หลาย ๆ บ้านคงต้องเคยเจอกับสถานการณ์ที่คุณพ่อคุณแม่ยุ่งกับการทำงานจนไม่มีเวลาดูแลลูก หรือแม้แต่หาคนช่วยดู จนบางครั้งอาจจำเป็นต้องพาลูกไปทำงานด้วย ถึงแม้จะได้ใกล้ชิดกับลูกมากขึ้น แต่การดูแลลูกอย่างทั่วถึงนั้นเป็นไปได้ยาก เมื่อเร็วๆ นี้ ได้เกิดเหตุการณ์สลดใจ เมื่อเด็กชายวัย 3 ขวบวิ่งเล่นอยู่ตามลำพัง เกิดแกะเทปพันสายไฟจนถูก ไฟดูด และเสียชีวิตลงในที่สุด เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก และยังสะท้อนให้เห็นถึงอันตรายที่แฝงอยู่ในบ้านของเรา อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ ล้วนมีความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายได้หากไม่ดูแลอย่างใกล้ชิด
โศกนาฏกรรม! ลูกน้อยวัย 3 ขวบ เล่นกับสายไฟ ถูกไฟดูด
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.67 ได้มีรายงานข่าว ที่เกิดภายในไซต์งานก่อสร้าง ซอยเทพารักษ์ 96 ทรัพย์พัฒนา ต.บางเมือง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และหน่วยกู้ชีพโรงพยาบาลบางพลี ได้รับแจ้งเหตุ เด็กถูก ไฟดูด จนหมดสติ
เมื่อมาถึงสถานที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ก็ได้พบกับเด็กชาย ผู้เสียชีวิต เป็นชาวกัมพูชา กำลังนอนหงายหมดสติ และมีพ่อกับแม่นั่งโศกเศร้า ร้องไห้อยู่ข้าง ๆ ภายในพื้นที่เกิดเหตุได้พบสายไฟ ซึ่งใช้สำหรับต่อใช้ในไซต์งานก่อสร้างขาดห้อยอยู่ ทางเจ้าหน้าที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งจึงได้เร่งปฐมพยาบาลในเบื้องต้นโดยการปั๊มหัวใจ แต่ไม่มีการตอบสนองใด ๆ จึงได้รีบประสานเจ้าหน้าที่ทีมพยาบาลจาก รพ.บางพลี ให้เข้าสนับสนุน รีบนำตัวไปรักษา แต่ระหว่างทางการเดินทางไปโรงพยาบาล ตัวเด็กไม่สามารถทนต่ออาการบาดเจ็บได้ จนเสียชีวิตในที่สุด
เบื้องต้นผู้เห็นเหตุการณ์ ได้กล่าวว่า ผู้บาดเจ็บเป็นลูกของคนงานก่อสร้างที่ทำงานในไซต์งาน ในระหว่างช่วงเกิดเหตุพ่อกับแม่ของเด็กกำลังทำงาน ส่วนตัวเด็กก็วิ่งเล่นอยู่ในบริเวณนั้นตามลำพัง ด้วยวัยที่กำลังซุกซน เด็กชายได้กระโดดไปดึงสายไฟที่ห้อยอยู่ แล้วแกะเทปพันสายไฟ ที่ไม่มีหุ้มทองแดง จึงทำให้ถูก ไฟดูด จนหงายท้อง หมดสติ และเสียชีวิตลงในที่สุด
ที่มา: Matichon
วิธีป้องกันเด็กเล็กจากการโดน ไฟดูด
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ถึงแม้ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ สายไฟ ปลั๊กไฟ หรือพวกอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ก็ถือเป็นอุปกรณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายได้หากใช้แบบไม่ระมัดระวัง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ที่อยู่ในช่วงอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ยังไม่ค่อยเข้าใจอะไรมาก ทำให้มีความเสี่ยงต่อการโดนไฟดูดมากที่สุด เด็กวัยนี้มักชอบเอานิ้วเขี่ยอะไรไปทั่ว ชอบหยิบของต่างๆ แหย่เข้าไปในรูปลั๊กไฟตามผนัง ตามปลั๊กสามตา หรือปลั๊กต่อพ่วงที่เสียบไฟไว้ บางครั้งก็คว้าสายไฟไปกัดหรือดึงเล่น จนสุดท้ายอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงกับลูกได้ ดังนั้นเราจึงควรหาวิธีป้องกันอุบัติเหตุไว้ก่อนจะดีกว่า
