เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่โซเชียลกำลังจับตามองก็ว่าได้ค่ะ กับพืชพรรณไม้ที่ชื่อว่า ต้นตีนเป็ด ที่ล่าสุดได้มีการแชร์ต่อบนโลกออนไลน์ว่า กลิ่นของต้นตีนเป็ด ส่งกลิ่นแรง ๆ เป็นกลิ่นของไซยาไนด์ มีผลต่อระบบหัวใจโดยตรง ซึ่งเรื่องนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นการแชร์ต่อโดยเข้าใจผิดมาหลายต่อหลายปีกันเลยทีเดียว
ต้นตีนเป็ด เป็นต้นไม้ที่มีกลิ่นอบอวลไปไกล ทำให้เกิดข่าวลืออยู่บ่อยครั้งว่าเป็นต้นไม้มีพิษ แต่แท้จริงแล้วมีประโยชน์ทางสุขภาพหลายด้าน ซึ่งมักถูกมองข้ามไปเพราะเรื่องเข้าใจผิด โดยล่าสุดได้มีการแชร์ต่อบนโลกออนไลน์อีกครั้ง โดยมีการอ้างว่าเป็นการเตือนภัยโดยแพทย์แผนไทยรายหนึ่งออกมาเตือนภัยของต้นตีนเป็ด ที่มีดอกส่งกลิ่นแรง เป็นกลิ่นของ “ไซยาไนด์” ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบหัวใจและการหมุนเวียนของเลือด จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการสูดดมนาน ๆ เพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืด บริเวณท้ายทอยจะมีอาการตึง เป็นอันตรายต่อชีวิต ระบบหัวใจอาจล้มเหลวได้นั้น
เรื่องนี้ได้รับการยืนยันจาก ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า กลิ่นของต้นตีนเป็ด ไม่ได้มีสารพิษไซยาไนด์ เรื่องนี้เคยโพสต์เตือนกันทุกปี ในช่วงฤดูที่ต้นตีนเป็ดออกดอก และส่งกลิ่นแรง ว่าเป็นข่าวปลอม ข่าวมั่วที่แชร์กันมานานแล้ว ต้องขอแย้งอีกครั้ง ว่าเป็นแค่ข่าวปลอมที่แชร์กันผิด ๆ ผู้เชี่ยวชาญที่รายการไปสัมภาษณ์ ก็ระบุชัดเจนว่า กลิ่นของต้นพญาสัตบรรณหรือต้นตีนเป็ดนั้น ไม่ได้มีสารพิษไซยาไนด์อย่างที่ว่า เป็นเรื่องไม่จริง ไม่ควรแชร์ต่อ
บทความที่เกี่ยวข้อง : หนูน้อยนพมาศตัวตึง ของเวทีประกวด งานนี้ไม่เน้นขายสวย เน้นสร้างตำนาน เพลงดังเป็นลุก!
ต้นตีนเป็ด หรือต้นพญาสัตบรรณ หนึ่งในต้นไม้มงคล เป็นไม้ยืนต้นที่มักจะออกดอกอวดโฉมส่งกลิ่นชวนอภิรมย์ในช่วงฤดูหนาว และจะส่งกลิ่นแรงที่สุดในช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม ไม่ได้ปล่อยสารพิษไซยาไนด์ แต่แค่กลิ่นเหม็นโดยเฉพาะในช่วงฤดูออกดอก ซึ่งบางคนก็ว่าเหม็น บางคนก็ว่าหอม แล้วอย่าสับสนกับต้นตีนเป็ดน้ำ ที่ยางมีพิษด้วย
ลักษณะของต้นตีนเป็ด
ต้นตีนเป็ดหรือพญาสัตบรรณ หรือสัตบรรณ ชื่อภาษาอังกฤษ White Cheesewood ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris (L.) R. Br. มีเปลือกหนาแต่เปราะ ผิวต้นมีสะเก็ดเล็ก ๆ สีขาวปนน้ำตาล กรีดดูจะมียางสีขาวลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขามากลักษณะเป็นชั้น ๆ เปลือกชั้นในสีน้ำตาล มีน้ำยางสีขาว
1. ใบต้นตีนเป็ด
เป็นกลุ่มบริเวณปลายกิ่งช่อหนึ่งมีใบประมาณ 5–7 ใบ ก้านใบสั้น แผ่นใบรูปรีแกมรูปขอบขนานถึงรูปหอกแกมรูปขอบขนาน หรือรูปมนแกมรูปบรรทัด ปลายใบเป็นติ่งเล็กน้อย ใบด้านบนมีสีเขียวเข้ม ด้านล่างมีสีขาวนวล ถ้าเด็ดก้านใบจะมียางสีขาว ลักษณะใบยาวรีปลายใบมนโคนใบแหลม ขนาดใบยาวประมาณ 10–12 เซนติเมตร
2. ดอกต้นตีนเป็ด
ออกดอกสีเขียวอ่อนเป็นช่อตามปลายกิ่ง ปากท่อของกลีบดอกมีขนยาวปุกปุย มีกลิ่นฉุนรุนแรง สูดดมเพียงเล็กน้อยจะรู้สึกกลิ่นหอม หากสูดดมมากจะรู้สึกวิงเวียนศีรษะ ช่วงค่ำจะส่งกลิ่นแรงกว่าเวลาอื่น ๆ ดอกเป็นกลุ่มคล้ายดอกเข็มช่อหนึ่งจะมีกลุ่มดอกประมาณ 7 กลุ่ม ดอกมีสีขาวอมเหลือง ปกติจะออกดอกในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม
