ย้อนรอยความเป็นมาของ ท้าวหิรัญพนาสูร
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2449 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ขณะนั้นพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ และได้เสด็จประพาสไปยังมณฑลพายัพ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นราชอาณาจักรสยาม มีการปกครองระบบภูมิภาคมณฑล โดยมณฑลพายัพ ประกอบไปด้วย 5 หัวเมือง ได้แก่ นครเชียงใหม่ นครลำปาง นครลำพูน นครน่าน นครแพร่ อีกทั้งยังรวมเมืองเถินเข้าไปด้วย แห่งประเทศราชล้านนา
ซึ่งในสมัยนั้นการเดินทางไปพื้นที่นั้น เต็มไปด้วยภยันอันตรายมากมาย เพราะเป็นพื้นที่ป่าทึบ ไม่ว่าจะเป็นโรคภัยไข้เจ็บ หรือแม้กระทั่งอันตรายจากสัตว์ป่ารอบข้าง
ซึ่งในขณะนั้น ท่ายังคงสนพระทัยศึกษาในศาสตร์ลี้ลับของอินเดีย โดยเฉพาะ “ภาระตะวิทยา” ที่มีเรื่องราวของ เทพปกรนัม จากทางพราหมณ์ รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ ในศาสนาฮินดู ทำให้ในขณะที่ ข้าราชบริพารต่างตื่นตระหนกในเรื่องไข้ป่า พระองค์จึงได้ดำรัสว่า
“ธรรมดาเจ้าใหญ่นายโตจะเสด็จ ณ ที่แห่งใด ๆ ก็ดี คงจะมีทั้งเทวดา และปีศาจฤๅอสูร อันเป็นสัมมาทิฏฐิ คอยติดตามป้องกันภยันตรายทั้งปวง มิให้มากล้ำกรายพระองค์ และบริวารผู้โดยเสด็จได้ ถึงในการเสด็จครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดมีความวิตกไปเลย”
จากพระราชดำรัสนี้ ทำให้เหล่าข้าราชบริพารทั้งหลายได้คลายความกังวล ต่อมาเมื่อพลบค่ำ ก็ได้มีข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ได้ฝันเห็นชายร่างสูงใหญ่กำยำมาปรากฎ แล้วบอกว่าตนเองนั้น นามว่า “หิรัญ” เป็นอสูรชาวป่า และประสงค์จะมาคอยดูแลปกป้อง องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมคณะในขณะเดินทาง
จากนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบ จึงได้ดำรัสว่า “ตาหิรัญฮู” ซึ่งคำว่า ฮู มาจากภาษาอังกฤษ Who ที่หมายถึงใคร ต่อมาจึงผันเสียงกลายเป็น “ท้าวหิรัญฮู” นับตั้งแต่นั้น ทำให้การเดินทางในครั้งนั้น ปราศจากทั้งโรคภัยไข้เจ็บ และอันตรายทั้งหลายทั้งปวง
เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า “ท้าวหิรัญพนาสูร” (หากสะกดตามลายพระราชหัตถเลขา เขียนเป็น “ท้าวหิรันยพนาสูร”)
และได้ทำการหล่อรูปท่านท้าวหิรัญพนาสูร พร้อมทรงเครื่องประดับยศแบบไทยโบราณ เพื่อให้ผู้คนได้กราบไหว้ เพื่ออธิษฐานให้ป้องกันภยันอันตราย ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และประสบความสำเร็จในกิจการงานต่าง ๆ ประดิษฐานไว้ประจำพระราชวังพญาไท ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ณ ปัจจุบัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ : โรคระบาด อดีต ปัจจุบันและอนาคต เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับโรคระบาด
ท้าวหิรัญพนาสูร กับตำนานโรคระบาด 100 ปี
ในขณะที่โลกของเราต้องมาเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งรุนแรง ก็ได้มีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ปัจจุบัน กับการทำนายที่เชื่อมโยงกับอสูรเทพอย่างท้าวหิรัญพนาสูร
เมื่อราวเดือนเมษายน พ.ศ.2463 ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่มีการสร้างตำหนักแห่งหนึ่งขึ้น ผีที่ทำหน้าที่คอยดูแลคุ้มครองเจ้านายชั้นสูงก็ได้ติดตามมาด้วย และได้สื่อสารกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์โรคระบาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผีตนนั้นได้มาบอกถึงสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นว่าอีก 100 ปีข้างหน้า (นับจากเดือนเมษายน พ.ศ.2463 ก็คือ เดือนเมษายน พ.ศ.2563) จะเกิดโรคระบาดรุนแรงที่รักษาได้ยาก ผู้คนล้มตายจำนวนมาก โดยโรคระบาดจะเลวร้ายที่สุดในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2564 และสถานการณ์โรคระบาดนี้จะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2565 จากตำนานลึกลับที่เล่าสืบต่อกันมา ทำให้หลายคนเชื่อว่าผีตนนั้นหมายถึง “ท้าวหิรัญพนาสูร” และโรคระบาดก็คือ “โควิด-19” นั่นเอง
บทสวดบูชาท้าวหิรัญพนาสูร
ก่อนเริ่มสวดคาถาบูชาท้าวหิรัญพนาสูร ต้องตั้งจิตให้เป็นสมาธิ และจุดธูปตามจำนวนที่กำหนด
- หากต้องการไหว้ขอพร : ให้จุดธูป 9 ดอก
- หากต้องการไหว้บนบาน : ให้จุดธูป 16 ดอก หลังจากนั้น ให้ตั้งนะโม 3 จบ แล้วกล่าวคาถาต่อไปนี้ “ระหินะ ภูมาสี ภะสะติ นิรันตะรัง ลาภะสุขัง ภะวันตุเม” (สวด 9 จบ)
- ของสักการะท้าวหิรัญพนาสูร : นิยมถวายดอกดาวเรือง ดอกไม้สด ดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม หรือจะทำเป็นบายศรีดอกไม้มาถวายก็ได้ รวมถึงหมากพลู ขนมไทยโบราณ ผลไม้ชนิดต่างๆ เช่น กล้วยน้ำว้า มะพร้าวอ่อน ขนุน และสับปะรด
ท้าวหิรัญพนาสูรอยู่ที่ไหน?
รูปหล่อองค์ท้าวหิรัญพนาสูร ตั้งอยู่ภายในศาลบริเวณด้านหลังโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใกล้กับพระราชวังพญาไท ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ โดยในปัจจุบันยังคงมีผู้ศรัทธาแวะเวียนไปกราบไหว้อยู่เสมอ ส่วนใหญ่จะขอพรให้แคล้วคลาดภัยอันตราย และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ เสริมสิริมงคล รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง
ที่มา : thairath