เคนลี Take Me Out กลายเป็นชื่อที่หลายคนพูดถึงและค้นหาขึ้นมาทันที เมื่อมีเรื่องราวของการทำร้ายร่างกายผู้หญิงถูกเผยแพร่บนโลกโซเชียล จากที่เห็นภาพในคลิปมี “พลเมืองดี” ท่านหนึ่งเข้าช่วยเหลือ “เหยื่อความรุนแรง” ที่เกิดเรื่องจากคนใกล้ชิด
กรณีดังกล่าวกลายเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ขึ้นมาทันที เมื่อการช่วยเหลือผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกาย ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และกลับเป็นเรื่องที่ถกเถียงอย่างหนักอีกครั้ง เมื่อคู่รักของ เคนลี Take Me Out คนดังกล่าวตัดสินใจไม่ฟ้องกันเอง และฟ้องพลเมืองดีกลับถูกฟ้องข้อหา PDPA โดยอ้างว่าเป็นการเผยแพร่ภาพส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม
บทความที่น่าสนใจ ความรุนแรงในครอบครัว เลี้ยงลูกอย่างไรไม่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
ที่น่าสนใจก็คือประเด็นของกฎหมาย PDPA หรือพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกสร้างมาเพื่อป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของทุกคน รวมไปถึงการจัดเก็บข้อมูลและนำไปใช้โดยที่ไม่ได้แจ้งให้เจ้าตัวทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลเสียก่อน
ทั้งนี้ได้มีการพูดคุยผ่านทางรายการโหนกระแสถึงข้อกฎหมายดังกล่าว ทั้งในมุมของผู้ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล กับมุมการเข้าช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง ซึ่งจุดประสงค์แตกต่างกัน เพราะความรุนแรงก็ต้องได้รับความช่วยเหลือ แล้วเราในฐานะพลเมืองดีจะช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรง หรือเจอเหตุการณ์อย่างไรไม่ให้เสี่ยงถูกฟ้องได้
เคนลี Take Me Out บอกว่าเป็นเรื่องผัวเมียห้ามยุ่งจริงหรือไม่?
ในบางครั้งความรุนแรงที่เห็นตามที่สาธารณะระหว่างคู่รักหรือสามีภรรยา การเข้าช่วยเหลือของพลเมืองดีเป็นเรื่องที่ทำได้ เพื่อเป็นการหยุดความรุนแรงที่อาจบานปลาย รวมไปถึงถ้าหากละเลยหรือมองข้าม มันอาจกลายเป็นโศกนาฏกรรมตามหน้าข่าวมากกว่า ซึ่งสำหรับข้อนี้ทาง เฟซบุ๊ก “ตำรวจสอบสวนกลาง” ได้ให้คำแนะนำวิธีช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อของ “ความรุนแรงในครอบครัว” เบื้องต้นว่า
- พลเมืองดีสามารถเข้าสังเกตการณ์ เพื่อให้รู้ว่ามีคนคอยช่วยเหลือเหยื่อหรือไม่ หรือมีการใช้อาวุธทำร้ายร่างกายด้วยหรือเปล่า
- สามารถเข้าไปตักเตือนเพื่อไม่ให้เหตุการณ์รุนแรงได้ แต่ทั้งนี้ต้องดูความปลอดภัยของผู้ช่วยเหลือด้วย
- หากตกอยู่ในความเสี่ยงที่ไม่สามารถรับมือได้ ควรเรียกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อยู่บริเวณนั้น เข้าให้ความช่วยเหลือร่วมด้วย
- จากนั้นโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ให้การเข้าช่วยเหลือไม่ให้เกิดความรุนแรงอันตรายต่อชีวิต หรือร่างกาย
เมื่อกฎหมาย PDPA เข้ามา จะเป็นพลเมืองดีอย่างไรได้บ้าง
เป็นเรื่องดีที่หลายคนหันมาช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงที่อาจเจอได้ตามข้างทาง เพราะเมื่อไรที่เราเพิกเฉยหรือไม่สนใจเพียงเพราะคำอ้าง “เรื่องของผัวเมีย” อย่างกรณีของ เคนลี Take Me Out นั้นอาจเกิดผลกระทบในอีกหลายมิติ แต่ในเมื่อมีเรื่องของกฎหมาย PDPA เข้ามา ควรทบทวนก่อนว่ามีอะไรบ้างที่เราทำไปแล้วจะเซฟตัวเองที่สุด
พลเมืองดีสามารถบันทึกคลิปวิดีโอหรือภาพ ในแบบที่เห็นหน้าแบบชัดเจนได้ เพื่อเป็นหนึ่งในพยานหลักฐานทางคดีเท่านั้น ถ่ายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตและส่งต่อให้ตำรวจโดยทันทีหลังจากที่แจ้ง
และที่สำคัญคือห้ามมีการโพสต์คลิปวิดีโอหรือภาพดังกล่าวลงในโซเชียลมีเดียอื่นใด เพราะไม่งั้นอาจเข้าข่ายข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาหรือกฎหมายใหม่ PDPA เว้นแต่มีการเซนเซอร์หน้าสามารถเผยแพร่ได้ แต่ถึงจะเบลอไว้แต่ถ้าเจ้าตัวรู้และต้องการให้ลบคลิปวิดีโอออก จะต้องทำตามคำขอนั้นทันที
