หากเราจะไป เยี่ยมทารกแรกเกิด และคุณแม่หลังคลอดนั้น ในฐานะเพื่อนสาวคนสนิทสิ่งที่ต้องที่ต้องระวังคือเรื่องมารยาทในการเยี่ยม ซึ่งมีสิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำ เช่น การนัดเวลาเยี่ยม ทารกแรกเกิด ความสะอาดของผู้เยี่ยม โดยเฉพาะความสะอาดต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษเพราะผิวหนังของ ทารกแรกเกิด นั้นมีความบอบบาง และยังไม่มีภูมิต้านทานมากนัก ดังนั้น เพื่อป้องกันเชื้อโรคและความเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นเวลาไปเยี่ยมทารกแรกเกิด และคุณแม่หลังคลอด ชาวเราบรรดาป้าๆ น้าๆ ควรมีความระมัดระวังและปฏิบัติดังนี้
20 กฎเหล็กเมื่อต้องไป เยี่ยมทารกแรกเกิด
1. นัดเวลาเยี่ยม ทารกแรกเกิดกับคุณแม่ให้เรียบร้อย
อยากจะไปเยี่ยมทารกแรกเกิดทันทีที่รู้ข่าวว่าเพื่อนเราคลอด อย่าเพิ่งใจร้อนค่ะ ก่อนอื่นเราต้องนัดเวลากับคุณแม่ให้เรียบร้อย เพราะคุณแม่หลังคลอดนั้น มักจะมีช่วงให้นมทารกแรกเกิดไม่เป็นเวลา จึงทำให้เวลาพักผ่อนของคุณแม่และลูกจึงไม่ค่อยแน่นอนนัก หากเป็นไปได้ควรสอบถามเวลาเข้าเยี่ยมกับโรงพยาบาลให้แน่นอนก่อน จากนั้นจึงถามคุณแม่ว่าสะดวกให้เยี่ยมเวลาใด จึงจะสบายใจทั้งสองฝ่าย
2. ไม่ควรไปเยี่ยม คุณแม่และทารกแรกเกิดตั้งแต่วันแรก
เวลาไปเยี่ยมทารกแรกที่เกิด ไม่ควรไปทันที ควรเว้นระยะให้คุณแม่ที่เพิ่งคลอดลูกใหม่ๆ ปรับตัวสัก 2-3 วัน เพราะหลังคลอดคุณแม่ย่อมต้องการเวลาพักผ่อนอย่างมาก รวมถึงลูกน้อยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างเคร่งครัด ฉะนั้นเพื่อไม่ให้คุณแม่เกิดความเครียด เราควรไปเยี่ยมหลัง 2 วันผ่านไปแล้ว
3. ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนไปเยี่ยม
ก่อนเข้าเยี่ยม ทารกแรกเกิดทุกครั้ง ไม่ว่าเราจะได้อุ้มทารกน้อยหรือไม่ ต้องมั่นใจว่ามือของเราต้องสะอาด ไม่ว่าจะเป็นของขวัญที่เรานำไปฝาก หรือแก้วน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ที่เราสัมผัส หากหยิบจับสิ่งของในห้องแล้ว ควรระวังว่า คุณพ่อและคุณแม่ของเด็กอาจจะสัมผัสสิ่งของนั้นๆ ต่อจากเรา ดังนั้นพยายามล้างมือและพกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวไว้ตลอดค่ะ
4. เวลาไปเยี่ยม ควรแต่งกายให้เหมาะสม
ทำไมแค่เยี่ยม ทารกแรกเกิดต้องคำนึงถึงการแต่งกาย จริงอยู่อาจไม่ต้องเรียบร้อยราวกับเข้าสถานที่ราชการ แต่การแต่งกายให้เหมาะสมในที่นี้คือ เวลาไปเยี่ยมเด็ก ไม่ควรใส่เครื่องประดับต่างๆ ที่ทำจากโลหะและดูรุงรังเกินไป หากคุณแม่อนุญาตให้เพื่อนอย่างเราอุ้มลูกน้อยของเธอซึ่งเป็นทารกแรกเกิด เครื่องประดับ อย่างต่างหู นาฬิกา สร้อยข้อมือ อาจจะไปกระทบผิวบอบบางของทารกน้อย
