ฝึกลูกพูดสะท้อนอารมณ์ ลดปัญหาพฤติกรรม

เด็กแต่ละคนทักษะในการสื่อสารไม่เท่ากัน การพยายาม ฝึกลูกพูดสะท้อนอารมณ์ จะทำให้ทักษะการสื่อสารของเด็กดีขึ้น และลดปัญหาพฤติกรรมได้

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

ฝึกลูกพูดสะท้อนอารมณ์ ลดปัญหาพฤติกรรม

เด็กพยายามสื่อสารกับบุคคลรอบตัวตั้งแต่แรกเกิด ในระยะที่พูดไม่ได้ จะใช้วิธีการสื่อสารด้วยท่าทาง เช่น ร้องไห้  หัวเราะ ส่งเสียงแหลม แต่เมื่อพัฒนาการของสมองดีขึ้น จะเริ่มพัฒนาภาษาพูด โดยจะเริ่มพูดคำที่มีความหมาย เป็นคำเดี่ยว  ได้ตั้งแต่ประมาณ 1 ขวบถึง 1 ขวบครึ่ง หลังจากนั้น จะมีพัฒนาการทางภาษาดีขึ้นเรื่อยๆ และพัฒนาคำศัพท์คำเดี่ยวได้มากขึ้น หลังจากนั้น จะเริ่มพูดเป็นวลีสั้นๆที่อายุประมาณ 2 ขวบ ก่อนจะพัฒนาเป็นประโยคที่สมบูรณ์ต่อไป

ในระยะแรกของการหัดพูด เด็กจะเชื่อมโยงสิ่งที่มองเห็น ประกอบกับมีคนบอกว่าสิ่งนั้นเรียกว่าอะไร แล้วฝึกเปล่งเสียงออกมาเป็นภาษาพูด  ดังนั้นเด็กที่พบเห็นสิ่งต่างๆ รอบตัวมาก ร่วมกับมีคนคอยกระตุ้น คอยบอกคำศัพท์ต่างๆ จะมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี

แต่สำหรับสิ่งจับต้องไม่ได้  มองไม่เห็น เด็กจะยังไม่สามารถฝึกพูดได้ในช่วงแรก ดังนั้นในระยะที่ภาษายังพัฒนาได้ไม่ดี เมื่อมีอารมณ์ต่างๆ เช่น โกรธเมื่อถูกขัดใจ วิตกกังวล ความกลัว หรือบางคนอาจหงุดหงิดเพราะ หิว เหนื่อย ง่วงนอน ก็แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น กรี๊ด ร้อง ลงไปนอนกองกับพื้น ขว้างของ ตีพ่อแม่ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงช่องทางสื่อสารของเด็ก ให้คนรอบข้างรับรู้ว่ามีความไม่สบายใจบางอย่าง เกิดขึ้นภายในเท่านั้นเอง

เทคนิค ฝึกลูกพูดสะท้อนอารมณ์

การฝึกเด็กเล็กจนถึงวัยอนุบาล ควรเน้นในการสอนคำศัพท์เรื่องอารมณ์ให้เด็กและฝึกให้เด็กสื่อสารออกมาเป็นคำพูด เช่น เมื่อเด็กถูกขัดใจแล้วตีคนอื่น  พ่อแม่จะต้องหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ก่อนคือ จับมือแน่นๆ บอกว่าไม่ตี ไม่โกรธ เป็นต้น เด็กจะเริ่มเชื่อมโยงคำว่า “โกรธ” หรือ “เสียใจ” กับอารมณ์ภายในตัวเองในขณะนั้น  เป้าหมายคือ ให้เด็กสามารถพัฒนาจนถึงจุดที่ โกรธ แล้วบอกว่า “หนูโกรธแล้วนะ”  “หนูเสียใจ” “หนูไม่ชอบ” เป็นต้น ซึ่งหากเด็กสามารถสื่อสารออกมาเป็นภาษาได้ดี พ่อแม่จะสามารถควบคุมพฤติกรรมเด็กได้ดีขึ้น สามารถพูดคุยต่อได้ว่า หนูโกรธเรื่องอะไร เสียใจเรื่องอะไร ไม่ชอบใจเรื่องอะไร บอกซิ แล้วชวนคุยเพื่อแก้ปัญหาต่อไป

เด็กแต่ละคนทักษะในการสื่อสารไม่เท่ากัน ในเด็กที่พูดเก่ง จะสามารถพูดได้ว่า ตัวเองต้องการอะไร รู้สึกอย่างไร ปัญหาด้านพฤติกรรม จะน้อยกว่าเด็กกลุ่มที่ทักษะด้านภาษาไม่ดี ตัวอย่างเช่น เด็กคนหนึ่ง กินนมกล่องไปครึ่งกล่อง แล้วบีบนมจนหกเลอะเทอะ หากพ่อแม่สามารถเดาได้ว่า เด็กบีบเพราะไม่อยากกินแล้ว สิ่งที่ควรทำคือ บอกเค้าว่า “หนูอิ่มแล้วใช่มั๊ยคะ”  เด็กจะเชื่อมโยงคำว่า  “อิ่ม”  กับความรู้สึกอิ่มของตัวเอง และพ่อแม่บอกต่อว่า “ถ้าหนูไม่อยากกิน ให้พูดว่า พ่อคะ/แม่คะ หนูไม่อยากกินแล้วค่ะ”  แล้วให้เด็กพูดตาม โดยไม่ต้องดุ การพยายามฝึกพัฒนาการทางภาษาในลักษณะนี้จะทำให้ทักษะการสื่อสารของเด็กดีขึ้น และลดปัญหาพฤติกรรมได้อย่างดีทีเดียวค่ะ

