ลูกตาเหล่ ลูกตาเข ในทารกที่อายุน้อยกว่า 3 เดือน อาจสังเกตเห็นตาของทารกเหล่เข้าหรือเหล่ออกบ้าง ตาสองข้างทำงานไม่สอดคล้องกันบ้าง ถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเป็นช่วงอายุที่การทำงานประสานกันของสองตายังไม่ดีนัก แต่เมื่อทารกอายุเกิน 3 เดือนไปแล้ว ตาสองข้างเริ่มทำงานประสานกันได้ดี บังคับตาทั้งสองข้างให้มองไปในทิศทางของวัตถุที่สนใจได้แม่นยำขึ้น วันนี้ theAsianparent จะพาไปดูกันว่าลูกตาเหล่ ตาเข อาการเป็นอย่างไร และรักษาได้ด้วยวิธีไหน พร้อมแล้ว ไปดูกันค่ะ
โรค ตาเหล่ คืออะไร
รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า โรคตาเหล่เป็นภาวะที่ตาสองข้างไม่อยู่ในแนวแกนเดียวกัน ทำให้ไม่สามารถมองวัตถุเดียวกันพร้อมกันด้วยตาทั้งสองข้าง โดยทั่วไปคนที่มีภาวะตาเหล่จะใช้ตาข้างที่ปกติจ้องวัตถุ ส่วนตาข้างที่เหล่อาจเบนเข้าด้านใน หรือเบนออกด้านนอก หรือขึ้นบนลงล่าง ทั้งนี้ขึ้นกับว่าเป็นตาเหล่ประเภทใด บางรายอาจมีตาเหล่สลับ และในบางรายอาจตาเหล่ตลอดเวลาหรือเป็นครั้งคราวก็มี
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาเด็ก และ ตาเข กล่าวว่า อาการตาเหล่นั้น เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในทารก และเด็กเล็ก สำหรับในเด็กทั่วโลกถือว่าพบได้ไม่น้อยทีเดียว ซึ่งตาเขจะมีชนิด และสาเหตุหลากหลายรูปแบบ โดยทั่วไปแบ่งชนิดของตาเขได้ดังนี้
- ตาเข ชนิดหลอก ( Pseudo strabismus ) : คือตาที่มองดูเผิน ๆ คล้ายตาเข แต่เมื่อตรวจจริง ๆ พบว่าไม่ใช่ตาเข ซึ่งอาจเกิดจาก ลักษณะเปลือกตาค่อนข้างเล็กหรือเฉียงขึ้นบนเล็กน้อย หรือขอบเปลือกตาบนด้านหัวตาโค้งต่ำกว่าปกติ ทำให้ดูเหมือนลูกตาอยู่ชิดหัวตา คล้ายลักษณะตาเขเข้าใน ยิ่งร่วมกับลักษณะดั้งจมูกแบนราบยิ่งเห็นชัดขึ้น หรือพบในคนที่มีรูปหน้าแคบ ลูกตาทั้งสองอยู่ใกล้กันมาก แม้จมูกโด่งก็ทำให้ดูเหมือนคนตาเขเข้าในได้ หรืออีกประเภทคือ หน้ากว้าง ลูกตาอยู่ห่างกันมากกว่าปกติ ทำให้ดูคล้ายกับคนตาเขออกด้านนอก แต่เมื่อส่องตรวจพบแสดงสะท้อนจากรูม่านตาตรงกลางที่จุดเดียวกันทั้งสองตาแสดงว่าไม่ใช่ตาเขจริง
- ตาเขชนิดซ่อนเร้น ( Latent strabismus ) คือมีตาเขที่ซ่อนไว้ให้ไม่ดูเข แต่จะมีอาการตาเขแสดงออกในบางครั้งเนื่องจากกล้ามเนื้อตาซึ่งบังคับตาให้ตรงเกิดอาการอ่อนเพลีย
- ตาเขชนิดเห็นได้ชัด ( Manifest strabismus ) เป็นตาเขที่มองเห็นได้ชัดเจน ซึ่งแบ่งได้ 4 ลักษณะ 1. ตาเขเข้าด้านใน 2. ตาเขออกนอก 3. ตาเขขึ้นบน 4. ตาเขลงล่าง
บทความที่เกี่ยวข้อง : ทารกตาเหล่ ตาเข แก้ยังไง โตแล้วจะหายไหม
โรคตาเหล่มีอาการอย่างไร
รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล กล่าวว่า เมื่อเริ่มเป็นโรคนี้ เด็กอาจแสดงอาการหยีตาบ่อย โดยเฉพาะเวลาอยู่ในที่มีแสงจ้า การหยีตาข้างหนึ่งช่วยให้การมองเห็นภาพซ้อนหายไป บางคนอาจมีอาการปวดศีรษะเวลาใช้สายตามองใกล้เป็นเวลานาน เนื่องจากมีการเกร็งกล้ามเนื้อลูกตาเพื่อแก้ไขภาวะตาเหล่ ในระยะแรกเด็กอาจมองเห็นภาพซ้อน เนื่องจากตาสองข้างมองไปยังจุดที่ต่างกัน แต่ในระยะต่อมาสมองจะปรับตัวโดยไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาข้างหนึ่ง ช่วยให้ภาวะเห็นภาพซ้อนหายไปได้
