นับเป็นอุทาหรณ์ เรื่องใกล้ตัวก็ว่าได้ค่ะ เมื่อผู้ปกครอง ปล่อยลูกเล่นลูกโป่ง แต่จุดที่ลูกเล่นอยู่ใกล้ไฟเกินไป ทำให้เกิดเหตุลูกโป่งแตกระเบิด ไฟลุกท่วมหน้า!
ภาพจากกล้องวงจรปิด ของร้านอาหารแห่งหนึ่ง ในเมืองผูเถียน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน จับภาพนาทีที่เด็กหญิงตัวเล็ก เกือบประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เพราะของเล่นยอดฮิตขวัญใจเด็ก ๆ อย่าง “ลูกโป่ง” หลังจากที่ผู้ปกครอง ปล่อยลูกเล่นลูกโป่ง ใกล้เปลวไฟมากเกินไป จนเกือบประสบอุบัติเหตุ
จากคลิปวิดีโอจะเห็นว่า เด็กหญิงกำลังเล่นลูกโป่งอยู่ตามลำพัง เธอค่อย ๆ ขยับลูกโป่งเข้าใกล้ไฟ โดยไม่รู้ถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ไม่กี่วินาทีต่อมา ลูกโป่งก็ระเบิด และไฟลุกโชน จนแทบจะมองไม่เห็นใบหน้าของเด็กหญิง
การที่เกิดระเบิดขึ้นมากะทันหัน ทำให้ลูกค้าคนอื่น ๆ ที่มาใช้บริการ ในช่วงเวลาเดียวกัน รวมถึงพ่อแม่ของเด็กหญิงคนดังกล่าว ต่างส่งเสียงออกมาด้วยความตกใจ แต่ในอุบัติเหตุยังมีความโชคดี เพราะเด็กหญิงคนดังกล่าว ไม่ได้รับการบาดเจ็บจากการที่ลูกโป่งระเบิด
หลังจากที่คลิปวิดีโอดังกล่าว ถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ กลายเป็นกระแสไวรัลแทบจะทันที โดยมีชาวเน็ตหลายคน ที่บอกว่ารู้สึกใจสั่น หลังจากที่ดูคลิป พร้อมทั้งตระหนักถึงอันตราย ที่อาจจะแฝงมากกับของเล่นเด็กเช่นนี้ ความเห็นหนึ่งระบุว่า “ฉันสะดุ้งเลย ตอนเห็นไฟลุกท่วมใบหน้าของเด็ก จากนั้นจึงถอนหายใจโล่งอก เมื่อรู้ว่าเธอไม่ได้รับบาดเจ็บ โชคดีมาก”
จากรายงานเก่าพบว่า มีเหตุการณ์ระเบิดของลูกโป่ง เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง และในบางครั้งยังทำให้ เหยื่อได้รับบาดเจ็บสาหัสอีกด้วย เพราะโดยปกติแล้ว ลูกโป่งจะเต็มไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน หรือก๊าซฮีเลียม ซึ่งก๊าซฮีเลียมจะปลอดภัยกว่า แต่ก็มีราคาแพง ดังนั้นลูกโป่งราคาถูกในท้องตลาด จึงเต็มไปด้วยก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งติดไฟได้ง่ายและอันตรายมาก
อย่างไรก็ตาม สำหรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ นับเป็นบทเรียนอันล้ำค่า และเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ว่าพ่อแม่ไม่ควร ปล่อยลูกเล่นลูกโป่งคนเดียว เพราะอันตรายสามารถเกิดขึ้นได้ และลูกหลานของคุณอาจจะไม่โชคดี ดังเช่นเด็กหญิงรายนี้ก็ได้ค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ภัยที่คาดไม่ถึง เด็ก 8 ขวบตายเพราะลูกโป่ง!
