บ้านไหนที่มีลูกสาวลูกชายอยู่ในวัย 2-3 ขวบ หรือกำลังก้าวเข้าสู่วัยนี้กันบ้างคะ ได้ลองสังเกตเห็นพฤติกรรมของลูกกันบ้างหรือเปล่า จากหนูน้อยที่เคยว่านอนสอนง่ายในตอนนี้เริ่มกลายเป็นเด็กดื้อ เจ้าอารมณ์ ที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่เริ่มปวดสมองเพิ่มขึ้นอีก หรือที่เรียกว่าภาวะ “Terrible two” ถ้าอยากรู้ว่ามีพฤติกรรมนี้เป็นอย่างไร ไปติดตามพร้อมกันเลยค่ะ
Terrible two คืออะไร
วัยทอง 2 ขวบหรือ Terrible twos คือ ช่วงวัยของเด็กอายุ 2-3 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงที่ลูกน้อยเริ่มเติบโตและแข็งแรง โดยเฉพาะในด้านความคิด ลูกจะเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง อยากทำอะไรด้วยตัวเอง และอยากมีส่วนร่วมในการเลือกและตัดสินใจด้วย ซึ่งการที่ลูกเจริญเติบโตขึ้นนั้น จึงส่งผลให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปตามวัยอีกด้วย เด็กอาจมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เช่น ดีใจสุด ๆ โกรธสุด ๆ หรือเสียใจสุด ๆ มักจะไม่มีเหตุผล เพราะสมองส่วนเหตุผลจะโตช้ากว่าสมองส่วนอารมณ์ ทำให้เด็กวัยนี้มีอารมณ์ที่แสดงออกอย่างชัดเจน เวลามีเหตุการณ์ใดก็จะแสดงอารมณ์ขึ้นมาทันทีโดยไม่มีเหตุผล
ภาวะ Terrible Two ร้ายแรงหรือไม่
ผลการศึกษาเผยว่าภาวะ Terrible Twos ไม่ใช่ภาวะที่ร้ายแรงแต่อย่างใด เป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้กับเด็กวัย 2-3 ปี ที่มีพัฒนาการจากวัยเตาะแตะสู่วัยหัดเดิน ดังนั้น ภาวะ Terrible Twos จึงเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการเด็กวัยนี้ หากลูกมีพัฒนาการที่ดี ก็จะมีภูมิคุ้มทางอารมณ์ที่ดี เมื่อเกิดภาวะอารมณ์ร้าย ก็จะสามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ระดับหนึ่ง ไม่เปลี่ยนแปลงมากจนเกินไป
บทความที่เกี่ยวข้อง : แม่ปวดหัวหนัก ลูก 3 ขวบ งอแง ลูก 2 ขวบ ก้าวร้าว เอาแต่ใจ ปราบยังไงดีให้อยู่หมัด!