เพื่อเป็นการเซฟตัวเองในการบังคับใช้กฎหมาย PDPA นี้นั้น อยากให้พึงระลึกไว้ว่า ข้อมูลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด ถ้าเป็นการบันทึกไว้เพื่อใช้เป็นหลักฐานในอนาคตได้ ขอให้ทำเพียงส่งให้เจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่ไม่เผยแพร่ในโซเชียล เพราะยอดอื่นไม่คุ้มกับการโดนฟ้องร้องภายหลัง
รู้หรือไม่? หญิงสาวเป็นเหยื่อความรุนแรงมาโดยตลอด
ยกตัวอย่างเคสที่คล้ายกับของ เคนลี Take Me Out จากข้อมูลปี 2564 โดยศูนย์ปฏิบัติการกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ระบุว่า มีผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 1,492 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง 81% แบ่งเป็น ความสัมพันธ์สามี–ภรรยา 39% วัยกลางคน 32.4% และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น 32.1% ซึ่งมักไม่ดำเนินคดีสูงถึง 78%
ส่วนปัญหาที่พบ เป็นการทำร้ายร่างกายมากที่สุดถึง 64.5% รองลงมาคือ จิตใจ 31.4% และเรื่องเพศ 3.6% ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้น คือ ยาเสพติด, สุรา, อาการหึงหวง, การรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจมากกว่า, การมีปัญหาสุขภาพทางจิต และความเครียดทางเศรษฐกิจ
ส่วนพื้นที่ที่มักเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น มักเป็นบริเวณบ้านหรือที่พักของตนเอง โดยเฉพาะในพื้นที่กทม. มีเหยื่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกาย
เคนลี Take Me Out เป็นหนึ่งในความรุนแรงในครอบครัวหรือการทำร้ายร่างกายผู้หญิงในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยไม่นิยมแจ้งความ เมื่อเกิดหรือเจอเรื่องความรุนแรง และมีเพียง 17% เท่านั้นที่กล้าออกมาเรียกร้องและขอความช่วยเหลือ โดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เคยออกมาเปิดเผยเหตุผลส่วนใหญ่ที่ผู้หญิงต้องตกอยู่ในฐานะที่เป็นผู้ถูกกระทำต้องทนต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว 5 ข้อ ดังนี้
1. ความรักความผูกพัน หลายครั้งที่หลังจากความรุนแรงยุติลง อีกฝ่ายมักมาขอโอกาสเพื่อกลับตัวและไม่ใช้ความรุนแรงอีกครั้ง และเพราะความรักความผูกพัน ทำให้ยังยอมทน หวังว่าจะได้รับการปรับตัวที่ดีขึ้น
2. อดทนเพื่อลูก มักมีชุดความคิดเห็นเกิดขึ้นกับฝ่ายหญิง เมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นกับตนเอง โดยเป็นความคิดที่ว่าการที่ลูกไม่มีพ่อ จะทำให้ลูกเป็นปมด้อย ขาดความอบอุ่น และอาจเกิดผลเสียกับลูกในอนาคตได้
3. ยังพยายามรักษาความเป็นครอบครัว เพราะด้วยการปลูกฝังที่มีมานานกับคำว่า “ชีวิตครอบครัวต้องสมบูรณ์แบบ” นั่นก็คือการมีทุกคนพร้อมหน้าที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก จึงเป็นอีกสาเหตุที่ฝ่ายหญิงทนต่อความรุนแรง
4. มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว เพราะค่านิยมคำกล่าวที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” เป็นที่มาของความอดทน แต่รู้หรือไหมคะ ไม่ว่าจะสถานะใดหรือรูปแบบความสัมพันธ์ไหน ถ้ามีความรุนแรงเกิดขึ้นโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมหรือชื่นชอบ นั่นไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว แต่มันคือการทำร้ายร่างกาย
5. ปัญหาเรื่องรายได้ ผู้หญิงหลายคนเมื่อแต่งงานมีลูกแล้ว เมื่อถึงเวลาหนึ่งได้ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูก เป็นแม่บ้านเต็มตัว ทำให้เมื่อความรุนแรงเกิดขึ้นไม่รู้ว่าจะหาเงินเลี้ยงลูกได้อย่างไร เพราะตนเองไม่มีเงิน, ไม่มีงาน จึงต้องทนต่อความรุนแรงทั้งทางกายและจิตใจ
บทความที่น่าสนใจ
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ห่างความรุนแรง เลี้ยงลูก อย่างไร? ไม่ให้ลูกตกเป็นเหยื่อ
จิตแพทย์แนะนำ! วิธีป้องกันและช่วยเหลือ เด็กก่อความรุนแรง
ความรุนแรงในคราบไม้เรียว ทำไมเด็กไทย พ่อแม่ไทย ถึงหงอกับครูขนาดนี้
10 สัญญาณเตือนให้ระวัง หาก สามีชอบใช้ความรุนแรง
ที่มา (news.trueid.net) (www.bangkokbiznews.com)