เด็ก 3 เดือนก็ติดโควิดได้ ! อาการโควิดในเด็ก สังเกตยังไงดี มีสิ่งไหนที่คุณแม่ควรรู้

อาการโควิดในเด็ก ! เป็นแบบไหน จะสังเกตยังไง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยร้าย (ภาพโดยไทยรัฐ TV ช่อง32)

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

อาการโควิดในเด็ก สังเกตยังไงดี เด็กติดโควิดแล้วมีอาการแบบไหน อาการโควิดในเด็กที่สังเกตกันได้ง่าย ๆ เพื่อช่วยให้คุณแม่เฝ้าระวังลูกน้อยได้อย่างใกล้ชิด หากลูกน้อยติดโควิด คุณแม่จะต้องทำยังไงบ้าง เราจะพามาหาคำตอบในบทความนี้ !

 

โควิดในไทย

ในช่วงนี้ สถานการณ์โควิดในประเทศไทยเป็นไปอย่างเข้มข้น โดยมียอดพุ่งสูงขึ้นทุก ๆ วัน ซึ่งในวันนี้เอง ก็มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 18,501 ราย ทำให้ตอนนี้ประเทศไทยมียอดผู้ติดเชื้อโควิดระลอกใหม่สะสมทั้งหมดราว ๆ 8 แสนคน (ยอดตั้งแต่เดือนเมษยน 2564) และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 229 ราย ซึ่งก็มีรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ว่ามีเด็กจำนวน 99 คนที่ติดโควิดจากพ่อแม่ โดยผู้ป่วยอายุน้อยที่สุด คือ เด็กที่อายุเพียง 3 เดือนเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ เพราะเด็ก ๆ ยังภูมิต้านทานไม่ค่อยดี โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อย มักจะมีทางเดินหายใจที่ยังไม่ค่อยแข็งแรงนัก ในวันนี้ theAsianparent Thailand เลยมีวิธีสังเกตอาการโควิดในเด็ก และมีคำแนะนำในการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมาฝากเหล่าคุณแม่

 

โรคโควิดกับเด็ก

เมื่อไม่นานมานี้ ผลวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกาชี้ให้เห็นว่า เด็กโตอาจมีความเสี่ยงต่อการติดโควิดได้น้อย เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม เด็กทารกที่ยังอายุน้อย อาจไม่ได้มีภูมิต้านทานมากเท่ากับเด็กที่โตแล้ว ซึ่งเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปีนั้น จะมีความเสี่ยงเกิดอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรงเมื่อติดโควิด เนื่องจากเด็กทารกยังมีระบบทางเดินหายใจที่ไม่ค่อยแข็งแรง และมีภูมิคุ้มต้านทานในร่างกายที่ค่อนข้างอ่อนแอ นอกจากนี้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐอเมริกายังพบอีกว่า เด็กทารกที่ติดโควิดบางราย มีอาการรุนแรงกว่าเด็กโตและผู้ใหญ่ ซึ่งจากจำนวนเด็กทารก 59 คนที่ติดโควิด มีเด็ก 5 คนที่ต้องเข้ารับการรักษาในห้องฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ทารกส่วนใหญ่นั้น สามารถหายจากโรคได้ โดยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : เด็กทารก 1 เดือน ติดโควิด-19 จากแม่ ส่งตัวไปรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ภาพคุณหมอโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ กำลังรักษาเด็ก 3 เดือนที่ป่วยเป็นโควิด    ภาพจากเพจโรงพยาบาลนครพิงค์

อาการโควิดในเด็ก จะสังเกตยังไงได้บ้าง

โดยปกติ โควิดจะติดต่อจากคนสู่คน ผ่านทางอากาศ การไอ หรือการจามในระยะเพียง 1-2 เมตร รวมทั้ง โควิดยังสามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งอย่างน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระ ลูกบิดประตู โต๊ะ หรือราวจับได้อีกด้วย

 

