9 ข้อควรทำ! การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่วัยเยาว์

undefined

การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก เริ่มได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กค่ะ เรามีวิธีการมาฝากคุณพ่อคุณแม่ให้ลองนำไปใช้ค่ะ

เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนอยากเลี้ยงลูกให้เป็นคนมีวินัย มีระเบียบ ไม่เอาแต่ใจตัวเอง มีความรับผิดชอบ และรู้จักการรอคอย ซึ่งความจริงแล้วการฝึกวินัยนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรปฏิบัติกับลูกโดยเคารพในคุณค่าของลูก และปลูกฝังระเบียบวินัยที่มุ่งเน้นการสอนให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเองและมีความรับผิดชอบ ซึ่งทุกคนในบ้านต้องมีส่วนร่วมและลงมือทำในแนวทางเดียวกัน แบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เวลาลูกน้อยในการปรับตัว ไปดูกันค่ะว่า 9 ข้อควรทำ! การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก ตั้งแต่วัยเยาว์มีอะไรบ้าง

การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก

องค์ประกอบสำคัญของ การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก

  • เข้าใจความแตกต่างระหว่างการลงโทษและการฝึกวินัย

การฝึกวินัยจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาพฤติกรรม การแก้ปัญหา ให้ความรู้และสนับสนุนการเจริญเติบโตของลูกบนหลักของพัฒนาการค่ะ แต่การลงโทษเป็นการมุ่งควบคุมพฤติกรรมด้วยวิธีการด้านลบ ทั้งการใช้คำพูด หรือการทำให้เจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจ

  • สายสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกน้อยและคุณพ่อคุณแม่

คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องเข้าใจ เข้าถึง ความรู้สึกนึกคิดและความต้องการของลูกค่ะ ซึ่งจะทำให้เกิดความไว้วางใจและการยอมรับ โดยควรรักษาบรรยากาศของครอบครัวให้เป็นเชิงบวกเสมอ มีความเสมอต้นเสมอปลายในการตอบรับพฤติกรรมต่างๆ ของลูก รวมถึงคุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับว่าการทำผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ และสร้างความมั่นใจในตัวลูกให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องค่ะ

  • สภาพแวดล้อมที่เป็นบวก

การจะให้ลูกฝึกหรือเรียนรู้สิ่งใดก็ตาม สภาพแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลยค่ะ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ดี สิ่งแวดล้อมสะอาด ปลอดภัย เข้าถึงสิ่งที่เป็นอันตรายไม่ได้ มีสื่อการสอนหรือของเล่นที่เหมาะสมกับวัย จะสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น

9 ข้อควรทำ การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก

9 ข้อควรทำ! การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก ตั้งแต่วัยเยาว์

ลูกน้อยในช่วงวัย 1 ขวบครึ่งขึ้นไป จะเริ่มมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้นค่ะ เพราะลูกเริ่มเดินได้ ทำบางสิ่งบางอย่างได้ด้วยตัวเอง ทำให้เกิดความอยากทดลองเพื่อเรียนรู้สิ่งรอบตัว ที่สำคัญคือลูกจะเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับอารมณ์ต่างๆ มากขึ้น ทำให้การจัดการอารมณ์ไม่คงที่ ยิ่งโตขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์รอบตัวเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ลูกน้อยต้องจัดการกับสิ่งที่เข้ามาในชีวิตมากขึ้นด้วย บวกกับความคาดหวังจากคุณพ่อคุณแม่ที่มากขึ้นตามวัย ทำให้ลูกอาจมีพฤติกรรมดื้อ เอาแต่ใจ และเจ้าอารมณ์

การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพื่อรับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ค่ะ การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก จะทำให้ลูกเรียนรู้การควบคุมตนเอง ปลูกฝังความมั่นใจว่าสิ่งใดควรทำ ไม่ควรทำ ซึ่งช่วงวัยที่เหมาะสมในการสร้างวินัยก็คือวัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถม เพราะลูกจะสามารถเรียนรู้จดจำสิ่งต่างๆ ได้ และพร้อมที่จะตัดสินใจเรื่องที่เข้ามาในชีวิต ท่ามกลางการสนับสนุนของพ่อแม่ที่ยังคอยดูแลให้ความปลอดภัยนั่นเอง มาดูกันค่ะว่า 9 ข้อควรทำ! การสร้างวินัยในตนเองให้ลูก ตั้งแต่วัยเยาว์ มีอะไรบ้าง

 

