เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ รายงานเรื่องราวสุดน่าทึ่ง แม่คลอดลูกน้ำหนัก 7 กิโลกรัม โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองคูรานิลาฮู ประเทศชิลี อย่างไรก็ตาม หนูน้อยคนนี้มีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด จึงถูกนำตัวไปรักษาในโรงพยาบาลในเมืองก่อน
แม่คลอดลูกน้ำหนัก 7 กิโลกรัม ทำลายสถิติเด็กแรกเกิดในชิลี
เรื่องราวนี้เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา คุณแม่ชาวชิลีท่านหนึ่งได้ให้กำเนิดลูกน้อย น้ำหนักแรกเกิดกว่า 7 กิโลกรัม ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองคูรานิลาฮู (Curanilahue) ของประเทศชิลี ถือเป็นการทำลายสถิติทารกแรกเกิดที่มีน้ำหนักมากที่สุด จากสถิติเดิมคือ 6 กิโลกรัม
สื่อท้องถิ่นได้รายงานว่า ด้านโฆษกของทางโรงพยาบาลได้แถลงว่า ทีมแพทย์จำเป็นต้องย้ายตัวทารกแรกเกิดคนนี้ไปยังโรงพยาบาลอื่น เนื่องจากมีภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด โดยทารกคนนี้มีภาวะตัวโต (Macrosomic) ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะตัวเหลือง จากการมีสารบิลิรูบินอยู่ในเลือดมากกว่าปกติ และโรคเลือดข้น (Polycythemia) อย่างไรก็ดี ขณะนี้อาการของทารกน้อยยังคงทรงตัว แต่ทีมแพทย์ยังต้องเฝ้าระวังอาการอยู่ในแผนกผู้ป่วยวิกฤตอย่างใกล้ชิด ขณะที่คุณแม่ของน้องยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเดิม เพื่อรับการรักษาต่อเนื่อง และรอพบลูกชายของเธอ
ที่มา : khaosod.co.th
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่สุดช็อก คลอดทารกไซซ์ยักษ์ น้ำหนักแรกเกิดลูก 6 กิโลกว่า
เด็กแรกเกิดน้ำหนักตัวเยอะผิดปกติไหม
โดยทั่วไปแล้ว ทารกแรกเกิดหลังคลอดจะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 2.5 กิโลกรัม แต่หากน้ำหนักของทารกแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม นั่นแปลว่าน้ำหนักเกินกว่าปกติ แต่โดยทั่วไปแล้ว การที่ทารกมีน้ำหนักเยอะอาจไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด แต่อาจส่งผลในเรื่องอื่น ๆ เช่น โรคอ้วนเมื่อเด็กโตขึ้นนั่นเอง ซึ่งการที่ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวเยอะนั่น อาจเกิดจากน้ำหนักของคุณแม่เอง หากคุณแม่มีน้ำหนักตัวมาก ก็จะส่งผลให้ลูกในครรภ์มีน้ำหนักเยอะด้วย หรือคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานก็จะส่งผลต่อน้ำหนักตัวลูกเช่นกัน นอกจากนี้ คุณแม่ที่เคยผ่านการตั้งครรภ์มาแล้วหลายครั้ง ก็ส่งผลให้ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวเยอะเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การที่ทารกแรกเกิดมีน้ำหนักตัวเกิน อาจทำให้เกิดความเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน เช่น อาจมีปัญหาไหล่ติดตอนคลอด เพราะเด็กที่ตัวใหญ่ทำให้คุณแม่คลอดลำบาก และอาจส่งผลให้คุณแม่บาดเจ็บที่ช่องคลอดด้วย นอกจากนี้ ทารกอาจมีภาวะน้ำตาลต่ำหลังคลอด เนื่องจากตอนอยู่ในครรภ์ได้รับน้ำตาลผ่านสายสะดือ แต่เมื่อคลอดมาแล้วร่างกายของเด็กยังผลิตสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่เต็มที่ ทำให้เด็กต้องการน้ำตาลมากนั่นเอง รวมถึงร่างกายของทารกยังมีการจัดการกับน้ำตาลที่ผิดปกติ อาจส่งผลให้เด็กเป็นเบาหวานได้
ที่มา : rama.mahidol.ac.th
บทความที่เกี่ยวข้อง : ขนาดของทารกในครรภ์ ลูกในท้องแม่ใกล้คลอดมีขนาดและน้ำหนักเท่าไหนกันนะ
ทำความรู้จักภาวะทารกตัวโต
ภาวะทารกตัวโต (macrosomia) คือ ภาวะที่ทารกมีน้ำหนักตัวแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัมขึ้นไป ทารกที่มีน้ำหนักตัวมากและมีภาวะตัวโต อาจมีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยมากกว่าทารกที่น้ำหนักปกติ โดยอาจบาดเจ็บจากการคลอด และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังคลอด รวมถึงทำให้เกิดปัญหาคลอดยากตามมา ช่องคลอดของคุณแม่อาจฉีกขาด และอาจเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอด
