ผู้ปกครองเด็ก ป.6 เมืองลำพูน วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเยียวยา เหตุลูกชายลืมหน้ากากอนามัยไปโรงเรียน ทำให้เข้าห้องเรียนช้า โดนครู สั่งลุกนั่งเด็ก 12 กระดูกขาแตกร้าว ติดเชื้อ ต้องรักษาตัวนาน 5 เดือน แต่อาการยังไม่ดีขึ้น ไม่ได้เรียนต่อ ม.1 ทางโรงเรียนช่วย 10,000 บาท และ สพป.จ่าย 3 พัน
ชาวบ้านโป่งแดง จ.ลำพูน ได้เข้าร้องเรียนว่ามีเด็กถูกครู สั่งลุกนั่งเด็ก 12 กระดูกขาแตกร้าว ต้องใช้ไม้ค้ำตลอดเป็นเวลากว่า 5 เดือนแล้ว รักษายังไงก็ไม่หาย และอาการในช่วงนี้ก็หนักขึ้น จากที่เคยรักษาในหมู่บ้าน ก็ต้องนำตัวส่งที่โรงพยาบาลจังหวัดลำพูนอย่างเร่งด่วน เมื่อผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่พบนายพงษ์ (นามสมมุติ) ผู้เป็นพ่อ ได้นำลูกชาย ชื่อ ด.ช.ตุ้ย (นามสมมุติ) เข้ารักษาตัวที่ห้องรวมโรคกระดูกชั้น 1 โรงพยาบาลลำพูน และได้เปิดเผยว่าน้องตุ้ย อายุ 12 ปี น้ำหนัก 80 กิโลกรัม ก่อนหน้านั้นน้องอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับการบาดเจ็บกระดูกแตกร้าวและอักเสบที่ขาซ้าย
เนื่องจากถูกคุณครูทำโทษ ตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2566 สาเหตุเพราะน้องทำผิดลืมเอาหน้ากากอนามัยมาโรงเรียน จึงทำให้ไปโรงเรียนสาย จึงถูกครูทำโทษครั้งแรกในช่วงเช้า โดยครูสั่งให้ลุกนั่งหรือสก็อตจัมพ์ จำนวน 50 ครั้ง ครั้งแรกน้องบอกว่าเริ่มมีอาการเจ็บขาแล้ว ต่อมาในวันเดียวกัน ช่วงเวลาเรียนประมาณ 13.00 น. ต้องเข้าเรียนในช่วงบ่าย แต่น้องตุ้ยกับเพื่อน ๆ ได้เข้าห้องเรียนช้า เพราะเล่นฟุตบอล พอเข้าห้องเรียนครูก็ทำโทษอีกครั้ง ให้ลุกนั่งพร้อมกับเพื่อน ๆ ทั้งห้องคนละ 100 ครั้ง
เมื่อน้องกลับถึงบ้านก็มีอาการเจ็บขามาก แต่วันแรกยังไม่กล้าบอกพ่อ เพราะกลัวคุณครู และกลัวที่บ้านจะพาไปหาหมอ แต่วันถัดมาก็ไม่สามารถไปโรงเรียนได้แล้ว เพราะอาการหนักมากจนเดินเองไม่ได้ จากนั้นพ่อก็พาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุ่งหัวช้างตั้งแต่ 11 ก.พ. 2566 เป็นต้นมา และลาโรงเรียนยาวจนถึงปัจจุบันรวม ๆ แล้วก็ประมาณ 5 เดือน
นายพงษ์ ได้เพิ่มเติมอีกว่า ลูกชายได้รักษาตัวที่บ้านสลับกับรักษาที่โรงพยาบาลตลอดมา ซึ่งทางครอบครัวเองก็ได้แจ้งให้คุณครูที่ลงโทษลูกทราบแล้ว ตอนนั้นลูกยังเรียนไม่จบ กำลังอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จึงได้พูดคุยกับครูและทางโรงเรียน จากนั้นก็ได้มอบเงินมาส่วนหนึ่ง จำนวน 10,000 บาท และสำนักงานเขตการศึกษาฯ ก็นำเงินมามอบให้อีก 3,000 บาท จากนั้นก็ไม่ได้รับเงินชดเชยช่วยเหลืออะไรอีกเลย
ซึ่งอาการของน้องก็ยังไม่ดีขึ้นเลย แถมยังหนักขึ้นเรื่อย ๆ จากที่รักษาตัวที่โรงพยาบาลทุ่งหัวช้าง ก็ได้ส่งต่อมาที่โรงพยาบาลจังหวัดลำพูน เพราะทางคุณหมอเห็นว่าอาการของน้องเป็นหนัก และก็มีการรักษาตัวมาเป็นเวลานานแล้วแต่ไม่ดีขึ้นเลย ส่วนผลการตรวจกระดูกล่าสุดก็พบว่า กระดูกร้าวและอักเสบ แผลติดเชื้อ น้องต้องนอนในโรงพยาบาลรอดูอาการว่าจะต้องผ่าตัดหรือไม่