บทความที่เกี่ยวข้อง : 8 วิธีป้องกันเด็กถูก ไฟช็อต รับมืออย่างไรหากลูกถูกไฟช็อต
ซึ่งวันนี้เราจะมาแนะนำ 9 วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
1) ใส่ตัวครอบปลั๊กเมื่อไม่ได้ใช้
หาที่ครอบปลั๊กไฟมาปิดรูปลั๊กที่ไม่ได้ใช้ ป้องกันเด็กแหย่นิ้วหรือสิ่งของ โดยสามารถหาซื้อได้ตามแผนกเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้าง หรือตามร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าทั่วไป
2) ความสูงของปลั๊กไฟ
ควรติดตั้งปลั๊กไฟให้พ้นจากมือเด็ก โดยแนะนำให้อยู่สูงจากพื้นประมาณ 1.5 เมตร
3) เก็บและม้วนสายไฟทุกครั้ง
ควรเก็บและม้วนสายไฟของเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดหลังใช้งานเสร็จทุกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กจับหรือกัดสายไฟ
4) อย่าปล่อยให้สายไฟห้อยลงมาหรือเสียบพาดอยู่ตามพื้น
ลูกอาจกระชากสายไฟเล่นจนทำให้เกิดไฟช็อต และอาจทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น กระติกน้ำร้อนร่วงตกลงมาใส่ตัวเด็กได้
5) หมั่นตรวจสอบสายไฟ
อย่าปล่อยให้สายไฟเปื่อยหรือชำรุด หากเจอต้องเปลี่ยนทันที ไม่ควรนิ่งนอนใจ ในช่วงวัยนี้ เป็นช่วงที่เด็กกำลังซุกซนและมีความอยากรู้อยากเห็น เพราะเด็กอาจจับหรือกระชากสายไฟได้
6) ระวังปลั๊กสามตา หรือปลั๊กต่อพ่วง
ในกรณีที่มีการใช้ปลั๊กสามตา หรือปลั๊กต่อพ่วง ควรไว้ในที่สูง หรือ เก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรเสียบไฟมากจนเกินกำลังไฟ เพราะบางครั้งการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าพร้อมกันหลาย ๆ ตัว ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟช็อตหรือไฟรั่วได้
7) ระวังเสียบปลั๊กไม่แน่น
การเสียบปลั๊กไม่แน่น หรือ มีเหล็กเสียบเลื่อนออกมาก็เป็นอีกสิ่งที่ต้องคอยระวัง เพราะนอกจากจะเสี่ยงที่จะทำให้เกิดประกายไฟที่หัวปลั๊กแล้ว ยังเสี่ยงต่อการที่เด็กจะเอามือไปจับเล่นจนโดนไฟดูด อีกด้วย
8) ติดตั้งเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ
คุณพ่อคุณแม่ควรหาซื้อและติดตั้งเครื่องตัดไฟอัตโนมัติ ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้
9) ตรวจดูต้นไม้ที่ปลูกไว้รอบบ้านเสมอ
ตรวจดูต้นไม้ที่ปลูกไว้รอบบ้าน ไม่ให้เกี่ยวกับสายไฟ และหากพบเห็นควรโทรแจ้งเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าให้มาช่วยจัดการจะดีที่สุด เพื่อเลี่ยงปัญหาอุบัติเหตุค่ะ
วิธีปฐมพยาบาลเมื่อลูกถูก ไฟช็อต หรือ ไฟดูด