สังเกตพฤติกรรมวายร้ายวัยสองขวบ
Terrible twos หรือความเป็นตัวป่วน ออกฤทธิ์อย่างวายร้ายของลูกน้อยในช่วง 2 ขวบ เป็นภาวะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของเด็กที่ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างรวดเร็วมาก ที่มักจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงอายุตั้งแต่ 2-3 ขวบ ลองมาดูว่าลูกน้อยมีพฤติกรรมอย่างไรบ้าง
- เด็กในช่วงวัยนี้เริ่มมีความคิดเพิ่มมากขึ้น รู้จักตัวเองมากขึ้น เริ่มเป็นตัวของตัวเอง
- ต้องการความเป็นอิสระและรู้สึกไม่พอใจที่ใครมาบังคับ มีลักษณะดื้อ
- มีการต่อต้าน ใช้คำพูดปฏิเสธและมีปฏิกิริยาขัดขืนเมื่อถูกออกคำสั่ง
- มีการเรียกร้อง และหวังผลต่อการตอบสนอง
- เริ่มแสดงอาการเอาแต่ใจตัวเอง ร้องกรี๊ด จนถึงบางครั้งอาจจะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่อยู่จนถึงขั้นทำร้ายตัวเอง เช่น การกัดมือ หรือทุบตีพ่อแม่
- มีการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวได้คล่องแคล่วเพิ่มขึ้น สามารถหยิบจับ ขว้าง ปา สิ่งของได้เมื่อเกิดอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ
- เริ่มรู้จักหวงของ แย่งของ เพราะคิดว่าทุกสิ่งเป็นของตัวเอง ไม่รู้จักแบ่งปันให้เพื่อนหรือผู้อื่น
ข้อดีของภาวะ Terrible two
แม้ว่าภาวะวัยทอง 2 ขวบจะสร้างความปวดหัวให้กับคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งก็ช่วยให้ลูกได้ตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง มีความคิดเป็นของตัวเอง มีอิสระ อีกทั้งยังกล้าทำตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คอยสอนอีกด้วย ดังนั้น หากลูกของคุณอยู่ในช่วงวัยทอง 2 ขวบ ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง ได้ลองตัดสินใจ และคอยดูแลอยู่ห่าง ๆ ไม่ออกคำสั่งมากจนเกินไป เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ภาวะนี้ไม่เป็นเรื่องปวดหัวสำหรับคุณพ่อคุณแม่แล้วค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง : ลูก 3 ขวบ กรีดร้อง โมโหร้าย เจ้าอารมณ์ สาเหตุเกิดจากอะไร พ่อแม่ควรทำอย่างไร
วิธีรับมือเมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยทอง 2 ขวบ
เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยทอง 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจและอดทน เพราะลูกของคุณอาจไม่ต้องการการดูแลตลอดเวลาแล้ว แต่ด้วยวัยของพวกเขาก็ยังอ่อนแอมากเกินไป ไม่สามารถสื่อสารความต้องการของตัวเองได้ดีพอ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องมีส่วนช่วยรับมือกับอารมณ์ของลูก ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
-
เตรียมรับมือเมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยทอง 2 ขวบ
เมื่อสังเกตว่าลูกเข้าสู่ช่วง Terrible Twos คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดสินใจไว้ล่วงหน้าเลยว่า หากลูกมีพฤติกรรมดื้อจะรับมืออย่างไร เช่น บอกลูกว่าห้ามร้อง ห้ามกรื๊ด หรือห้ามตี เพราะพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนไม่เหมาะสม หากมีพยายามแสดงอาการออกมา คุณพ่อคุณแม่ต้องห้ามเขาอย่างสม่ำเสมอทุกครั้ง
-
เข้าใจและยอมรับลูก
ปกติแล้ว เด็กในวัยทอง 2 ขวบ จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง คุณพ่อคุณแม่จึงควรจัดตารางรูปแบบการใช้ชีวิตที่ชัดเจน หากเผลอไปเปลี่ยนแปลงกะทันหันก็อาจทำให้ลูกอารมณ์เสียและหงุดหงิดได้ ในกรณีที่จำเป็นต้องเปลี่ยนจริง ๆ ก็อาจบอกลูกล่วงหน้าก่อนสัก 10-15 นาที เพื่อให้เขาได้มีเวลาปรับตัว