5. ห้ามหอมทารกเด็ดขาด
การหอมเด็กตัวเล็กๆ ควรระมัดระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะทารกแรกเกิดที่ไม่มีภูมิต้านทานอย่างเรา และไม่ว่าคุณจะได้รับอนุญาตจากเพื่อนสนิทอย่างคุณแม่หรือไม่ เราต้องทราบว่า การหอมทารกแรกเกิดนั้นอาจนำเชื้อโรคไปสู่เด็กได้ ไม่ว่าจะเป็นทางลมหายใจ คราบน้ำลายจากรอยจูบ ต้องจำให้ขึ้นใจว่าทารกทุกคนนั้นยังไม่มีภูมิคุ้มกันที่มากพอเหมือนผู้ใหญ่
บทความที่เกี่ยวข้อง: สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อไปเยี่ยมพ่อแม่มือใหม่
6. อย่าใช้เวลาเยี่ยมนานจนเกินไป
ไปเยี่ยมคุณแม่หลังคลอดใหม่ๆ เราไม่ควรใช้เวลานาน เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อน และไม่รบกวนเวลานอนของทารกน้อย วันสำคัญในการต้อนรับสมาชิกใหม่อาจมีบรรดาญาติๆ ต่อคิวเข้าเยี่ยมทารกกันหลายเวลา เราไม่ควรปักหลักเยี่ยมจนใช้เวลานานเป็นชั่วโมง ควรใช้เวลาสัก 30 นาที เพื่อถามไถ่สุขภาพคุณแม่และให้ครอบครัว พ่อ แ ม่ลูก ได้ใช้เวลาร่วมกัน
7. ไม่ควรจัดปาร์ตี้ฉลองให้ทารกแรกเกิด
ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นยินดี แน่นอนว่าเพื่อนๆ ต่างต้องการฉลองให้คุณแม่มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้ ของขวัญแสนน่ารัก ลูกโป่งสีสวย สามารถนำไปฝากเพื่อความสดชื่น แต่ไม่ควรไปจัดปาร์ตี้กับคุณแม่อย่างครื้นเครง การเข้าเยี่ยมอย่างเงียบๆ คือมารยาทที่น่ารักที่สุด และไม่รบกวนเจ้าหน้าที่ด้วยค่ะ
8. ไม่ต้องเสียใจหากยังไม่ได้อุ้มเด็ก
ลูกใคร ใครก็หวง โดยเฉพาะคุณแม่หลังคลอด ยิ่งหวงลูกอย่างหนัก ต้องเข้าใจว่า ทารกแรกเกิดแต่ละคนนั้น ต้องห่วงใยเป็นพิเศษ เพราะเด็กทุกคนเมื่อเกิดมาแล้วย่อมสุขภาพ ความสมบูรณ์แตกต่างกัน บางคนอาจต้องเข้าตู้อบเป็นสัปดาห์ น้ำหนักตัวน้อย ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยังไม่พร้อมให้คนอื่นอุ้มลูก ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจว่า แม้ว่าลูกจะเกิดมาแข็งแรงดี แต่หากเป็นลูกของเรา เราก็อาจจะหวงเช่นกัน
9. ไม่ควรพาเด็กน้อยไปเยี่ยมด้วย
ถ้าหากคุณมีลูกและอยากพาไปเยี่ยมทารกแรกเกิดด้วย จริงอยู่เด็กวัยหัดเดินหรือวัยอนุบาล เป็นช่วงอายุกำลังน่ารักอีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ย่อมใส่ใจในความสะอาดอยู่แล้ว แต่เนื่องจากความน่ารักน่าเอ็นดูของทารกน้อย เด็กๆ อาจวิ่งเข้าใส่โดยไม่ทันระวัง เข้าไปหอมน้อง จูบน้อง อย่างที่พ่อแม่เด็กเองก็คว้าตัวลูกไม่ทัน ทางที่ดีไม่ควรนำลูกหลานไปเยี่ยมทารกแรกเกิดเพื่อความปลอดภัยค่ะ
10. ห้ามสูบบุหรี่หรือพาบุคคลที่สูบบุหรี่ไปด้วยเด็ดขาด