คุณพ่อของน้องบอกว่า ตอนนี้ลำบากมากเพราะไม่มีรายได้ ต้องมาเฝ้าลูกตลอด ล่าสุดได้ประสานไปที่โรงเรียนถึงอาการของลูกก็ได้รับคำตอบมาว่า น้องไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของทางโรงเรียนแล้ว จึงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับผิดชอบช่วยเหลือครอบครัวตนด้วย เพราะหมดเงินค่ารักษาไปประมาณเดือนละหนึ่งหมื่นบาท รวมตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์มาถึงเดือนนี้รวมก็ประมาณ 5 เดือน รวมเงินทั้งหมดไป 50,000 บาท
ด้านน้องตุ้ยเองก็ยอมรับว่าสาเหตุการถูกทำโทษมาจากการทำผิดกฎของโรงเรียนจริง ๆ เพราะวันนั้นลืมเอาหน้ากากอนามัยไปโรงเรียน จึงถูกลงโทษให้ลุกนั่ง 50 ครั้ง และช่วงบ่ายเข้าเรียนช้า ก็ถูกครูลงโทษเด็กผู้ชายทั้งห้องไปอีก 100 ครั้ง รวมแล้ววันนั้นตนถูกทำโทษลุกนั่งทั้งหมด 150 ครั้ง จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น และคาดว่ามาจากน้ำหนักตัวเยอะ ส่วนเพื่อนคนอื่นมีอาการปวด 2-3 วันก็หาย แต่ตนยังไม่หายต้องนอนรักษาตัวนานเกือบ 6 เดือนแล้ว ทำให้ไม่สามารถไปสอบเรียนต่อชั้น ม.1 ได้ และได้ยอมรับว่าเบื่อกับการรักษาแล้วอยากไปโรงเรียนเร็ว ๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ครูขอโทษ รับทำเกินกว่าเหตุ ตีเด็กกว่า 30 ครั้งจนขาช้ำ
วิธีการทำโทษเด็กอย่างสร้างสรรค์
1. วิเคราะห์เด็ก
เด็ก ๆ แต่ละคนแต่ละช่วงวัยมีความแตกต่างกัน หากครูจำเป็นต้องทำโทษนักเรียน สิ่งแรกเลยต้องดูก่อนว่าเด็กที่เราจะทำโทษนั้น เขาอยู่ช่วงวัยไหน อีกทั้งยังต้องวิเคราะห์ด้วยว่าเด็ก ๆ ได้รับการเลี้ยงดูมาอย่างไร ไม่ใช่ลงโทษตามใจตัวเองอย่างเดียว อย่าลืมว่าครอบครัวของเด็ก ๆ เองก็สามารถฟ้องครูได้เหมือนกันหากได้รับอาการบาดเจ็บจากการถูกทำโทษ
2. วิเคราะห์ความผิด
- ความผิดของเด็ก เมื่อครูเห็นเด็กทำผิด สิ่งแรกที่ต้องทำคือการถามถึงสาเหตุก่อน พูดคุยให้เข้าใจกันแทนการทำโทษด้วยความรุนแรง และพยายามสอนเขาว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีและไม่ควรทำอย่างไรบ้าง ที่สำคัญต้องไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจความผิดนั้น ๆ ร่วมด้วยค่ะ
- ลงโทษอย่างมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ในการทำโทษเป็นสิ่งสำคัญ หากใช้อารมณ์จะทำให้เด็ก ๆ ไม่ได้เกิดการสำนึกอะไรและมีโอกาสทำผิดอีกครั้ง ดังนั้นเมื่อมีการลงโทษควรไตร่ตรองให้ดีก่อน เพื่อให้เขามีนิสัยและความประพฤติที่ดีขึ้นด้วยค่ะ
- รูปแบบของการทำโทษ การลงโทษก็เหมือนการสอนหนังสือ นักเรียนแต่ละคนรับรู้ได้ไม่เท่ากัน คุณครูจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามบุคคลด้วยค่ะเพื่อให้เด็ก ๆ เข้าใจสิ่งที่ครูจะสื่อ เช่น งดกิจกรรมที่เขาต้องการหรือที่ชอบ เป็นต้น
ในปัจจุบันการทำโทษเด็กนักเรียนให้สร้างสรรค์นั้นมีหลากหลายรูปแบบมาก ๆ ไม่จำเป็นต้องรุนแรงหรือใช้อารมณ์กับเด็ก เพราะอย่างที่เกริ่นไปเมื่อข้างต้นว่าการใช้อารมณ์ไม่ได้ทำให้เด็กเข้าใจว่าทำไมครูถึงต้องทำโทษ แถมยังกลายเป็นสิ่งที่ฝังใจเด็ก ๆ ด้วยค่ะ ดังนั้น การทำโทษด้วยการวิเคราะห์ถึงต้นเหตุของการทำผิดจึงเป็นสิ่งที่ควรทำที่สุดค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
แม่ควรทำไงดี เมื่อลูกถูกครูตีจนกระดูกมือร้าว
ผู้คุมหอพักโหด! ลงโทษเด็ก 8 ขวบ ลุกนั่ง 300 ครั้ง จนตับไตทำงานไม่ปกติ
ครูตบหน้านักเรียน ! จนช้ำเป็นรอยนิ้ว พ่อออกมาร้องขอความเป็นธรรม
ที่มา :