ผู้ปกครองหลายคนอาจมีความจำเป็นที่จะต้อง พาลูกไปที่ทำงาน ซึ่งอาจกำลังกังวลว่าควรทำอย่างไรดี เพราะกลัวลูกจะไปสร้างความวุ่นวาย ปั่นป่วนจนคนอื่น ๆ ทำงานไม่ได้ อย่างไรก็ตามการพาลูกไปทำงานด้วย ก็ยังมีประโยชน์กับตัวของเด็กเอง วันนี้เราจึงจะมาเรียนรู้กันว่าจะเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หากต้องพาลูกไปทำงานด้วย
6 วิธีเตรียมตัวเมื่อต้องพาลูกไปที่ทำงาน
การเตรียมตัวนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับลูกน้อย หลายกิจกรรมจำเป็นต้องเตรียมก่อน เพื่อให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ดี โดยเฉพาะเรื่องของเด็ก ๆ การพาลูกไปที่ทำงานก็เช่นกัน สามารถเตรียมได้ด้วย 6 วิธี ดังนี้
1.สถานที่และงานเหมาะสมที่จะพาลูกไปหรือไม่
ก่อนตัดสินใจพาลูกไป ต้องมีปัจจัยบ่งชี้ว่ามีความเหมาะสม เพราะในบางตัวงาน หรือบางสถานที่อาจไม่เหมาะที่จะพาลูกไปด้วย เช่น พื้นที่กำลังก่อสร้าง ไม่มีความแข็งแรง และมีอุปกรณ์ช่างที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็ก, สถานที่เกี่ยวกับสินค้าที่แตกสลายได้ง่าย เสี่ยงต่อการชำรุด หรือสถานพยาบาลในจุดพื้นที่เสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่าง ๆ เป็นต้น หากมั่นใจว่าสถานที่ทำงานปลอดภัยกับเด็ก จึงตัดสินใจพาลูกน้อยไปด้วยได้ แต่หากสถานที่ทำงานไม่เอื้ออำนวย แต่ไม่มีใครดูแลลูกที่บ้าน ควรแก้ปัญหา ดังนี้
- สอบถามความเป็นไปได้ในการขอทำงานแบบ Work from Home
- ขอให้ญาติใกล้เคียง หรือเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ ช่วยดูแลลูกก่อนในขณะที่แก้ปัญหา
- ศึกษาเกี่ยวกับบริการพี่เลี้ยงเด็ก และใช้บริการหากจำเป็น
- หากสามารถตกลงวันหยุดได้อาจสลับกันระหว่างพ่อแม่เพื่อดูแลลูก
- หากลูกโตพอจะอยู่คนเดียวได้ อาจให้ลูกอยู่คนเดียว แต่ต้องสอนสิ่งที่จำเป็นโดยเฉพาะเบอร์ฉุกเฉิน และคอยโทรเช็กลูกระหว่างวัน
บทความที่เกี่ยวข้อง : ปล่อยให้ลูก “อยู่คนเดียว” ได้ตั้งแต่กี่ขวบ? มีผลเสียอะไรบ้าง?
วิดีโอจาก : Napat Family
2.ห้ามเซอร์ไพรส์เพื่อนร่วมงาน
สิ่งแรกที่ต้องทำหากมั่นใจว่างานของเราสามารถพาลูกไปด้วยได้ หรือมีความจำเป็นต้องพาลูกไปที่ทำงาน ห้ามทำตามใจอยากอย่างเด็ดขาด แต่ควรแจ้งกับหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานก่อนพาไปอย่างน้อย 1 วัน เนื่องจากอาจต้องมีการจัดพื้นที่บางจุดเพื่อให้เหมาะสมกับเด็ก หรือเก็บอุปกรณ์ที่อาจเกิดอันตรายกับเด็กได้ เช่น ของมีคมต่าง ๆ เป็นต้น
3.เลือกวันที่เหมาะสมที่สุด
การเลือกวันที่จะให้ลูกไปที่ทำงาน หากสามารถเลือกได้ ไม่ได้จำเป็นต้องให้ลูกไปทุกวัน ควรเลือกวันที่ไม่มีประชุม เนื่องจากจะทำให้เด็กอาจต้องอยู่ตามลำพัง ไม่มีใครดูแล เนื่องจากทุกคนต่างพากันเข้าห้องประชุม หรือไม่ควรเลือกวันที่มีการทำงานหนัก ต้องใช้ความคิด และสมาธิ เพราะลูกอาจรบกวนการทำงาน หรือทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกไม่มีสมาธิตามไปด้วย
4.บอกสิ่งที่ลูกต้องรู้
พาลูกไปที่ทำงาน ไม่ใช่แค่การพาไปได้เลย แล้วค่อยไปสอนลูก พูดคุยกับลูกทีหลัง แต่ควรต้องบอกลูกก่อนว่าต้องระวังในเรื่องไหนบ้าง อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ สอนให้ลูกรู้จักมารยาทห้ามส่งเสียงดัง ห้ามเล่นเสียงดัง หรืออย่าหยิบของคนอื่นมาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นต้น การให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไว้ก่อนวันจริง จะช่วยลดโอกาสที่ลูกจะสร้างปัญหาให้กับเพื่อนร่วมงานได้
5.จัดมุมให้ลูกโดยเฉพาะ
คงไม่ใช่เรื่องดีหากลูกตัวน้อยมีโอกาสวิ่งเล่นในที่ทำงาน โดยที่ไม่มีใครคอยควบคุม จึงควรมีมุมเล็ก ๆ ที่อาจจัดขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อให้ลูกได้ใช้พื้นที่นั้นเล่น หรือทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำ โดยมุมนี้ควรอยู่ใกล้ ๆ ผู้ปกครอง เพื่อที่จะสามารถดูแล และให้ความช่วยเหลือ รวมไปถึงควบคุมลูกได้ง่ายมากขึ้น
6.ทำดีทำได้รับรองมีรางวัล