สถานการณ์โควิดในประเทศไทยนั้น รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แถมโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มาจากประเทศอังกฤษ ก็ทำให้ร่างกายทรุดลงได้อย่างรวดเร็ว แถมตอนนี้เองก็มีข่าวเด็กติดโควิดที่จังหวัดเชียงใหม่อีก คุณแม่หลาย ๆ คนก็คงจะเป็นห่วงลูก และอยากรู้ว่าจะสังเกตอาการโควิดในเด็กได้อย่างไรบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว อาการโควิดที่มักจะเกิดกับเด็ก มีดังนี้

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา
  • เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ
  • มีน้ำมูกไหล
  • อาเจียน ท้องร่วง
  • หายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว
  • มีความอยากอาหารลดลง
  • มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป
  • รู้สึกง่วง
  • ปวดกล้ามเนื้อ

 

อาการต่าง ๆ เหล่านี้ มักเกิดขึ้นภายใน 2-14 วันหลังเด็กได้รับเชื้อโควิด และโดยปกติ เด็กทารกมักจะมีอาการดีขึ้นหลังจาก 14 วัน แต่หากเด็กมีภาวะแทรกซ้อน ก็อาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนานขึ้นกว่าเดิม อย่างไรก็ตาม เด็กทารกบางคนอาจจะติดโควิด แต่ไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาเลยก็ได้ ซึ่งนี่อาจทำให้เชื้อเเพร่จากเด็กไปสู่พ่อแม่ หรือคนดูแลที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก และจะยิ่งเป็นอันตรายมากกว่าเดิม หากภายในบ้านมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย

 

บทความที่เกี่ยวข้อง : คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดแล้วอันตรายหรือเปล่า ฉีดได้ตอนไหน

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

โควิด สามารถแพร่กระจายได้ในอากาศ จึงควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกัน   ภาพโดย jcomp จาก freepik

 

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นเมื่อติดโควิด

มีการศึกษาพบว่า เด็กทารกที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคทางพันธุกรรม โรคทางระบบประสาท และโรคเกี่ยวกับระบบการเผาผลาญในร่างกาย เป็นต้น รวมถึงเด็กคลอดก่อนกำหนด โดยอยู่ในครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงเมื่อเป็นโควิดได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างระบบการหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว หรือเกิดอาการช็อกจากภาวะขาดออกซิเจน

 

หากลูกน้อยติดโควิด ต้องทำอย่างไร

เมื่อพบว่าลูกน้อยของเราติดเชื้อ แต่เราหรือคนในบ้านไม่ได้ติดเชื้อ ขั้นแรกให้เฝ้าสังเกตอาการของเด็กก่อน โดยจะต้องเตรียมปรอทวัดไข้ ที่วัดออกซิเจนนิ้ว ยาลดไข้ ยาแก้ไอ และสมุดจดบันทึกอาการของเด็ก หากเด็กมีไข้ต่ำ มีน้ำมูก แต่ไม่ได้มีอาการเหนื่อยหอบหรือถ่ายเหลว และยังสามารถทานอาหารได้อยู่ ก็ยังสามารถรักษาตัวต่อที่บ้านได้ อย่างไรก็ตาม หากเด็กไข้สูงมากกว่า 38.5 องศา หายใจหอบ อกมีรอยบุ๋ม ระดับออกซิเจนต่ำกว่า 95% และทานอาหารไม่ได้ ให้รีบนำตัวเด็กส่งโรงพยาบาลทันที

 

คำแนะนำในการใช้ชีวิตให้ห่างไกลจากโควิด

เด็กทารกหรือเด็กเล็ก อยู่ในวัยที่ยังไม่สามารถดูแลและป้องกันตัวเองได้ แถมเด็ก ๆ ก็ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้น เราจึงควรดูแลและระมัดระวังไม่ให้เด็ก ๆ ติดโควิด โดยคุณแม่คุณพ่อเอง อาจทำตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อไม่ให้เด็กติดเชื้อได้ง่าย

 