แม้จะมีกฎว่าห้ามสูบบุหรี่ในห้องพักผู้ป่วยหรือสามารถสูบบุหรี่นอกห้องได้ แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งตัวเราและผู้ติดตามไปด้วยนั้น ไม่ควรสูบบุหรี่ก่อนไปเยี่ยมคุณแม่หลังคลอดและทารกแรกเกิด เนื่องจากคราบเขม่าควันก็สามารถสร้างความระคายเคือง รวมถึงกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ด้วย
บทความที่น่าสนใจ: วิจัยเผยแม่ท้องสูบบุหรี่ มีผลเสียต่อลูกน้อยในครรภ์ ควันบุหรี่มีผลต่อทารกในครรภ์
11. เช็คสุขภาพที่ดีก่อนไปเยี่ยม
ช่วงหลังๆ ร่างกายคนเรามีอาการป่วยไม่แสดงอาการหลายคน ฉะนั้นต้องมั่นใจ เราสุขภาพแข็งแรง บางคนมีอาการภูมิแพ้ ต้องแน่ใจว่าอาการภูมิแพ้ไม่กำเริบ ถึงจะเป็นหวัดมีน้ำมูกนิดหน่อยก็ไม่ควรไป เราสามารถฝากของขวัญสำหรับทารกน้อยและคุณแม่หลังคลอดไว้ได้ค่ะ
12. อย่าฉีดน้ำหอม
นอกจากความสะอาดแล้ว เวลาไปเยี่ยม คุณแม่และเด็ก ควรให้ความสำคัญกับกลิ่นค่ะ เพราะน้ำหอมของคุณอาจไม่หอมสำหรับทุกคน ในช่วงเวลาแบบนี้ กลิ่นๆ ฉุนๆ อาจทำให้ตัวคุณหรือคุณแม่จามโดยไม่รู้ตัว กลิ่นบางกลิ่นที่เพื่อนคุณหรือคุณแม่อาจคุ้นเคย แต่หลังคลอดกลิ่นสะอาดๆ นั้นสำคัญและรู้สึกสบายที่สุดแค่อาบน้ำให้สะอาดก็พอ
13. ใส่ใจกับคุณแม่หลังคลอดก่อนใคร
ทุกครั้งที่ไปเยี่ยม หลายๆ คนอาจจะพุ่งตรงไปที่เบบี๋ตัวน้อย หยอกล้อเล่นเพื่อจะดูหน้าหลานให้ชื่นใจ แต่อย่าลืมว่าทารกแรกเกิดยังไม่รู้เรื่อง ดังนั้นควรใส่คุณพ่อคุณแม่เด็ก ถามไถ่สุขภาพของคุณแม่ อาการหลังคลอด ด้วยความเป็นห่วง ในเวลาแบบนี้คุณแม่มือใหม่อาจต้องการเพื่อนที่สนิทไว้ปรึกษาถึงสุขภาพใบแบบของผู้หญิงด้วยกัน
14. ของฝากคุณแม่หลังคลอด
จะไปเยี่ยมทารกและเพื่อนสนิททั้งที อย่าไปมือเปล่าค่ะ เราควรมีของฝากติดไม้ติดมือไปฝากคุณแม่ นอกจากเสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้น่ารักสำหรับเบบี๋แล้ว สุขภาพคุณแม่ก็สำคัญ แนะนำว่าควรเป็นอาหารบำรุงสุขภาพคุณแม่ อีกอย่างทารกแรกเกิดอาจได้รับของขวัญมากมาย ควรมองไปถึงผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องใช้เด็กแรกเกิดก็น่าสนใจ เพราะสามารถใช้ได้ทันทีค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง: 5 ของฝากคุณแม่หลังคลอด
15. ไม่ควรวิจารณ์ทารกแรกเกิด
เวลาไปเยี่ยม เรามักจะตื่นเต้นหน้าตาน่ารักของทารกแรกเกิด แม้จะสนิทแค่ไหนก็ไม่ควรพูดถึงลักษณะของลูกน้อยของเพื่อน เช่น รูปร่าง น้ำหนัก สีผิว หน้าตา เพราะเป็นการเสียมารยาทกับคุณพ่อคุณแม่เด็กอย่างมาก อีกทั้งเรื่องวิจารณ์หน้าตาว่าหน้าเหมือนใคร แม้จะเหมือนพ่อแม่ก็ตาม ก็ไม่ควรทำ
16. ใส่ใจต่อสุขภาพความงามของคุณแม่
