โรคหวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยกับเด็ก โดยทั่วไปนั้นเมื่อลูกมีอาการน้ำมูกไหล หรือเสมหะ เจ็บคอ หรืออาจมีไข้เล็กน้อย หรือไม่มี ก็สามารถรักษาได้ง่าย ๆ โดยการให้ลูกรับประทานยา และพักผ่อนอยู่ในบ้านเท่านั้น วันนี้ theAsianparent จะพาคุณพ่อคุณแม่มาดู วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นหวัด ควรดูแลลูกอย่างไรให้ลูกปลอดภัยมากที่สุด ไปติดตามกันค่ะ
ลูกมีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ แปลว่าอะไร
เมื่อลูกไม่สบาย มีน้ำมูก แต่ไม่มีไข้ อาจหมายถึงลูกเป็น “โรคไข้หวัดธรรมดา” ซึ่งเป็นโรคที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปเป็นเรื่องธรรมดาค่ะ ทุกคนมีโอกาสเป็นหวัดทั้งนั้น ไม่ว่าลูกจะล้างมือบ่อยแค่ไหน คุณขยันให้ลูกทานวิตามินเสริม และหมั่นให้ลูกแต่งตัวอบอุ่นเพียงใด ลูกก็ยังเป็นหวัดได้อยู่ดี แต่คุณพ่อคุณแม่ยังมีหนทาง วิธีดูแลเมื่อลูกเป็นหวัด จะช่วยบรรเทาอาการหวัดให้ลูกหายขาดเร็วขึ้นค่ะ
ไข้หวัดธรรมดา คืออะไร
โรคหวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้ง่ายมาก เชื้อเหล่านี้กระจายอยู่ในอากาศเมื่อผู้ติดเชื้อไอ จามหรือสั่งน้ำมูกออกมา สิ่งที่ผู้ติดเชื้อสัมผัสอาจส่งต่อเชื้อโรคให้คนอื่นเป็นหวัดต่อไปเป็นทอด ๆ ไข้หวัดเป็นโรคที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เป็นบ่อยกว่าโรคอื่น ๆ เชื้อไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของไข้หวัดธรรมดามีอยู่ในทุกสภาพอากาศแต่จะพบบ่อยที่สุดในอากาศหนาวเย็น และเปียกแฉะ
อาการของไข้หวัด
อาการของโรคไข้หวัดธรรมดาประกอบด้วย คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จาม มีไข้มีสูงนัก และไม่อยากอาหารเนื่องจากมีเสมหะ ร่างกายมักแสดงอาการของโรคภายใน 3-7 วันหลังได้รับเชื้อ และจะเป็นอยู่ราว 3-5 วันก่อนจะหาย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม และโควิดในเด็ก ที่พ่อแม่ควรแยกให้ออก
สิ่งที่ควรทำเมื่อลูกเป็นหวัด
เมื่อลูกเป็นหวัดในฐานะพ่อแม่ ไม่มีทางใดที่จะปัดเป่าโรคไข้หวัดให้พ้นไปจากตัวลูกได้ นอกจากคอยให้อาการหายขาดไปเอง แต่ก็ยังพอมีหนทางที่จะช่วยให้ลูกน้อยรู้สึกสบายขึ้นได้ขึ้น
- ซุปไก่ ของเหลวร้อน ๆ ช่วยให้โพรงจมูกโล่งขึ้น และบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เกลือในน้ำซุปยังช่วยทุเลาอาการเจ็บคอ และช่วยกำจัดเสมหะด้วย
- ของเหลว ควรให้ลูกรับของเหลวมาก ๆ โดยเฉพาะหากลูกมีไข้ หรือไม่ค่อยทานอาหาร ร่างกายของเด็กอาจขาดน้ำได้หากปริมาณของเหลวที่ได้รับลดลง การขาดน้ำก่อให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนรุนแรงอย่างอื่นตามมา จึงควรให้ลูกได้รับของเหลวอย่างสม่ำเสมอ ข้อพึงระวังคืออย่าให้ลูกดื่มนม นมปั่น และไอศกรีม เมือกจากอาหารเหล่านี้จะยิ่งทำให้มีเสมหะมากขึ้น
- กลั้วคอด้วยน้ำเกลือ เกลือช่วยให้เสมหะแห้ง และบรรเทาการติดเชื้อในลำคอ
- อาบน้ำร้อน (แต่ไม่ร้อนจนเกินไป) ไอน้ำช่วยให้โพรงจมูกโล่งโปร่งสบายขึ้น
- ว่ายน้ำที่สระในร่ม ถ้าลูกไม่มีไข้ พาลูกไปว่ายน้ำที่สระในร่มสัก 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง คลอรีนในน้ำช่วยให้โพรงจมูกโล่งได้อย่างเห็นผล
- วิตามินซี และสังกะสี ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยได้ แต่ต้องระวังอย่าให้ลูกทานมากเกินไป ไม่เช่นนั้นอาจนำไปสู่ปัญหารุนแรงได้
- ยาตามร้านขายยาทั่วไปอาจไม่ช่วยให้ลูกหายจากไข้หวัดได้ แต่จะบรรเทาอาการต่าง ๆ และประคับประคองให้ร่างกายทำงานได้ดีขึ้นจนกว่าจะหายเอง เช่นเดียวกับวิธีการที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้น ข้อพึงระวังคือหากจะซื้อยาให้ลูกเอง ต้องให้ปริมาณยาที่ถูกต้องตามใบกำกับยาอย่างเคร่งครัด
สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลูกเป็นหวัด
ยาปฏิชีวนะไม่ช่วยรักษาโรคไข้หวัดธรรมดา และอาจทำให้อาการทรุดหนักลงด้วย หลายคนมักเข้าใจผิดว่าต้องทานยาปฏิชีวนะหากน้ำมูก หรือเสมหะเป็นสีเขียวหรือเหลือง อาการของโรคก่อให้เกิดการขับน้ำมูก และเสมหะเหนียวสีออกเหลือง หรือเขียวเป็นปกติอยู่แล้ว ไข้หวัดธรรมดาเป็นโรคที่เราต้องปล่อยให้หายขาดเอง นอกจากนี้ ไข้หวัดอาจนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น
