เมื่อในวันที่ 24 เมษายน 2566 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ อ้น ตัวเล็กน้อย ร้อยเปอร์เซ็น เป็นคุณแม่ท่านหนึ่ง ได้โพสต์ภาพเกี่ยวกับก้นของ ดินสอเปลี่ยนไส้ เอาไว้ พร้อมระบุข้อความว่า “ตกใจกับสิ่งที่เจอ จมูกมีกลิ่นเหม็น สงสัยยัดเข้าไปตอนยังเด็ก ไปหาหมอกะหลายหม่องกะว่าแต่จมูกอักเสบ เป็นไซนัสอักเสบ โอ๊ย…ลูกข่อย” ซึ่งทางคุณแม่ก็ได้คาดเดาเอาไว้ด้วยว่า ก้นดินสอเปลี่ยนไส้ ที่ติดอยู่ในจมูกลูกน่าจะติดมานาน 10 ปีแล้ว
นอกจากนี้คุณแม่ยังได้คอมเมนต์เพิ่มเติมอีกว่า “ไม่รู้ว่าลูกเอายัดเข้าไปเมื่อไร จนตอนนี้ลูกอายุ 11 ขวบถึงมาเจอ ถามลูกก็บอกไม่เจ็บ ไม่มีอาการอะไรเลย มีแต่กลิ่นเหม็นเน่าออกมาจากจมูก จนครั้งนี้ไปหาหมอ หมอส่องกล้องจึงเห็นและคีบออกมาได้อย่างปลอดภัย” ซึ่งก่อนหน้าคุณแม่เองก็ได้พาไปหาคุณหมออยู่หลายที่ ส่วนใหญ่ผลก็มักจะออกมาในแนว ๆ เดียวกันคือ จมูกอักเสบเรื้อรัง ไซนัสอักเสบ หมอก็ให้ยาฆ่าเชื้อกะน้ำเกลือมาล้างจมูกก็เลยไม่มีกลิ่นเป็น ๆ หาย ๆ แบบนี้ ซึ่งโพสต์ดังกล่าวก็สร้างความตกตะลึงให้ชาวเน็ตอยู่ไม่น้อย โดยหลายคนก็แนะนำว่าอย่าปล่อยให้ลูกเล่นเพียงลำพัง
ดินสอเปลี่ยนไส้ คืออะไร มีที่มาอย่างไร ?
ดินสอเปลี่ยนไส้ถือเป็นดินสอที่มีความนิยมอย่างมากสำหรับเด็ก ๆ ช่วงอนุบาลและประถมศึกษา เพราะใช้งานง่าย น้ำหนักเบา แถมยังมีลวดลายที่สวยงามอีกด้วย ที่สำคัญเลยก็คือสามารถเปลี่ยนไส้ดินสอได้ โดยบางคนก็เรียกดินสอชนิดนี้ว่า ดินสออพอลโล มีถิ่นกำเนิดจากไต้หวันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ส่วนผู้ที่คิดค้นก็คือ K.C. Chuang เพราะเขาไม่อยากเหลาดินสอบ่อย ๆ จึงได้ประดิษฐ์ดินสอเปลี่ยนไส้ขึ้นมาและมีการพัฒนามาเรื่อย ๆ จนก่อตั้งบริษัทที่มีชื่อว่า Pioneer Industrial Crop. และให้ชื่อแบนด์ว่า ‘Bensia’ แปลว่า ไม่ต้องเหลา การผลิตดินสอในช่วงแรกใช้แรงงานคนเป็นหลัก เพราะไม่มีเครื่องจักรไหนทำได้ และหลังจากนั้นไม่นานเขาก็ได้คิดค้นเครื่องจักรเพื่อมาผลิตดินสอขึ้นมาจนสำเร็จในช่วงปี 2512
แน่นอนอยู่แล้วว่าการผลิตดินสอด้วยเครื่องจักรทำให้คุณภาพดินสอออกมาได้เท่ากัน จึงสามารถควบคุมต้นทุนในการผลิตได้ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนได้รับการจดสิทธิบัตรและถูกวางจำหน่ายมากกว่า 90 ประเทศ ในส่วนของประเทศไทยเริ่มมีการนำดินสอเปลี่ยนไส้เข้ามาเมื่อปี 2531 โดยใช้ชื่อบริษัทว่า เบนเซีย และในปัจจุบันก็มีการทำสินค้าเครื่องเขียนอื่น ๆ เพิ่มด้วยค่ะ
ดินสอเปลี่ยนไส้ อันตรายต่อเด็กจริงมั้ย ?