3. ผลของต้นตีนเป็ด
จะเป็นฝักยาว ฝักคู่หรือเดี่ยว ลักษณะเป็นเส้น ๆ กลมเรียวยาวประมาณ 20-30 เซนติเมตร เมื่อผลแก่จะแตก มีขุยสีขาวคล้ายฝ้ายปลิวไปตามลม และในฝักมีเมล็ดเล็ก ๆ ติดอยู่กับขุยดังกล่าว
ต้นตีนเป็ด ไม้มงคลประจำจังหวัดสมุทรสาคร
ต้นตีนเป็ด ถือเป็นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2537 ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานพันธุ์ไม้ดังกล่าวจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทั้งนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จึงนำพันธุ์ไม้สัตบรรณพระราชทานมาปลูกเป็นปฐมฤกษ์ ในกิจกรรมวันปลูกต้นไม้ตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2537 ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร จึงถือได้ว่าต้นสัตบรรณเป็นต้นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร นอกจากนี้ต้นพญาสัตบรรณยังเป็นต้นไม้ประจำเขตพญาไท ในกรุงเทพมหานครอีกด้วย
ประโยชน์ของต้นตีนเป็ด
- เปลือกของลำต้นมีรสขม สามารถนำมาทำเป็นยาที่ช่วยในการเจริญอาหาร ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ช่วยบรรเทาอาการของโรคเบาหวาน และแก้หวัด แก้ไอ บรรเทาอาการหลอดลมอักเสบ
- เปลือกของลำต้น ช่วยรักษาโรคบิด ท้องร่วง ท้องเดินเรื้อรัง โรคลำไส้และลำไส้ติดเชื้อ
- เปลือกของลำต้น ต้มน้ำอาบ ลดอาการผดผื่นคัน
- ยางจากลำต้น ใช้หยอดหูแก้อาการปวดหู และใช้อุดฟันเพื่อบรรเทาอาการปวดฟัน
- ใบอ่อน นำมาต้มเพื่อดื่มรักษาโรคลักปิดลักเปิด
- ใบ และยาง ชาวอินเดียใช้รักษาแผล แผลเปื่อย แผลตุ่มหนอง และอาการปวดข้อ
ตีนเป็ด กับ ตีนเป็ดน้ำ ต่างกันอย่างไร?
- ต้นตีนเป็ด (Alstonia scholaris) จะมีขนาดของลำต้นสูงใหญ่กว่า ดอกเป็นช่อคล้ายดอกเข็ม ผลจะออกมาเป็นฝักยาว เส้น ๆ กลมเรียว และที่สำคัญคือส่งกลิ่นได้เข้มข้นรุนแรงกว่า
- ต้นตีนเป็ดน้ำ หรือต้นตีนเป็ดทะเล (Cerbera odollam) จะมีลำต้นเล็กกว่า และพบอยู่ริมน้ำ ริมคลอง หรือป่าชายเลน มีดอกสีขาวพร้อมกลิ่นอ่อน ๆ ผลเป็นลูปกลม หากลูกหลุดจากต้นแล้วแห้ง สามารถนำมารดน้ำปลูกเป็นต้นใหม่ได้
ต้นตีนเป็ดน้ำมีทรงพุ่มสวยงาม ผลและดอกสวย มีกลิ่นหอม จึงใช้ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาตามลานจอดรถหรือริมถนนได้ แต่ยางจากต้น ใบ ผล และเนื้อในผล มีพิษเป็นอันตรายต่อหัวใจ ซึ่งมีการนำมาใช้ในการวางยาพิษ หากได้รับในปริมาณมากก็สามารถฆ่าคนได้ น้ำยางหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้ แต่พิษทั้งหมดนี้ ก็ไม่อยู่ถูกคายออกมาในอากาศ ให้คนสูดดมเข้าไปแล้วเป็นอันตรายแต่อย่างไร เพียงแต่ไม่ควรปลูกใกล้กับสนามเด็กเล่นหรือบริเวณที่มีเด็กอยู่
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
พ่อลืมลูกไว้ที่ปั๊ม จอดรถแวะเข้าห้องน้ำ ไม่รู้ลูกลงรถตามไปด้วย เด็กตอบพ่อรีบไปนอน !
Baby Fair 2022 ภาพบรรยากาศงานใหญ่ส่งท้ายปี เริ่มแล้ววันนี้ถึง 13 พ.ย. 65
แก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกเด็ก ม.1 อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ กสทช. ขู่เรียกเงินแสน!
ที่มา : amarintv.com, เพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์