- การติดเชื้อในหู
- การติดเชื้อในลำคอ
- หลอดลมอักเสบ
- ไซนัสอักเสบ
- ปอดบวม
นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่อาจทราบได้ว่าลูกเป็นมากกว่าแค่ไข้หวัดธรรมดาโดยดูจากอาการ ดังต่อไปนี้
- อาเจียน และท้องเสีย
- เหงื่อออกมากกว่าปกติ
- ไม่รับประทานอาหาร
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีไข้ติดต่อกันนานกว่า 48 ชั่วโมงแม้จะใช้ยาลดไข้แล้ว
- หายใจลำบาก
- อาการไม่ดีขึ้นเลยหลัง 7 วัน
- ลูกอาการทรุดหนักลงแม้จะได้รับการรักษาพยาบาล
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไข้หวัดใหญ่ สังเกตอาการไข้หวัดใหญ่ พร้อมวิธีป้องกัน ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรค
ดูแลลูกเวลาเป็นหวัดอย่างไร
ระหว่างที่ลูกเป็นหวัด (หรือจะป่วยด้วยโรคอะไรก็ตามแต่) ลูกควรได้รับความเอาใจใส่ และการเอาใจจากคุณพ่อคุณแม่มากกว่าปกติค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่ควรกอดลูกให้บ่อยขึ้น และอยู่ใกล้ลูกให้มากขึ้น เพราะการทำแบบนี้ เป็นสิ่งดีที่สุดที่คุณจะให้ได้ในช่วงที่ลูกป่วย อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ยังควรเช็ดตัวให้ลูกบ่อย ๆ เพื่อช่วยลดไข้ให้แก่ลูก นอกจากนี้ การให้ลูกห่มผ้าห่มผืนโปรด อ่านนิทานสนุก ๆ ดื่มเครื่องดื่มอุ่น ๆ รสอร่อย และเล่นกับตุ๊กตานุ่มนิ่มน่ากอด ก็จะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ และเมื่ออาการหวัดของลูกทุเลาลง คุณพ่อคุณแม่ต้องทำความสะอาดที่นอน ห้องนอน และของเล่นของลูกอย่างสะอาดหมดจด และอย่าลืมเปลี่ยนแปรงสีฟันเป็นแท่งใหม่ และนำขยะทั้งหมด เช่น กระดาษทิชชูออกไปทิ้งข้างนอกบ้านให้เรียบร้อยด้วยนะคะ เพื่อความปลอดภัย และป้องกันเชื้อโรคจากไข้หวัดค่ะ
การป้องกันคือวิธีที่ดีที่สุด
“กันไว้ดีกว่าแก้” คือคติที่ไม่เคยล้าสมัยค่ะ ในฐานะพ่อแม่ เราต่างก็รู้ว่าไม่มีทางใด ที่จะป้องกันไม่ให้ลูกเป็นหวัดเลยได้ แต่เรายังพอมีวิธีลดความเสี่ยงและความถี่ที่ลูกจะเป็นไข้หวัดค่ะ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันลูกเป็นหวัดได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงยาปฏิชีวนะ นอกจากจะจำเป็นจริง ๆ โชคไม่ดีนักที่แพทย์บางคน มักสั่งยาปฏิชีวนะให้คนไข้เป็นว่าเล่น การใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินควรจะบั่นทอนความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรค ทำให้เป็นหวัด และโรคอื่น ๆ ได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. ถ้าลูกต้องไปเข้าสถานรับเลี้ยงเด็ก พยายามเลือกที่ที่มีขนาดเล็กเข้าไว้ ยิ่งจำนวนเด็กน้อยเท่าไร โอกาสติดหวัด ก็น้อยลงเท่านั้นค่ะ
3. รักษาความสะอาดในบ้านสม่ำเสมอ
4. ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทานอาหารที่มีคุณค่าและดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อสร้างเสริมร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง อาหารที่ลูกได้รับควรมีโยเกิร์ตรวมอยู่ด้วย จุลินทรีย์มีประโยชน์ในโยเกิร์ตช่วยป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ดี
5. หลีกเลี่ยงการรับควันบุหรี่ เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าควันบุหรี่มีส่วนทำให้เกิดโรคต่าง ๆ รวมทั้งไข้หวัดด้วย
โรคหวัดธรรมดา สามารถรักษาได้ง่าย ๆ ที่บ้าน หากลูกมีอาการดังกล่าว คุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีดูแลลูกง่าย ๆ ด้วยการให้ลูกรับประทานยา พักผ่อน และคอยเฝ้าสังเกตลูกอยู่ตลอดเวลา หากลูกมีอาการผิดปกติ มีไข้สูง อาเจียน หรือหายใจลำบาก ควรรีบพาเขาไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อรักษาอาการต่อไป
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
ลูกจามบ่อย เป็นอะไรไหม สังเกตอย่างไรว่าจามเพราะฝุ่นหรือลูกไม่สบาย
แม่ให้นมลูกเป็นหวัด กินยาลดน้ำมูก ยาแก้เจ็บคอได้ไหม ให้นมลูกได้หรือเปล่า
ลูกเป็นหวัดอาบน้ำได้ไหม สระผมได้หรือเปล่า ลูกป่วยไม่สบายควรดูแลอย่างไร?
ที่มา : phyathai