อันตรายจากลูกโป่ง
ในปัจจุบัน แม้ในประเทศไทย จะยังไม่มีข้อห้ามในการจำหน่ายลูกโป่งบรรจุแก๊ส แต่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. ก็ประกาศให้ลูกโป่งบรรจุแก๊สไฮโดรเจน เป็นสินค้าควบคุมฉลาก ผู้จำหน่ายต้องติดคำเตือน ห้ามนำเข้าใกล้เปลวไฟหรือความร้อน
ทั้งนี้ เหตุระเบิดหรือเพลิงลุกไหม้ จากลูกโป่งบรรจุแก๊สเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากอุบัติภัยที่เกิดกับเด็ก จากลูกโป่งระเบิดหรือไฟไหม้แล้ว ยังมีคำเตือนอีกว่า การให้เด็กเป่าลูกโป่งเอง ซึ่งในขณะเป่า จังหวะที่เด็กสูดลมหายใจเพื่อเป่าลูกโป่ง อาจทำให้ลูกโป่งถูกดูดเข้าไปในปาก และลงไปในหลอดลม จนเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 8 ขวบ เล่นลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่า เพราะอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้
พฤติกรรมเสี่ยงจากการเล่นลูกโป่งเป่าเอง
1. เด็กเป่าลูกโป่งเอง
ในขณะเป่านั้น จังหวะที่เด็กต้องการหายใจเข้า เพื่อเติมลมในปอดนั้น จะต้องดูดอากาศเข้าอย่าง แรงโดยมีลูกโป่งจ่ออยู่ที่ริมฝีปาก ทำให้เกิดโอกาสที่ลูกโป่ง จะถูกดูดเข้าไปในปาก และลงไปในหลอดลมเกิดการอุดตัน ทางเดินหายใจได้
2. การที่เด็กเอาลูกโป่งที่ยังไม่ได้เป่าเข้าปากแล้วอมไว้หรือเคี้ยวเล่น
การเผลอของเด็ก การวิ่ง ปีนป่าย หรือหัวเราะ อาจทำให้สำลักลูกโป่งที่อมไว้นั้น เข้าปอดเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้
การอุดตันทางเดินหายใจ ทำให้สมองขาดออกซิเจน มีเวลาช่วยเหลือเพียง 4-5 นาที การสำลักลูกโป่งลงไปในท่อหลอดลมแล้ว คงไม่ง่ายที่จะทำให้หลุดออกมา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องตระหนัก ระวัง ดูแลเจ้าตัวน้อยให้ดี และสอนเจ้าหนูตัวน้อย ให้มีพฤติกรรมที่ปลอดภัยดังนี้
- ไม่อนุญาตให้เด็ก อายุน้อยกว่า 8 ปี เล่นลูกโป่งที่ยังไม่เป่า
- ผู้ใหญ่ต้องเป็นคนเป่าลูกโป่งให้เด็กที่ อายุน้อยกว่า 8 ปีเท่านั้น
- ห้ามเด็กอมลูกโป่งเข้าปาก
- ลูกโป่งที่แตกแล้ว ต้องเก็บเศษลูกโป่งให้หมดทันที อย่าให้เด็กเล่นโดยเด็ดขาด
- เด็กที่เล่นลูกโป่งที่เป่าลมแล้ว ต้องมีผู้ใหญ่เฝ้าดูอยู่ใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เล่นตามลำพัง
- แขวนลูกโป่งให้สูง อย่าให้เด็กหยิบถึงได้เอง
- สอนเด็กอย่าให้เล่นลูกโป่งใกล้หน้าใกล้ตาเพราะหากเกิดการแตกแรงระเบิดจะเป็นอันตรายต่อใบหน้าและตาได้ซึ่ง
การที่จะทำให้พ่อแม่รับรู้ความเสี่ยงได้นั้น ผู้ผลิตเองจะมีบทบาท ในต่างประเทศที่พัฒนาแล้วผู้ผลิตจะต้องมีคำเตือนบนถุงลูกโป่งเสมอว่าให้ ระวังเรื่องดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ที่สำคัญเศษลูกโป่งที่แตกแล้ว ก่อให้เกิดความเสี่ยง แบบเดียวกันได้ ทั้งสองกรณี คือการเอาเศษลูกโป่งมายืดออก ไว้ที่ริมฝีปากและเป่า ในจังหวะหายใจเข้า เศษลูกโป่งอาจจะถูกดูดเข้าไปในปาก และสำลักลงหลอดลม หรือการเอาเศษลูกโป่งอมเคี้ยวในปาก ก็ทำให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ของเจ้าตัวน้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นลูกโป่งใกล้ไฟ หรือปล่อยให้ลูกเป่าลูกโป่งเอง ก็เป็นเรื่องพึงระวังค่ะ เซฟลูกน้อยก่อน อย่างไรก็เป็นเรื่องดีค่ะ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คิดดี ๆ ก่อนให้ลูกเล่น เเละเสี่ยงหูมีปัญหา เพราะเสียงลูกโป่งเเตก ดังกว่าเสียงปืน
ลูกกลัวเสียงดัง เสียงฟ้าผ่า ลูกโป่งแตก เสียงประทัด ทำอย่างไรดี ?
ทำนายฝัน ฝันเห็นลูกโป่ง ฝันเห็นลูกโป่งสีแดง หมายถึงอะไร