ลูกตาเหล่ ลูกตาเข มีสาเหตุจากอะไร
รศ.พญ.ละอองศรี อัชชนียะสกุล อธิบายว่า สาเหตุสำคัญของโรคตาเหล่ในเด็ก มักไม่ทราบสาเหตุ และ มากกว่าครึ่งหนึ่ง จะตรวจพบ ความผิดปกติ ตั้งแต่แรกเกิดหรือภายในอายุ 6 เดือน บางราย เมื่อซักถาม
ถึงประวัติครอบครัว พบว่ามีผู้เป็นโรคตาเหล่อยู่ แสดงถึงโรคนี้สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ในกรณีที่สมองไม่สนใจภาพที่เห็นจากตาข้างที่เหล่เป็นระยะเวลานาน ๆ อีกทั้งไม่ได้รับการรักษาภายในช่วงอายุที่เหมาะสม เด็กอาจเกิดภาวะสายตาขี้เกียจ (amblyopia) ซึ่งเป็นผลให้ตาข้างที่ไม่ได้ใช้งานมองภาพไม่ชัดอย่างถาวร
สำหรับภาวะสายตาขี้เกียจจะไม่พบในผู้ซึ่งภาวะตาเหล่เริ่มภายหลังอายุ 9 ปี เนื่องจากสมองได้พัฒนาการมองเห็นจนสมบูรณ์แล้ว
วิธีแก้ตาเหล่ ตาเขวิธีรักษา ลูกตาเหล่รักษาอย่างไร
เด็กควรได้รับการตรวจตาโดยละเอียด รวมถึง การตรวจจอตา เพื่อหาความผิดปกติภายในลูกตาซึ่งอาจเป็นสาเหตุของตาเหล่ และให้การรักษาตามความเหมาะสม เนื่องจากภาวะตาเหล่ส่วนใหญ่ยิ่งรักษาเร็วเท่าไรจะยิ่งได้ผลดี แต่ถ้าเด็กเป็นตาขี้เกียจร่วมด้วย แพทย์อาจรักษาตาขี้เกียจก่อนที่จะรักษาตาเหล่ ซึ่งการรักษาตาขี้เกียจอาจทำโดยการให้แว่นตาหรือการปิดตาด้านดี แล้วแต่สาเหตุของตาขี้เกียจว่าเกิดจากสาเหตุอะไร
ถ้าปล่อยให้เด็กตาเหล่จนกระทั่งอายุมากแล้ว การรักษาจะทำได้แค่เพียงผ่าตัดเพื่อทำให้ตากลับมาตรงเท่านั้น แต่จะไม่สามารถรักษาให้กลับมามองชัดเหมือนคนปกติได้ และการทำงานประสานกันของสองตาโดยเฉพาะการมองเห็นสามมิติ (Stereopsis)จะเสียไปด้วย
บทความที่เกี่ยวข้อง : ไขข้อข้องใจ รู้ได้อย่างไรว่าทารกแรกเกิดทำไมตาเหล่
ถ้าไม่รักษาตาจะพิการถึงขั้นบอดไหม
ศ.เกียรติคุณ นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์ อธิบายว่า ตาคนเราปกติจะมองเห็นสองข้างหรือใช้ตาทั้งสองข้างมาตามธรรมชาติ ยกเว้นความผิดปกติบางอย่างจะทำให้แนวทางลูกตาเบี่ยงเบนไปจากแนวปกติเกิดภาวะเขได้ทันที เมื่อเป็นเช่นนี้ต้องพยายามขจัดสาเหตุที่ทำให้ตาเขออกไปให้เร็วที่สุด เพื่อตาจะได้เห็นชัดทั้งสองข้าง สภาพตาจะทรงตัวอยู่แนวตรง ถ้าทำไม่ได้หรือไม่ทำ ตาข้างที่เขจะค่อย ๆ มัวลงทีละน้อยจนกระทั่งแทบมองไม่เห็น ต่อไปแก้ไขไม่ได้ถึงขั้นพิการ และบอดแต่ไม่ใช่บอดสนิทได้
ดังนั้น ถ้าผู้ปกครองสังเกต เห็นบุตรหลาน มีอาการ ตาเหล่ หลังจากเด็กอายุมากกว่า 3 เดือนแล้ว ให้พาเด็ก ไปพบจักษุแพทย์อย่างเร็วที่สุด เพื่อทำการรักษาค่ะ เพราะการปล่อยให้เด็กตาเหล่จนกระทั่งอายุมากนั้น อาจทำให้ตาของลูกไม่สามารถกลับมามองเห็นชัดเหมือนคนปกติ และยังทำให้การประสานกันของสายตาเสียหายอีกด้วย
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ :
โรคตาในเด็ก และโรคตาของผู้ใหญ่ในแต่ละช่วงอายุมีอะไรบ้าง
เด็กทารก กะพริบตา บ่อยผิดปกติ อันตรายไหม สาเหตุคืออะไร?
เบาหวานขึ้นตา รวมทุกเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเบาหวานขึ้นตา สาเหตุ วิธีรักษา
ที่มา : si.mahidol, doctorvision, doctor, mamastory