การเลือกใช้ดินสอให้เหมาะกับเด็ก ๆ แต่ละช่วงวัยถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะในช่วงวัยอนุบาล เนื่องจากเป็นวัยที่กำลังซน อยากรู้อยากเห็น ชอบทดลองอะไรใหม่ ๆ ด้วยตัวเอง การให้ลูกน้อยใช้ดินสอเปลี่ยนไส้อาจจะยังไม่ตอบโจทย์เท่าไร ทั้งยังเป็นอันตรายต่อเด็กอีกด้วย อย่างแรกเลยก็คือ
1. ดินสอเปลี่ยนไส้ มีความแหลมคม
ความแหลมคมของไส้ดินสอถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่อันตรายต่อเด็ก ๆ อย่างมากเลยค่ะ ด้วยความที่มันมีความแหลมมากกว่าดินสอรูปแบบอื่น ๆ แถมไส้ยังมีความแข็ง เสี่ยงต่อการจิ้มโดนผิวหนังหรือไม่ก็จุดสำคัญของร่างกาย ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้นมาได้
2. ก้นดินสอเปลี่ยนไส้ เสี่ยงติดคอ จมูก
อย่างที่รู้กันดีว่าการใช้งานของดินสอเปลี่ยนไส้นั้นบริเวณก้นมันสามารถถอดออกได้เพื่อเปลี่ยนไส้ใหม่ ๆ แต่บางรุ่นก็ทำรูเอาไว้เพื่อให้ดันเปลี่ยนได้เลยเรื่อย ๆ แบบไม่ต้องเหลา ซึ่งความเสี่ยงมันอยู่ที่ไส้ดินสอ และก้นดินสอนี่แหละ โดยเฉพาะการใช้งานของเด็ก ๆ ที่อาจจะไม่ได้ระวังเท่าไร ทำให้ไหลติดคอได้ค่ะ
การเลือกดินสอให้เหมาะกับแต่ละช่วงวัย
- เด็กอายุ 1 ปี – 1 ปีครึ่ง
ควรเริ่มจากดินสอที่มีลักษณะด้ามอ้วน เพราะกล้ามเนื้อมือของเด็ก ๆ ในช่วงนี้เพิ่งจะเริ่มมีการพัฒนา อาจจะยังไม่สามารถควบคุมน้ำหนักของดินสอได้ และเด็กยังไม่มีแรงกดมากพอ ดังนั้น การใช้สีเทียนในช่วงวัยนี้ถือว่าตอบโจทย์ที่สุดค่ะ
- เด็กวัย 2 – 3 ปี
เด็ก ๆ ในวัยนี้เริ่มมีการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมาบ้างแล้ว เริ่มใช้ดินสอได้เก่งขึ้น บังคับทิศทางของดินสอได้มากขึ้น แนะนำให้เลือกดินสอที่มีลักษณะอ้วน ๆ เช่นเดิม แล้วค่อย ๆ เปลี่ยนไปจับดินสอที่มีขนาดผอมแบบทั่วไป
- เด็กวัย 3 – 4 ปี
เด็กในวัยนี้สามารถให้จับดินสอแบบปกติได้แล้ว แต่ก็อย่าเพิ่งให้ใช้ดินสอกดหรือดินสอเปลี่ยนไส้ เพราะอาจจะเกิดอันตรายได้ เนื่องจากเด็กวัยนี้เริ่มอยากรู้อยากลอง ดังนั้น ให้เลือกดินสอสีไม้ในการขีดเขียนไปก่อน
- เด็กวัย 4 ปีครึ่ง – 7 ปี
และสุดท้ายจะเป็นช่วงวัยที่จะต้องจับดินสอได้ถูกต้อง เริ่มมีการขีดเขียนเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ควบคุมน้ำหนักและลายเส้นได้ดี แต่เพื่อป้องกันการเมื่อยล้าและลดการเสียดสี ให้เลือกดินสอที่มีขนาดพอดีกับมือของลูกน้อย มีน้ำหนักเส้นที่ไม่ต้องออกแรงกดมาก ที่สำคัญไส้ดินสอต้องมีความแข็งแรงไม่แตกหักง่ายด้วยค่ะ
การเลือกดินสอให้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ในแต่ละช่วงวัยถือเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คุณพ่อและคุณแม่ควรใส่ใจเป็นอย่างมาก เพราะมันไม่ใช่เรื่องของการเรียนรู้ การฝึกเขียน ฝึกจับ เสริมสร้างแค่กล้ามเนื้อมือมัดเล็กของลูกน้อยเท่านั้น แต่มันยังตามมาด้วยความปลอดภัยอีกด้วย โดยเฉพาะกับดินสอกดและดินสอเปลี่ยนไส้ที่ชอบมีประเด็นข่าวออกมาบ่อย ๆ จึงอยากให้หลีกเลี่ยงการใช้งานสำหรับเด็กไปก่อน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ศิลปะ ดินสอสีไม้ ระบายสี อีกหนึ่งทางเลือก เสริมสร้างพัฒนาการของลูกน้อย
ของมันต้องมี ! 10 สีไม้ สร้างสรรค์สุดยอดผลงานศิลปะ สำหรับจิตรกรตัวน้อย !
เด็กวาดรูป เด็กระบายสี แล้วดีอย่างไร ช่วยพัฒนาทักษะไหนได้บ้าง
ที่มา :