  • เนื่องจากว่าเชื้อโควิด สามารถแพร่กระจายผ่านการไอ จาม หรือผ่านทางอากาศได้ ทางที่ดีจึงไม่ควรให้เด็กทารกหรือเด็กเล็กออกไปเล่นข้างนอกบ้าน
  • ให้หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนอื่น และไม่ควรให้แขกมาที่บ้านในช่วงนี้ โดยอาจเปลี่ยนไปพูดคุยหรือพบปะทางออนไลน์แทน
  • เมื่อต้องการซื้อของ ให้ซื้อจากทางออนไลน์ แทนการออกไปซื้อด้วยตัวเองนอกบ้าน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการสัมผัสกับเชื้อโควิด
  • หากไม่มีสินค้าหรืออาหารที่ต้องการซื้อในเว็บออนไลน์ ให้ลองติดต่อไปที่ผู้ผลิตหรือร้านค้าโดยตรง เพื่อเจรจาขอซื้อสินค้า หรือหากหายี่ห้อสินค้าที่ต้องการซื้อไม่เจอ ก็ให้ลองเปลี่ยนไปเป็นยี่ห้ออื่น
  • เมื่อต้องออกไปซื้อของใช้นอกบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรซื้อมาทีละเยอะ ๆ เพื่อกักตุนไว้ใช้นาน ๆ และเพื่อที่จะได้ไม่ต้องออกจากบ้านบ่อย ๆ
  • หากต้องพาลูกน้อยออกไปข้างนอก ให้เว้นระยะห่างจากคนอื่น 1-2 เมตรในขณะที่เดินอยู่
  • ไม่ควรสวมหน้ากากอนามัยให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี เพราะอาจทำให้เด็กหายใจไม่ออกได้
  • ให้เด็กล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างน้อย 20 วินาที ทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร หรือเมื่อสัมผัสจมูก ปาก หรือตา เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ติดอยู่ที่มือ
  • ให้เด็กใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือเมื่อต้องอยู่ในที่สาธารณะ โดยควรใช้เจลที่ผสมแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์
  • ให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย
  • หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ เพราะเชื้อโควิดอาจแพร่กระจายผ่านอุจจาระได้
  • เมื่อพบว่าคนในบ้านติดโควิด หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อ ควรแยกตัวผู้ป่วยออกจากคนในบ้านทันที เพราะเชื้อโควิดแพร่กระจายผ่านการสัมผัสได้โดยตรง
  • ไม่ควรให้ผู้ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดรับประทานอาหารร่วมกับคนอื่น ๆ และควรให้ทุกคนในบ้านสวมถุงมือขณะที่ล้างจานทุกครั้ง
  • เมื่อพบว่าเด็กติดโควิด ควรแยกเด็กออกให้ห่างจากคนภายในบ้าน เพราะเชื้อโควิดจากเด็ก สามารถแพร่กระจายสู่ผู้ใหญ่ได้ในระยะเวลาอันสั้น
  • หากเด็กหายใจลำบาก ปากเปลี่ยนสี หรือไม่สามารถกินนมได้ตามปกติ ควรพาเด็กเข้าพบแพทย์ทันที

 

คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นดูแลน้อง ๆ ไม่ให้ได้รับความเสี่ยงจากการติดโควิด เพราะเด็กยังมีภูมิต้านทานที่ไม่แข็งแรง ยิ่งเป็นเด็กอายุน้อย ก็ยิ่งอันตราย เพราะเด็กอาจมีอาการรุนแรง จนทำให้ร่างกายต่อสู้กับโรคไม่ไหว และแม้บางทีอาจเป็นเรื่องยาก ที่จะรู้ได้ว่าเด็กติดโควิดหรือไม่ เนื่องจากเด็กบางคนติดโควิดแต่ไม่แสดงอาการออกมา แต่หากว่าเด็กมีอาการแปลก ๆ อยู่ใกล้ผู้ที่ติดโควิด หรือมีความเสี่ยงที่จะติดโรคอยู่แล้ว ก็ควรนำเด็กไปพบแพทย์ เพื่อตรวจดูอาการจะดีกว่านะคะ

 

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

บทความที่เกี่ยวข้อง :
รวมราคาวัคซีนโควิด-19 และเทียบประสิทธิภาพ ต่างกันอย่างไร?
ลูกฉีดวัคซีน ไข้ขึ้น ทำยังไง วัคซีนตัวไหนทำให้เกิดไข้บ่อยสุด
ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ให้นมลูกได้ไหม ส่งผลกระทบถึงลูกหรือไม่

ที่มา : parents.com  , parents.com , parents.com , sikarin.com, youtube.com , naewna.com , facebook.com

บทความโดย

Kanokwan Suparat