บทความที่เกี่ยวข้อง : เทคนิคเลี้ยงลูกวัยอนุบาล 3-6 ขวบ ลูกวัยนี้ควรเน้นเรื่องอะไรบ้าง
-
จัดตารางชีวิตตัวเองโดยเน้นลูกเป็นหลัก
นอกจากการวางแผนตารางการใช้ชีวิตของลูกแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดสรรเวลาในการดูแลลูกน้อยด้วย เช่น ไม่ออกไปข้างนอกช่วงที่ลูกจะนอนกลางวัน หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านเมื่อลูกอารมณ์ไม่ดี หรือพกขนมติดตัวเอาไว้เวลาไปข้างนอกเผื่อลูกหิว เป็นต้น
-
สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ด้านลบของตัวเอง
สิ่งสำคัญในการรับมือกับวัยทอง 2 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกรู้จักอารมณ์ในแง่ลบของตัว เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิด หรือความเสียใจ ซึ่งเป็นอารมณ์ด้านลบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คุณพ่อคุณแม่สามารถอธิบายให้ลูกฟังว่าการโกรธหรือเสียไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และควรสอนให้ลูกรู้ว่าจะรับมือกับอารมณ์ดีอย่างไรดี
-
ปล่อยให้ลูกเลือกและตัดสินใจด้วยตัวเอง
เด็กในวัยนี้ต้องการแสดงอำนาจของตัวเอง หากคุณพ่อคุณแม่เผลอไปบังคับลูก ก็อาจทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกควบคุม ดังนั้น จึงควรปล่อยให้เขาได้เลือกและตัดสินใจได้ด้วยเอง หากคุณพ่อคุณแม่อยากจะแนะนำลูกก็ควรเสนอทางเลือกให้ลูกจะดีกว่า ไม่ควรไปบังคับให้เขาเลือกเลย เพราะจะทำให้ลูกอารมณ์ไม่ดีได้
บทความที่เกี่ยวข้อง : สอนลูกเลือกของด้วยตัวเอง สิ่งนี้ฝึกอะไรให้กับลูก!
ภาวะ Terrible Twos ส่งผลต่อนิสัยตอนโตไหม
ปกติแล้วปัจจัยที่ทำให้ลูกมีนิสัยต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับ 2 ส่วนสำคัญ คือ ธรรมชาติของเด็กและการเลี้ยงดูจากครอบครัว เด็กแต่ละคนจะมีนิสัยที่แตกต่างกันไป ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพื้นอารมณ์เป็นหลัก หากลูกมีนิสัยเอาแต่ใจ ขี้โมโห ขี้เหวี่ยง ก็อาจเกิดจะพฤติกรรมบางอย่าง คุณพ่อคุณแม่จึงควรช่วยกันปรับเปลี่ยนนิสัยก้าวร้าวของลูก เมื่อลูกโตขึ้นก็จะไม่ได้มีนิสัยที่ใจร้อนอย่างรุนแรง และยังควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ด้วย
แต่ในบางกรณีที่เด็กเป็นคนใจร้อน อารมณ์เสียงาน อาจเป็นไปตามพัฒนาการของสมอง เด็กบางคนอาจมีนิสัยใจคอที่เป็นใจร้อนอยู่แล้ว ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจในการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกด้วย
ภาวะ Terrible two ขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางอารมณ์ของเด็กแต่ละคน ซึ่งอาจจะแตกต่างกัน แต่พฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ถือเป็นธรรมชาติของเด็ก ที่เริ่มเป็นตัวของตัวเอง และพยายามที่จะลองผิดลองถูกเพื่อทดสอบความสามารถของตัวเอง และจะลดลงเมื่อลูกโตขึ้น มีสมาธิมากขึ้น เริ่มรู้จักว่าสิ่งไหนควรไม่ควร
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจในพัฒนาการของลูกที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ และช่วยกันปรับพฤติกรรมของลูกด้วยการแนะนำ พูดคุยด้วยความใจเย็น ใช้คำสั่งให้น้อยที่สุด แล้วลองให้ลูกเลือกสิ่งที่อยากทำด้วยตัวเองในขอบเขตที่เหมาะสม
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
5 วิธีจัดการอารมณ์ของลูก เมื่อลูกอารมณ์ร้าย จะจัดการอย่างไรดี
เรื่องของพ่อแม่ที่เริ่มมีลูกเข้าวัย 2 ขวบ ลูกก้าวร้าว+อารมณ์ร้าย ควรอ่าน
วิธีแก้ลูกเอาแต่ใจตัวเอง เลี้ยงลูกยังไงให้พอดีในยุคโซเชียล ก่อนจะสายเกินแก้
ที่มา : samitivejhospitals, babimild, rakluke, momandbaby