แนวทางสอนลูกให้มีเหตุผล “โต้แย้ง” แบบไม่ “โต้เถียง”ฉบับง่ายๆ
สมัยนี้แล้ว เราจะเลี้ยงลูกแบบบังคับให้อยู่แต่ในกรอบก็คงไม่ดี ลองคิดดูนะคะ เราอยากให้ลูกเป็นเด็กนิ่ง ๆ คอยทำตามคำสั่งคนอื่น ไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่คิดจะโต้แย้งเพื่อตัวเอง อย่างนี้จริง ๆ เหรอ…
ถ้าลดทิฐิความเป็นพ่อแม่ลง แล้วตั้งใจฟังลูกมากขึ้น บางทีเราอาจจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของลูกเรา ให้มีเหตุผล “โต้แย้ง” แบบไม่ “โต้เถียง”ฉบับง่ายๆ
ลูกเถียงพ่อแม่ก็ไม่ดี ลูกเชื่อฟังคนอื่นทุกเรื่องก็น่าหนักใจไม่แพ้กัน แนวทางสอนลูกให้มีเหตุผล “โต้แย้ง” แบบไม่ “โต้เถียง”ฉบับง่ายๆ กันดีกว่าค่ะ
“บางครั้งผู้ใหญ่ ไม่ค่อยสอนให้เด็กโต้แย้ง เพราะ ถ้าโดนเด็กอายุ 3 ขวบแย้งชนะแล้วเราจะตกใจ” เจมี แฮริงตัน เปิดประเด็น
“แต่ว่า การโต้แย้งแสดงจุดยืนของตัวเองพร้อมยกเหตุผลสนับสนุน ถือว่าเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง”
“ถ้าลูกอยากใส่ชุดชั้นในไปว่ายน้ำ ฉันจะให้ลูกหาเหตุผลมาอธิบายให้ได้ว่าใส่ชุดชั้นในดีกว่าใส่ชุดว่ายน้ำยังไง ถ้าเหตุผลนั้นฟังขึ้น เค้าจะใส่ชุดชั้นในไปว่ายน้ำก็ได้”
วิธีเลี้ยงลูกของเจมีฟังดูแหวกแนวไม่เหมือนใครดีใช่ไหมล่ะคะ เธอเป็นแม่ที่เปิดกว้างยอมรับฟังความคิดลูกมากค่ะ เหตุผลก็คือ…
“เพราะการอธิบายเหตุผลทำให้ลูกรู้จัก ‘คิด’ นี่คือสิ่งที่เด็กทุกคนควรเรียนรู้และทำได้! ”
และ เธอเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์จะช่วยส่งเสริมให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะฉะนั้น เธอจะไม่ยอมปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของลูกอย่างเด็ดขาด!
คุณพ่อ คุณแม่ คนไหนเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ก็ลองนำไปใช้กับลูกดูนะคะ ก่อนจะห้ามลูก ดุลูก หรือ ปฏิเสธความคิดใด ๆ ของลูก ลองถามเหตุผลเค้าดูก่อนดีกว่าค่ะ บางครั้งลูกก็มีเหตุผลของตัวเองที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้
และ เพื่อไม่ให้การ “โต้แย้ง” กลายเป็นการ “โต้เถียง” เราก็คิดซะว่ากำลัง “โต้วาที” กับลูกละกัน ทั้งสองฝ่ายต้องทำตามหลักการโต้แย้งอย่างสร้างสรรค์ตามนี้ค่ะ
- แสดงความคิดพร้อมอธิบายเหตุผลสนับสนุนความคิดนั้น
- ชี้ให้เห็นจุดอ่อนของความคิดตรงข้าม
- รับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย
- ไม่พูดเสียงดัง ประชดประชัน หรือใส่อารมณ์
- ไม่มุ่งแต่จะเอาชนะอย่างเดียว
ส่วนเกณฑ์การตัดสิน คือ เหตุผลใครฟังดูมีน้ำหนักมากกว่าก็ให้ทำตามฝ่ายนั้น เราเป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องให้ความยุติธรรมแก่เด็กด้วยนะคะ ถ้าเหตุผลเค้าดีจริงก็ต้องยอมค่ะ
ถ้าลูกโต้แย้งชนะ เราคงภูมิใจน่าดูที่ลูกเรารู้จักคิดเป็น และ มีเหตุผล แต่ถ้าลูกแพ้ อย่างน้อยเราก็ได้อธิบายเหตุผลของเราให้เค้ารับรู้แล้ว
วิน-วินกันทั้งสองฝ่ายค่ะ
เลี้ยงลูกแบบทางสายกลาง
แพทย์หญิงปราณี เมืองน้อย แพทย์ชำนาญการพิเศษ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า
“วิธีการเลี้ยงลูกที่ดีที่สุดคือ การยึดหลักของความสมดุลหรือทางสายกลาง ไม่ควรควบคุมมากไปหรือปล่อยปละมากไป เพราะ เด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนซุกซน ระเบียบวินัยหลวม พ่อแม่ก็ควรเลี้ยงแบบเผด็จการบ้างในบางครั้งแต่ถ้าลูกเป็นคนที่มีระเบียบวินัยในตัวเองอยู่แล้วการเลี้ยงแบบประชาธิปไตยให้เขาได้แสดงความคิดเห็น ก็จะไม่ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัดใจมากเกินไปการที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบไหนไม่ได้อยู่ที่การเลี้ยงดูเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น สภาวะแวดล้อม หรือแม้แต่สารเคมีภายในตัวของเด็กเอง ถ้าพูดตามหลักพุทธศาสนาก็คือ เด็กแต่ละคนมีบุญติดตัวมาต่างกัน จึงทำให้มีลักษณะที่แตกต่างกันด้วย”