จุดประสงค์ของการพาลูกไปที่ทำงานของแต่ละคนอาจแตกต่างกันออกไป บ้างก็เพราะไม่มีใครดูแลลูกที่บ้าน บางคนอาจเพราะต้องการให้ลูกได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลไหน หากลูกตัวน้อยปฏิบัติตัวดี ไม่ก่อความวุ่นวาย และไม่สร้างปัญหากับผู้อื่น ลูกน้อยก็สมควรได้รับรางวัลเพื่อให้ลูกได้รู้ว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองชื่นชมจริง ๆ
4 ประโยชน์เมื่อพาลูกไปที่ทำงาน
หากไตร่ตรองถึงความเหมาะสมแล้ว ว่างานของผู้ปกครองสามารถพาเด็กไปได้ สามารถสร้างประโยชน์แก่ลูกน้อย หรือมีความจำเป็นที่ต้องพาลูกไปจริง ๆ จะต้องพูดคุยกับลูกก่อนเสมอว่า ควรทำตัวแบบไหน และต้องระวังอะไรบ้าง เพื่อให้ลูกเกิดความเข้าใจ และลดโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายให้ได้มากที่สุด หากมั่นใจแล้วเด็ก ๆ จะได้รับประโยชน์หลากหลายข้อ ดังนี้
บทความที่เกี่ยวข้อง :10 งานที่สามารถทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย สำหรับแม่เลี้ยงลูกอยู่บ้าน
1.เพิ่มประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากบ้าน
การพาลูกไปที่ทำงานสามารถช่วยให้ลูกได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานของคุณพ่อ หรือคุณแม่ ได้รู้ว่าการทำงานของผู้ใหญ่เป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง และตนควรทำตัวแบบไหน ได้เห็นโลกภายนอกที่แปลกตาที่เด็กอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้เด็กมีโอกาสได้รับฟังเรื่องราวใหม่ ๆ ด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กจะเรียนรู้โลกภายนอกผ่านการออกไปเล่นที่สวน หรือสนามเด็กเล็ก หากมีความเหมาะสมก็สมควรเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับลูกน้อยเช่นกัน
2.ได้ฝึกความมีระเบียบ และการทำงานที่เหมาะสม
สถานที่ทำงานของผู้ปกครอง เต็มไปด้วยคนที่ทำงาน ในช่วงเวลาที่ลูกน้อยไม่สามารถตามผู้ปกครองไปยังบางพื้นที่ได้ ผู้ปกครองสามารถให้ลูกช่วยงานเล็ก ๆ น้อย ๆ ตามความเหมาะสม เป็นการฝึกลูกให้รู้จักการทำงาน การช่วยเหลือผู้อื่น โดยต้องอธิบายให้ลูกพอเข้าใจว่าทำแบบไหน ทำไมจึงต้องทำ หากลูกช่วยงานได้ดี ถึงแม้จะเป็นงานง่าย ๆ ก็ควรให้คำชม หรือรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ แก่ลูกด้วย
3.ฝึกความอดทน
เมื่อผู้ปกครองไม่สะดวกที่จะต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา ลูกน้อยจะต้องรอพ่อแม่อย่างเงียบ ๆ หรือช่วยงานเพื่อรอเวลากลับบ้าน เป็นต้น การอดทนรอในสิ่งที่จำเป็น ถือเป็นการฝึกฝนที่สำคัญ ในหลายครั้งลูกน้อยอาจต้องรอผู้อื่นทำธุระที่สำคัญ แม้ตนเองจะอยากกลับบ้าน หรือไม่ต้องการรอ แต่เด็กควรเรียนรู้ว่าหลายอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ต้องขึ้นอยู่กับหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความอดทนด้วย
4.เรียนรู้การเข้าสังคม และมารยาทต่อผู้ใหญ่
เมื่อลูกถูกพามาที่ทำงาน สังคมโดยปกติที่เด็กจะต้องเจอ คือ เพื่อนร่วมงานของผู้ปกครอง ซึ่งเป็นสังคมที่ต่างจากโรงเรียน และต่างจากคนในครอบครัว เพราะการเจอกับผู้ใหญ่ในที่ทำงาน เด็กจะต้องพยายามระมัดระวังในการใช้เสียง และการกระทำต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น นอกจากนี้ยังอาจได้มีโอกาสพูดคุยกับคนรอบตัว ทำให้รู้วิธีการเข้าหา หรือการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เมื่อจะต้องเจอกับสังคมผู้ใหญ่ด้วย
เด็กที่ได้มีโอกาสไปที่ทำงานของพ่อแม่ จะได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่ใหม่กว่า ได้รู้จักผู้คนมากขึ้น ทำให้ความคิดของเด็กกว้างขึ้นตามไปด้วย หากมีความเหมาะสม ก็ถือเป็นทางเลือกของการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเด็กได้เหมือนกัน
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
หาพี่เลี้ยง ยังไง? ให้ตรงตามใจลูก พ่อแม่ควรทำอย่างไรกันบ้างนะ
วิธีแบ่งเวลา เป็นแม่ที่ดี ทำงานก็เลิศ คุณทำได้ถ้าทำตามนี้
กลับไปทำงานหลังคลอด หรืออยู่เลี้ยงลูกที่บ้านดี แบบไหนที่จะทำให้ลูกมีความสุข