เมื่อจะถึงเวลาสอบเด็กวัยเรียนคงมีความกังวล กลัวว่าข้อสอบจะยาก ง่ายไม่เท่ากัน หรือมีข้อเยอะจนทำไม่ทัน วันนี้เราจึงมี เทคนิคในห้องสอบ ที่สามารถนำไปใช้ได้จริง บริหารเวลาได้มากขึ้น และเพิ่มความละเอียดรอบคอบ ในการสอบแต่ละครั้งกัน
4 วิธีเตรียมตัวก่อนเข้าห้องสอบ
ก่อนจะไปถึงเทคนิคในห้องสอบ อาจต้องมาดูก่อนว่าการเตรียมตัวก่อนที่จะเข้าห้องสอบอย่างน้อย 1 วันก่อนสอบ ควรทำอะไรบ้าง เพื่อให้การสอบผ่านไปได้ด้วยดีที่สุด
1. ทบทวนเนื้อหาโดยสรุป
การนั่งอ่านเนื้อหาทั้งหมดจากหนังสือ อาจไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีเท่าไหร่ เนื่องจากเวลาที่มีจำกัดก่อนเข้าห้องสอบ จะดีกว่าหากสรุปเนื้อหาสำคัญเป็นข้อ ๆ หรือให้สั้นลง สามารถอ่านให้จบได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลดีต่อการจดจำในระยะสั้น ๆ การสรุปจึงควรทำมาล่วงหน้าจากที่บ้าน เพื่อนำมาใช้ทบทวนโดยเฉพาะ โดยการสรุปมาอาจใช้รูปแบบของแผนผังความคิด และใช้สีปากกาเพื่อแยกเนื้อหาออกอย่างชัดเจน จะสามารถช่วยให้จดจำได้ง่ายกว่าเดิม
บทความที่เกี่ยวข้อง : 4 เทคนิค แบ่งเวลาอ่านหนังสือ สำหรับวัยรุ่นวัยสอบ จำง่าย ถึงเวลาพิชิตคะแนน
2. ถึงห้องสอบก่อนเวลา
เมื่อไม่รู้ว่าข้อสอบจะยากแค่ไหน หรือต้องใช้เวลาในการทำนานเท่าไหร่ และยังต้องใช้เวลาในการเตรียมตัวสอบ ด้วยการอ่านเนื้อหาสรุปอีก หากไปถึงห้องสอบแบบฉิวเฉียด นอกจากจะไม่ได้ทบทวนแล้ว ยังเสี่ยงที่จะเข้าสอบสาย ทำให้เวลาทำข้อสอบลดน้อยลง ยังไม่รวมถึงความกังวลใจ หรือความตื่นเต้นว่าตัวเองจะไปทันไหม ดังนั้นก่อนวันสอยจึงควรตรวจเช็กเวลาให้ดี และวางแผนออกเดินทางแบบเผื่อรถติดไว้บ้าง
3. อย่านอนดึก
การพักผ่อนอย่างเต็มที่เป็นสิ่งสำคัญมากในห้องสอบ อาการง่วงนอน อ่อนเพลีย เหนื่อยล้าในห้องสอบ จะมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าเดิม หากก่อนหน้านั้นอดนอน หรือนอนดึกเพื่ออ่านหนังสือสอบโดยเฉพาะ ถึงแม้จะอ่านจบ แต่การมานั่งมึนหัว หรือง่วงนอนตอนทำข้อสอบจะทำให้ลำบากมากกว่าเดิม ดังนั้นวางแผนอ่านหนังสือแต่เนิ่น ๆ แบ่งวันอ่านดี ๆ จะได้พักผ่อนได้มากขึ้นจะดีกว่ามาก นอกจากนี้อาจต้องระวังเรื่องการทานอาหารด้วย ควรเลี่ยงของสแลงที่อาจทำให้ตนเองท้องเสีย หรือปวดท้องระหว่างนั่งสอบ
4. ตั้งเป้าหมายและรางวัลล่วงหน้า
การสอบเป็นสิ่งที่กดดัน อาจเหนื่อยจากการเตรียมตัวไปก่อน หรืออาจเป็นวิชาที่ไม่ชอบเท่าไหร่ จะให้นั่งอ่านก็อาจไม่มีสมาธิ การตั้งเป้าหมายคะแนนสอบของแต่ละวิชา หรือคะแนนโดยรวม ประกอบกับรางวัลที่จะให้ตนเองถ้าหากทำสำเร็จ อาจเป็นของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ได้ แต่ถ้าหากผู้ปกครองอ่านบทความนี้ ก็อยากจะให้ผู้ปกครองเป็นคนเตรียมของขวัญเอาไว้ให้ลูกมากกว่าให้ลูกซื้อให้ตนเอง เพราะกำลังทรัพย์ที่อาจแตกต่างกัน
วิดีโอจาก : Kan Atthakorn
6 เทคนิคในห้องสอบ ทำให้ทันเวลา
ต่อมาก็มาถึงเทคนิคในการสอบแล้ว โดยเทคนิคที่เราแนะนำนั้นเป็นขั้นพื้นฐานในการทำข้อสอบ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ทำข้อสอบได้ทันเวลา และรอบคอบมากที่สุด ได้แก่
1. อย่าลืมนาฬิกาเช็กเวลาสอบ