การเป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
แน่นอนว่าคุณต้องไปไหนมาไหนเป็นครอบครัวกันบ้างอยู่แล้ว และ เมื่อได้พบเจอผู้คนก็ให้คุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของความสุภาพ และ ให้เกียรติทุกคนเข้าไว้ เพราะเมื่อลูกได้เห็นบ่อย ๆ ก็จะเข้าใจว่านี่คือสิ่งที่ควรทำ และ เขาก็จะนำไปปฏิบัติต่อนั่นเอง
เมื่อผิดยอมรับผิด ขอโทษ และปรับปรุง
ไม่ใช่ว่าพ่อแม่จะผิดไม่เป็นเสียที่ไหน แต่เมื่อผิดแล้วการยอมรับความผิด ไม่อ้างและไม่โทษปัจจัยอื่น ๆ รวมทั้งขอโทษ และแสดงให้เห็นถึงการปรับปรุง นี่คือสิ่งที่สามารถทำให้ลูกเห็นและทำให้เขาไม่ได้กลัวที่จะหนีความผิด ซึ่งแน่นอนว่าต้องคอยบอกเขาเสมอว่าพยายามรอบคอบและทำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมเสมอ แต่ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นมาจริง ๆ การยอมรับและแก้ไขเป็นสิ่งที่ดีที่สุดและไม่ได้แย่เสมอไปเช่นกัน จำไว้ว่า จงอย่ามีทิฐิกับลูกของคุณพ่อ คุณแม่ เลยนะคะ
ลองไปเล่นโต้คารมกับลูกดูนะคะ ไม่แน่ว่าความคิดไร้เดียงสาของเด็กน้อยอาจเปิดมุมมองอะไรใหม่ ๆ ให้เราก็เป็นได้…
รักษาสัญญา
การรับปากกับลูกมีความจำเป็นมาก ที่จะต้องรักษาสัญญาเอาไว้ให้ได้ทุกครั้ง ถ้าคุณไม่มั่นใจเราขอแนะนำว่าอย่ารับปากดีกว่า เพราะ อาจสร้างความรู้สึกไม่ดีให้กับเขา และ เขาอาจเข้าใจได้ว่าเมื่อพูดแล้วไม่ต้องรักษาสัญญาก็ได้ เพราะ พ่อแม่ก็ทำ เมื่อเป็นอย่างนั้นแล้วอาจทำให้มีผลเสียกับเขาในอนาคตได้
แสดงความรักอย่างจริงใจเสมอ
เรื่องนี้เริ่มต้นได้ง่ายที่สุด คือ การแสดงความรักอย่างจริงใจต่อกันในครอบครัว ทำให้ลูกรู้สึกได้เสมอว่าเขาสำคัญ และ ได้รับความรักจากพวกคุณอย่างจริงใจ จุดนี้จะทำให้เขาไว้ใจ และ กล้าที่จะปรึกษา บอกเล่า ให้คุณได้ฟัง และ แน่นอนอีกว่าเขาจะแสดงความรักกลับมา หาพวกคุณด้วยเช่นกัน
รับฟังกันเสมอ
การถูกรับฟังจะทำให้เขารับฟังคุณด้วยเช่นกัน เมื่อเวลาเขามีอะไรอยากเล่า อยากอธิบาย ความกระตือรือร้นที่จะรับฟัง ไม่ขัดเขา รอขนเขาอธิบายหรือเล่าจนจบนั้นมีความสำคัญกับความรูสึกของลูกมาก และแน่นอนว่าเขาจะเรียนรู้ว่าเมื่อคุณเองเป็นฝ่ายพูดเขาก็จะรับฟังและพยายามที่จะเข้าใจคุณด้วยเช่นกัน และแม้ว่าจะเห็นต่างการเคารพและพูดคุยกันด้วยเหตุผลมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของคุณราบรื่นขึ้นได้อีกด้วย
พ่อแม่ต้องกล้าลองสิ่งใหม่เสมอ ๆ
เราเชื่อว่าเรื่องความปลอดภัยนั้นเป็นสิ่งที่คุณกังวล แต่การได้ลองอะไรใหม่ ๆ ให้ลูกเห็นเสมอนั้นช่วยเปิดโลกและเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขาไม่น้อย อาจเริ่มง่าย ๆ ด้วยการพบปะผู้คนใหม่ ๆ ไปที่ใหม่ ๆ ลองกินอะไรใหม่ ๆ ทำกิจกรรมใหม่ ๆ ร่วมกัน แสดงให้เห็นถึงความกล้าลองของพวกคุณ และแน่นอนว่าต้องลองมันด้วยความระวังและมีเหตุผลมาอธิบายให้เขาได้เข้าใจอยู่เสมอ
การเป็นพ่อแม่นั้นมีส่วนทำให้พวกคุณเป็นคนที่ดีขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะสิ่งเหล่านี้ที่คุณพัฒนาขึ้นมีผลกับลูกเป็นอย่างมาก เริ่มต้นด้วยพื้นฐานของความรักและความเข้าใจจากนั้นก็คอยแนะนำเขาไปด้วยเหตุผลอย่างอ่อนโยนเราเชื่อว่าลูกของคุณจะงอกงามเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้อย่างคุณแน่นอน
บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง :
เด็กที่ ‘เถียง’ พ่อแม่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมากกว่า
จำเป็นมั้ยที่เด็กต้องมีความกล้าแสดงออก
เมื่อบทบาทของ CFO ต้องเปลี่ยนไป เลี้ยงลูกสมัยใหม่ ตามสไตล์แม่ฝน!