คุณแม่ท่านใดที่มีปัจจัยเสี่ยงทารกตัวโต
- คุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- คุณแม่ที่มีการตั้งครรภ์เกินกำหนด
- คุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์
- คุณแม่ที่มีภาวะอ้วนก่อนตั้งครรภ์
- คุณแม่ที่มีอายุมาก
- คุณแม่ที่เคยมีประวัติมีบุตรหลายคน
- คุณแม่ที่เคยคลอดทารกตัวโตมาก่อน
- ทารกในครรภ์เพศชาย
- เกิดจากพันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติมีทารกตัวโตมาก่อน
ภาวะแทรกซ้อนจากทารกตัวโต
การที่ทารกในครรภ์ตัวโต อาจทำให้เกิดอันตรายต่อตัวคุณแม่และตัวทารกเองได้ ซึ่งภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงที่เกิดจากทารกตัวโตจากการคลอดผ่านทางช่องคลอด มีดังนี้
- ร่างกายทารกบาดเจ็บจากการคลอดยาก หรือการใช้เครื่องมือช่วยคลอดต่าง ๆ
- ทารกคลอดติดไหล่
- ทารกเกิดความพิการทางสมอง จากการคลอดลำบาก
- ทารกมีโอกาสเสียชีวิตจากการคลอดยาก
- คุณแม่มีโอกาสเสียเลือดมากขณะคลอด หรือเกิดการตกเลือดหลังคลอด
- ช่องคลอดคุณแม่ฉีกขาด ทำให้เสียเลือดได้มาก
- เสี่ยงติดเชื้อจากแผลที่ช่องคลอดสูง
- คุณแม่เสี่ยงได้รับการผ่าตัดคลอดลูก
- คุณแม่เสี่ยงมดลูกแตก
- คุณแม่เสี่ยงต่อการใช้เครื่องมือช่วยคลอด เช่น คีมช่วยคลอด หรือเครื่องดูดสุญญากาศ เป็นต้น
วิธีรักษาภาวะทารกตัวโต
การรักษาภาวะทารกในครรภ์ตัวโต แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าทารกในครรภ์ตัวโตเกินไปหรือไหม และมีความผิดสัดส่วนของทารกกับอุ้งเชิงกรานคุณแม่หรือเปล่า หากแพทย์วินิจฉัยได้ว่าทารกมีภาวะตัวโต จะทำการรักษาโดยการผ่าคลอดแทน โดยไม่ต้องรอคลอดทางช่องคลอด ซึ่งขณะที่คุณแม่คลอดลูกแพทย์จะทำการตรวจภายในเพื่อประเมินปากมดลูก และแรงหดรัดตัวของมดลูกไปด้วย หากพบว่ามีการหยุดชะงัก จะดำเนินการคลอดโดยการผ่าตัดคลอดทันที
บทความที่เกี่ยวข้อง : ขนาดของทารกในครรภ์ ลูกในท้องแม่ใกล้คลอดมีขนาดและน้ำหนักเท่าไหนกันนะ
ภาวะทารกตัวโตป้องกันอย่างไร
ภาวะทารกในครรภ์ตัวโต คุณแม่สามารถป้องกันด้วยการหลีกเลี่ยงไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ และควรควบคุมการรับประทานอาหารอย่างพอเหมาะ รวมถึงต้องไปตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และควบคุมรักษาเบาหวานอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะเป็นผู้วางแผนและให้คำแนะนำแก่คุณแม่ที่มีภาวะเสี่ยง เพื่อช่วยป้องกันภาวะดังกล่าว
ทารกตัวโตมีปัญหาหลังคลอดไหม
ทารกที่มีภาวะตัวโต อาจมีปัญหาหลังคลอด 2 ด้าน ได้แก่
- มีโอกาสเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหลังคลอด เพราะตอนอยู่ในครรภ์มีน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้ระดับฮอร์โมนอินซูลินสูงขึ้นหลังคลอด ทารกจะไม่มีน้ำตาลจากคุณแม่มาชดเชยฮอร์โมนอินซูลินที่สูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำจนเกิดภาวะดังกล่าวนั่นเอง
- มีโอกาสเป็นโรคอ้วนในอนาคต
ที่มา : haamor.com
คุณแม่ควรไปฝากครรภ์กับแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุณหมอช่วยตรวจดูอย่างละเอียด หากพบว่าทารกในครรภ์มีน้ำหนักมากเกินปกติ แพทย์จะช่วยวางแผนเรื่องโภชนาการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาจต้องใส่ใจเรื่องอาการกินเป็นพิเศษ เพราะมีส่วนทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์ได้ด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ชี้เป้า 10 เครื่องชั่งน้ำหนักทารก วัดค่าแม่นยำ แสดงผลชัดเจน
วิธีเพิ่มน้ำหนักทารกในครรภ์ แก้ปัญหาลูกในท้องตัวเล็ก ต้องทำอย่างไรบ้าง?
น้ำหนักทารกในครรภ์ แบบไหนตัวใหญ่ตัวเล็ก ถ้าน้ำหนักลูกในครรภ์น้อยทำไงดี