คุณแม่ที่มีลูกอ่อน และให้ลูกเข้าเต้า มักจะคาดหวังว่าลูกจะอ้วนท้วน จ้ำม่ำ เป็นเด็กที่แข็งแรงสมวัย แต่ก็มีบางรายที่ไม่ใช่อย่างนั้น ยังมี เด็กนมแม่น้ำหนักน้อย ทั้งที่ให้กินนมแม่ล้วน แต่น้ำหนักน้อยจนตกเกณฑ์ สาเหตุเกิดจากอะไร และจะแก้ไขยังไงดี จำเป็นต้องเสริมนมผง หรือต้องเริ่มอาหารเสริมให้เร็วขึ้นกันนะ
ทำไม เด็กนมแม่น้ำหนักน้อย ลูกเป็นเด็กนมแม่ล้วน แต่น้ำหนักน้อยจนตกเกณฑ์
เด็กกินนมแม่แล้วผอม เด็กนมแม่น้ำหนักน้อย อาจเกิดได้หลายสาเหตุ
นมแม่ไม่พอ คุณแม่นมน้อยและให้ลูกเข้าเต้าตลอด สิ่งที่ทำให้รู้ว่าน้ำนมของคุณแม่มีน้อยไปแล้ว นั่นคือการปัสสาวะของลูกค่ะ ถ้าลูกปัสสาวะประมาณวันละ 6 ครั้ง โดยเปียกผ้าอ้อมเปียกเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร แสดงว่าลูกได้รับนมแม่มากพอค่ะ
ลูกมีปัญหาสุขภาพ เช่น มีปัญหาในการหายใจ มีโรคทางพันธุกรรม ความตึงของกล้ามเนื้อมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ลูกมีภาวะลิ้นติด มีปริมาณแลคโตสเกินทำให้น้ำหนักไม่ขึ้นหรือขึ้นน้อย
ปัญหาอื่น ๆ เช่น เมื่อลูกน้ำหนักน้อยลูกอาจง่วงมากและดูดนมได้น้อย การเข้าเต้าเป็นการกล่อมให้หลับแทนที่ลูกจะดูดนมได้อย่างเพียงพอ ก็อาจส่งผลให้น้ำแม่ผลิตน้อยลงเพราะลูกดูดออกไปน้อย
น้ำหนักเด็กๆ ควรขึ้นเท่าไหร่
โดยปกติแล้วเด็กแรกเกิดจะน้ำหนักตัวขึ้นอยู่ที่วันละ 30-40 กรัม ใน 3 เดือนแรก น้ำหนักลูกจะขึ้นเร็ว และแผ่วลงเมื่ออายุได้ 3-6 เดือน โดยน้ำหนักตัวขึ้นอยู่ที่วันละ 20 กรัมค่ะ
สิ่งที่ต้องทำคือ
- น้ำหนักลูก ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องกังวลค่ะ สิ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าแม้ลูกจะน้ำหนักขึ้นไม่เยอะเท่าไหร่นัก แต่ยังไปต่อได้ นั่นคือลูกยังร่าเริงแจ่มใส ดูดนมได้ดี เด็กที่แข็งแรงไม่ใช่เด็กที่น้ำหนักเยอะเสมอไปนะคะ
- พันธุกรรมก็มีส่วน คุณพ่อคุณแม่เป็นเด็กตัวเล็กหรือไม่ หรือญาติพี่น้องปู่ย่าตายายเป็นยังไง เพราะอาจจะมีพันธุกรรมโตช้า เป็นเด็กที่ตัวเล็ก แต่ตอนโตนั้นโตมาสูงน้ำหนักปกติ ไม่ใช่คนตัวเล็กก็เป็นได้ค่ะ หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่เป็นคนตัวเล็กอยู่แล้ว ลูกจะเกิดมาตัวเล็กน้ำหนักน้อย โตช้า ก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรนะคะ
- ลูกมีการเติบโตที่สม่ำเสมอหรือไม่ หมายถึงลูกตัวเล็กก็จริง แต่น้ำหนักขึ้นสม่ำเสมอทุกๆเดือน ไม่ใช่ว่าน้ำหนักไม่ขึ้นเลย หรือขึ้นบ้างไม่ขึ้นบ้าง ก็ไม่จำเป็นต้องห่วงค่ะ
- ลูกมีพัฒนาการตามวัยไหม พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลาหรือไม่ ถ้าใช่ก็ไม่ต้องห่วงค่ะ
- อายุลูก ถ้าลูกโตจนเริ่มอาหารเสริมได้แล้ว แต่ไม่ยอมกินอาหารเสริมจะกินแต่นม ก็ต้องแก้กันในเรื่องของอาหารเสริมค่ะ
- หากคุณพ่อคุณแม่ไม่สบายใจ ควรปรึกษาคุณหมอผู้เชี่ยวชาญค่ะ และควรหาคำแนะนำที่ 2 ที่ 3 ด้วยนะคะ เพื่อความแม่นยำและแก้ไขได้ทันท่วงที
ที่มา breastfeeding
บทความที่น่าสนใจ
ลิ้นติด สาเหตุสำคัญที่ทำให้ลูกน้อยมีปัญหากับการดูดนมจากเต้า
เรื่องน้ำนมน้อยแก้ได้ ใช้เทคนิค 4 ดูดช่วยให้ “นมแม่” มามาก
อ้วนหลังคลอด เช็คสาเหตุคุณแม่ผอมช้า คลอดลูกแล้วแต่ยังเหมือนท้องอยู่