หลังจากคุณแม่คลอดลูกน้อยแล้ว สิ่งที่คุณแม่หลังคลอดกังวลอีกเรื่อง ก็คือ ผิวพรรณและหน้าท้องที่อาจจะแตกลาย เพื่อนสาวอย่างเราๆ ควรซื้อผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เช่น เบบี้ออยทาท้อง หรือโลชั่นบำรุงผิว แต่ต้องสอบถามเภสัชกรทุกครั้งว่า คุณแม่ที่ให้นมบุตรสามารถใช้ได้หรือไม่ ตรงนี้ควรระวังให้ดี เพราะอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพต่อทารกแรกเกิดได้ค่ะ
17. ไม่ควรแนะนำวิธีการเลี้ยงลูกจนเกินไป
ไปเยี่ยม ทารกแรกเกิดเราควรใส่ใจถึงความสมบูรณ์ของทารกแรกเกิดอย่างห่วงใย ช่วงหลังคลอดคือช่วงพักพื้นทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่ หากเราเคยมีประสบการณ์คลอดลูกหรือเป็นคุณแม่มือใหม่มาแล้ว ก็ไม่ควรสอนหรือแนะนำวิธีเลี้ยงลูกจนเกินไป หากคุณแม่อยากเล่า เพื่อนๆ ก็ควรเป็นผู้ฟังที่ดีค่ะ เวลาไปเยี่ยม เราอาจแนะนำการดูแลลูกน้อยในเบื้องต้น เช่น วิธีอาบน้ำ วิธีสังเกตุอาการปวดท้องของลูก วิธีทำให้ลูกเรอหลังกินนม เป็นต้น
18. ไม่ควรถามถึงค่าใช้จ่ายในการคลอดลูก
เรื่องค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรของแต่ละครอบครัวย่อมไม่เหมือนกัน ดังนั้นเวลาไปเยี่ยม ทารกแรกเกิด ไม่ควรถามถึงค่าคลอดบุตรและใครคือผู้จ่าย อย่าลืมว่าคู่สามีภรรยา ย่อมมีการวางแผนค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน บางครอบครัวแชร์กันทุกอย่าง บางครอบครัวใช้ระบบกงสี ดังนั้น ไม่ว่าค่าใช้จ่ายจะมากหรือน้อย การที่คุณแม่คลอดลูกอย่างปลอดภัยและมีลูกที่น่ารัก ย่อมเป็นรื่องน่ายินดี
19. ไม่ควรถามถึงอนาคตลูก
เวลาไปเยี่ยม ทารกแรกเกิด ด้วยความเอ็นดู เพื่อนๆ ของคุณแม่อย่าเพิ่งใจร้อนถามคุณพ่อคุณแม่ว่า โตขึ้นอยากให้ลูกเป็นอะไร จะให้เข้าโรงเรียนไหน ช่วงปีแรกควรส่งความห่วงใยถึงสุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยจะดีกว่า แม้แต่ช่วงอนุบาล พ่อแม่แต่ละคู่ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนในการเลี้ยงดูลูกที่แตกต่างกัน
20. ไปเยี่ยมที่บ้านก็ต้องนัดเวลา
เพื่อนหลายคนอาจคิดว่าการไป เยี่ยมทารกแรกเกิดที่บ้านเลยจะสะดวกกว่าทั้งคุณแม่และลูกน้อย แต่หารู้ไหมว่า พอกลับไปที่บ้านแล้ว เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่เหนื่อยที่สุด เพราะคุณแม่อาจพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือต้องให้นมทารกแรกเกิด ไม่เป็นเวลา แถมยังนอนน้อย ช่วงเวลานี้อาจยังไม่ต้องการเซอร์ไพร์สใดๆ จากเพื่อนสาว ดังนั้นเวลาจะไปเยี่ยมจึงต้องโทร. นัดก่อนจะดีที่สุด
บทความที่คุณอาจสนใจ:
การดูแลทารกแรกเกิดเมื่อกลับบ้าน
5 เรื่องเกี่ยวกับเด็กแรกเกิดที่พ่อแม่ทุกคนต้องรู้
ทารกแรกเกิดเสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง
ที่มา: babblespacekidscafekonthong