย่างเหมาะสม คุณพ่อคุณแม่สามารถติดตามคำแนะนำดี ๆ และขอรับคำปรึกษาด้านการดูแลลูกรักจากผู้เชี่ยวชาญ ได้ที่ Brainy Bean ศูนย์สุขภาพเด็กและวัยรุ่น หรือ Add LINE : @Healthsmilecenter
ข้อมูลอ้างอิง: rama ,siphhospital ,sikarin ,sikarin
บทความที่มีเนื้อหาคล้ายกัน
โรคสมาธิสั้นคืออะไร? มาทำความรู้จักกับโรค ADHD โรคที่ซับซ้อนกว่าที่คุณคิด
ลูกสมาธิสั้น หรือแค่ซนเป็นปกติ พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไร เด็กสมาธิสั้นมีอาการแบบไหน