ถึงแม้เราอาจมีวิธีป้องกันการเกิดอุบัติเหตุไฟดูดแล้ว แต่ในอุบัติเหตุเหล่านี้มักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากเกิดเหตุขึ้นจริง ๆ เราควรมีวิธีรับมือกับเหตุการณ์นี้อย่างไรได้บ้าง มาดูกันค่ะ
1) ทันทีที่ลูกโดนไฟดูด อย่าเพิ่งรีบเข้าไปช่วยทันที เพราะกระแสไฟฟ้าจะวิ่งเข้าสู่ร่างกายของเราด้วยได้ แต่ให้รีบสับคัตเอาท์หรือตัดกระแสไฟให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ยิ่งช้ายิ่งหมายถึงว่าชีวิตของลูกยิ่งเสี่ยงขึ้น ให้ตัดแหล่งกำเนิดไฟฟ้าก่อน แล้วจึงเข้าไปช่วยเหลือตามลำดับ
2) หากกระแสไฟฟ้ายังทำงานอยู่ ให้ใช้ไม้กวาด เก้าอี้ ผ้าผืนใหญ่ หรือพรมเช็ดเท้า มาช่วยดันตัวเด็กที่ถูกไฟช็อตให้ออกห่างจากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกิดการช็อต ในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ควรยืนอยู่บนพื้นที่แห้ง หรือมีผ้าหรือกระดาษหนังสือพิมพ์รองเท้าขณะที่เข้าช่วยเหลือ รวมถึงห้ามใช้อุปกรณ์ที่เป็นเหล็กหรือ เปียกน้ำ เพราะสิ่งเหล่านี่จะเป็นตัวนำไฟฟ้า
3) ตรวจสัญญาณชีพ หรือดูว่าเด็กยังหายใจอยู่ไหม หากมีสัญญาณชีพที่อ่อนแรง หรือหยุดหายใจ ควรเริ่มปฐมพยาบาล ด้วยการทำ CPR ทันที
4) หากมีรอยแผลไหม้ ควรถอดเสื้อผ้าชิ้นที่ถอดออกง่าย และรินน้ำสะอาดล้างแผลไหม้จนกว่าอาการจะทุเลาลง
5) หากเด็กเกิดอาการเป็นลม ตัวซีด หรือเกิดอาการช็อค ให้รีบวางตัวผู้ป่วยลง โดยควรให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าลำตัว ยกขาขึ้น และห่มด้วยผ้าห่ม คอยอยู่ดูแลเด็กจนกว่ารถพยาบาลจะมารับตัวไปรักษาค่ะ
แม้ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่อุบัติเหตุ ไฟช็อต และ ไฟดูด เป็นอันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทุกที่ ทุกเวลา คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีความรู้และเตรียมพร้อมรับมือ สิ่งสำคัญคือการเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน หลีกเลี่ยงการประหยัดด้วยการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าราคาถูก เพราะเสี่ยงต่อการรั่วไหลของกระแสไฟและอาจทำให้เกิดไฟดูดได้ นอกจากนี้ ควรหมั่นตรวจสอบสภาพสายไฟ ปลั๊กไฟ และติดตั้งอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว เพื่อป้องกันอันตรายภายในบ้าน อย่าลืมสอนให้ลูกน้อยรู้จักอันตรายจากไฟฟ้า และไม่ให้เล่นใกล้กับอุปกรณ์ไฟฟ้า การใส่ใจดูแลเด็กอย่างใกล้ชิดและป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้ จะช่วยสร้างบ้านที่ปลอดภัย ปราศจากอันตรายกันค่ะ
ที่มา: DDproperty, Pobpad
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
สุดสยอง! หญิงสาวกดกาแฟ ตู้กดอัตโนมัติ พบเจอสิ่งไม่คาดฝัน อาการทรุดเข้าห้องไอซียู
รัดแน่นไปหรือเปล่า? รพ. ใช้สายวัดชีพจรที่เท้าเด็ก 6 เดือน จนเป็นรอยช้ำ
อุทาหรณ์! เด็กจมน้ำ ทั้งที่ใส่ห่วงยาง เกือบไม่รอด รีบพาส่งไอซียู ทันที!