ในกรณีที่เด็กโตขึ้นแล้วมีปัญหาด้านอารมณ์รุนแรง หงุดหงิด โกรธง่าย บางครั้งอาจแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ตั้งแต่ก้าวร้าวทางวาจา หรือพฤติกรรมรุนแรง เช่น ตีคนอื่น ขว้างของ ผู้ใหญ่ต้องไม่ปล่อยปละละเลย และคิดว่า ยังเด็กอยู่เดี๋ยวก็ดีเอง การพูดคุยกับเด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์พฤติกรรมดังกล่าวมีความสำคัญมาก

ประการแรกพ่อแม่เองต้องเข้าใจว่า “ความโกรธเป็นเรื่องปกติ” ใครๆ ก็เคยมีอารมณ์มีโกรธกันทั้งนั้น ดังนั้นควรสื่อสารกับเด็กว่า “การที่หนูโกรธไม่ใช่ความผิด”    แต่สิ่งที่ไม่ดี ยอมรับไม่ได้ คือ การแสดงออกด้านพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่างหาก ดังนั้น เมื่อมีอารมณ์โกรธ หงุดหงิด พ่อแม่ควรเริ่มต้นด้วย “การสะท้อนอารมณ์”  เช่นพูดให้เด็กฟังว่า ตอนนี้หนูกำลังโกรธนะ เพื่อให้ เด็กรู้ว่า ตัวเองกำลังโกรธ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

หลังจากนั้นให้ต่อด้วยการให้เด็กได้ฝึกสงบตัวเองลง เช่น การให้เข้ามุมสงบ หายใจเข้าออกลึกๆ  นับเลขช้าๆ ให้ค่อยๆ ผ่อนคลาย

เมื่อสามารถสงบพฤติกรรมได้แล้ว ค่อยๆ ให้เด็กพูดระบายความรู้สึก ให้ทบทวนว่า โกรธ เรื่องอะไร เพราะอะไร  โดยทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่แย้ง ไม่อธิบาย ไม่ตัดสินผิดถูก และแสดงความเห็นอกเห็นใจ ในบางเรื่อง แม้ว่าพ่อแม่จะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่เห็นจะต้องโกรธเลย แต่หากเด็กมีอาการโกรธมาก แสดงว่า เรื่องนั้นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็ก พ่อแม่จึงต้องไม่นำความคิดของตนเองไปตัดสินเรื่องต่างๆ ที่ทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

การฝึกอย่างนี้ต้องอาศัยระยะเวลา ดังนั้น การปรับเพียงไม่กี่ครั้ง เด็กจะยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ อาจต้อง ผ่านการฝึกหลายๆครั้ง จึงจะเกิดกระบวนการควบคุมตนเอง นอกจากนี้ ควรฝึกทบทวนกันสม่ำเสมอ ในช่วงยังไม่โกรธ เพื่อจะทำทักษะไปใช้ได้ในกรณีที่มีอารมณ์โกรธ และเมื่อเกิดเหตุการณ์เด็กที่ทำให้โกรธ เด็กสามารถจะรู้เท่าทันอารมณ์ตนเอง  และนำเทคนิคที่ฝึกไปใช้ได้จริง เป้าหมายคือ ในครั้งถัดๆ ไปหากเด็กมีอารมณ์โกรธจะ สามารถสงบสติอารมณ์ ควบคุม พฤติกรรมตนเองได้เอง โดยพ่อแม่ไม่ต้องช่วยเหลือ ควบคุม

สิ่งที่สำคัญที่สุดในการที่พ่อแม่จะช่วยในการปรับพฤติกรรม โดยการฝึกลูกพูดสะท้อนอารมณ์ได้ คือ การมีสัมพันธภาพที่ดี เด็กรู้สึกเป็นที่รัก รู้ว่าหากควบคุมอารมณ์พฤติกรรมได้ พ่อแม่จะดีใจ ภาคภูมิใจ  เด็กรับรู้ได้ถึงการอยากช่วยเหลือของพ่อแม่ เด็กจึงจะยอมร่วมมือในการฝึกสงบตัวเอง และลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในครั้งถัดไป

บทความที่น่าสนใจอื่นๆ

Loading...
You got lucky! We have no ad to show to you!
ติดต่อโฆษณา

พฤติกรรมเด็กแรกเกิด-3 ปี หนูทำแบบนี้ แม่ต้องรับมือแบบไหน

9 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อลูกเริ่มก้าวร้าว