เด็กวัยเรียนเข้าห้องสอบควรมีนาฬิกาข้อมือ หรือนาฬิกาส่วนตัวอื่น ๆ เนื่องจากต้องคำนวณเวลาสอบเสียก่อน เมื่อได้กระดาษข้อสอบมาแล้วให้ตรวจดูจำนวนข้อสอบ และหารกับเวลาเพื่อดูว่า ในแต่ละข้อจะใช้เวลาสูงสุดได้นานเท่าไหร่ เพื่อไม่ให้จมอยู่กับข้อใดนานเกินพอดี วิธีนี้สามารถช่วยให้บริหารเวลาในการทำข้อสอบได้มากขึ้น ทำให้ลดโอกาสทำข้อสอบไม่ทันเวลาได้
2. เจอข้อยากข้ามไปก่อน
โจทย์บางข้อมีความยากกว่าปกติ เห็นแล้วก็คงจะรู้ว่าคิดนานแน่นอน โดยเฉพาะวิชาสายคำนวณอย่างคณิตศาสตร์ เป็นต้น หากเจอข้อยากให้ข้ามไปก่อนเลยทันที ไปทำข้ออื่นที่คิดว่าง่ายกว่า และทำได้แน่นอน เพื่อเอาคะแนนในส่วนอื่น ๆ เพราะข้อง่ายใช้เวลาน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว จากนั้นเวลาที่เหลือทั้งหมด จึงค่อยมานั่งทำข้อยากที่เหลืออยู่ให้เสร็จ กลับกันหากทำข้อยากก่อน แล้วกินเวลามากเกินไป ก็จะทำให้ทำข้อสอบข้ออื่น ๆ ที่เหลือไม่ทันเลยก็ได้
3. หาใจความสำคัญของโจทย์
หากเป็นข้อสอบประเภทเนื้อหา ให้สรุปหาใจความสำคัญเป็นหลัก เพื่อมองให้ออกว่าเนื้อหากล่าวถึงอะไร ต้องการอะไร สามารถใช้วิธีอ่านโจทย์ก่อนเนื้อหาว่าโจทย์สำหรับเนื้อหานี้ มีอะไรบ้าง ถามเรื่องอะไร จากนั้นก็ค่อยอ่านเนื้อหา เมื่อมีโจทย์ที่รู้ในใจแล้ว ก็สามารถหาใจความสำคัญของเนื้อหานั้น ๆ เพื่อนำมาตอบคำถามได้ง่ายขึ้น
4. ระวังโจทย์หลอก
ข้อสอบที่มีจำนวนข้อไม่มากมักจะมีความยากของโจทย์กว่าเสมอ ข้อสอบที่มีจำนวนข้อมาก ๆ มักจะไม่ยาก แต่เน้นการอ่านที่รวดเร็ว และตอบอย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นข้อสอบแบบไหน โจทย์อาจถูกออกแบบมาเพื่อให้เข้าใจผิดได้ง่าย ๆ เช่น โจทย์อาจให้หา “ข้อที่ถูก หรือไม่ถูก” จะต้องอ่านดี ๆ หากอ่านไว ๆ แค่กวาดสายตา อาจพลาดคำเล็ก ๆ เพียงคำเดียว แล้วทำให้คำตอบผิดพลาดไปได้เลย
5. ตัดตัวเลือกออกเสมอ
หากเจอข้อสอบประเภทช้อย แต่มีความยากทำให้หาคำตอบได้ลำบาก และดูสับสน โดยปกติแล้วจะมีช้อยมา 4 ช้อย น้อง ๆ อาจค่อย ๆ ตัดคำตอบออกเพื่อเพิ่มความชัดเจนมากขึ้น โดยคำตอบที่ตัดต้องเป็นช้อยที่มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด เพื่อให้เห็นข้อที่เหลือว่าคำตอบควรอยู่ในเนื้อหาประมาณไหน หรือมีตัวเลขเท่าไหน และไม่ต้องมานั่งอ่านข้อที่ไม่น่าจะใช่คำตอบซ้ำไปซ้ำมาจนทำข้อสอบไม่ทัน
6. ต้องทำให้ครบทุกข้อ
ถึงแม้ว่าจะมีข้อสอบที่มองว่ายาก จนเวลาจะใกล้หมดแล้ว ยังมีข้อที่ไม่ได้ทำ หรือทำไม่ได้ หากเป็นข้อสอบประเภทช้อย ไม่ควรเหลือเอาไว้เลยแม้แต่ข้อเดียว หากมั่นใจว่าตัวเองทำไม่ทันแน่นอน ให้สุ่มตอบไปเลยในข้อที่เหลือไว้ เพราะถ้าทิ้งไว้ โอกาสที่จะได้คะแนนจะไม่มีเลย โดยปกติแล้วเทคนิคที่ใช้กรณีทำข้อสอบไม่ทัน คือ “การทิ้งดิ่ง” โดยให้กาคำตอบในช้อยที่ตัวเองกาน้อยที่สุด เช่น ในกระดาษคำตอบไม่ค่อยกา “ง.” ก็ให้กา “ง.” ทั้งหมดในข้อที่ไม่ได้ทำ แต่ต้องจำไว้ว่าวิธีนี้เป็นตัวเลือกสุดท้ายที่ควรทำ
นอกจากนี้ก่อนที่จะส่งกระดาษคำตอบ อย่าลืมตรวจดูว่าทำครบแล้วจริง ๆ รวมไปถึงข้อมูลของกระดาษคำตอบเขียนครบถ้วนไหม ทั้งชื่อ เลขที่ หรือข้อมูลอื่น ๆ เป็นต้น
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ทุกวันนี้ทำไมเด็ก ๆ ต้อง “ท่องสูตรคูณ” ในยุคที่มีเครื่องคิดเลขล้ำสมัย ?
3 สูตรคำนวณ ร้อยละ ให้ลูกฝึก ใช้บ่อยแน่นอนขอบอก !
10 เครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ ฉบับพื้นฐานของหนูน้อยวัยเรียน รู้จักหรือยัง ?
ที่มา : trueplookpanya, scimath