  1. สร้างตารางกิจวัตรประจำวัน

ควรมีตารางเวลาที่ชัดเจน เพื่อช่วยให้ลูกน้อยรู้ว่าแต่ละช่วงเวลาของวัน ลูกควรทำอะไรบ้าง เช่น เวลาตื่นนอน กินข้าว เล่น เรียนรู้ ช่วยงานบ้าน และเข้านอน การทำซ้ำๆ จะช่วยสร้างความคุ้นเคยและค่อยๆ พัฒนาเป็นความรับผิดชอบต่อเวลาค่ะ

ลูกช่วยงานบ้าน สร้างวินัย

  1. กำหนดกฎเกณฑ์อย่างเหมาะสมตามวัย

ควรมีกฎเกณฑ์ที่ใช้เป็นหลักในการปฏิบัติให้ลูก และให้ลูกมีส่วนร่วมในการช่วยกำหนดกฎเกณฑ์นั้น โดยอธิบายถึงความรู้สึกถึงพฤติกรรมที่ต้องวางกฎข้อบังคับให้ลูกเข้าใจ พูดคุยและทำข้อตกลงร่วมในการปรับหรือป้องกันพฤติกรรมที่เป็นปัญหา ซึ่งกฎระเบียบควรมีความชัดเจน มีเหตุผล เหมาะสมกับวัย ปฏิบัติได้และเข้าใจง่าย ไม่บังคับให้เด็กทำตามความต้องการของพ่อแม่โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของเด็กและให้มีอิสระตัดสินใจ เลือกหาทางปฏิบัติด้วยตนเอง แต่ต้องอยู่ในขอบเขต ที่พ่อแม่สามารถดูแลได้อย่างใกล้ชิด และควรอธิบายถึงข้อดี ข้อเสีย ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากกติกาอย่างชัดเจน เช่น

  • ลูกเล่นในสนามเด็กเล่นได้ แต่ต้องไม่ออกไปพื้นที่ที่มีความเสี่ยง ตรงไหน เพราะอะไร
  • การกำหนดให้ลูกเข้านอน 2-3 ทุ่ม ควรมีการพูดคุยเพื่ออธิบายว่า การที่ต้องนอนพักผ่อนเวลานี้มีประโยชน์ต่อร่างกายลูกอย่างไร และลองให้ลูกเลือกเวลา ซึ่งควรระบุให้ชัดเจนแล้วทำตามกติกานั้น

 

  1. ใช้คำพูดเชิงบวกและเข้าใจง่าย

ควรสื่อสารความต้องการและอธิบายสิ่งต่างกับลูก โดยไม่ใช่การออกคำสั่ง เพราะคำว่า “อย่า…นะ” สำหรับเด็กเล็ก จะต้องผ่านการแปลความหมายก่อนค่ะ และแน่นอน…มักจะไม่ทันกับการกระทำที่ลูกกำลังทำอยู่ จริงมั้ยคะ? ดังนั้น ลองปรับวิธีการพูดและสื่อสารกับลูกดูค่ะ เช่น แทนที่จะบอกลูกว่า “อย่าโยนนะ อันตราย” ลองเปลี่ยนเป็น “ลูกวางของลงที่พื้นก่อนนะคะ แม่อยากให้หนูวางลงก่อน แล้วเราช่วยกันเก็บ เป็นต้น

 

  1. คุณพ่อคุณแม่ปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้ลูกอย่างสม่ำเสมอ

ช่วงวัยเตาะแตะไปจนถึงวัยอนุบาลจะเรียนรู้จากการเลียนแบบตัวอย่างที่อยู่ใกล้ตัวค่ะ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้ลูกเห็นได้ตลอดเวลา อยากให้ลูกน้อยเป็นอย่างไร ทำให้ลูกดูคือสิ่งที่ง่ายและได้ผลที่สุดค่ะ ที่สำคัญคือควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกเกิดการยอมรับและจดจำได้ เช่น อยากให้ลูกเก็บของเล่น คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องเก็บของส่วนตัวเมื่อใช้งานเสร็จให้ลูกเห็นเป็นประจำ หรือเป็นพ่อแม่ที่ตรงต่อเวลา รักษาคำพูด ไม่พูดจาอย่างมีอารมณ์เมื่อเกิดความขัดแย้ง ยอมรับผิด และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของบ้านที่ร่วมกันตั้งไว้ เป็นต้น

เป็นตัวอย่างที่ดี

 

  1. เตือนทันทีเมื่อลูกทำผิดกฎ

โดยเป็นการเตือนที่ไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือลงโทษรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผล แต่ใช้วิธีการรับฟังและให้ลูกรอรับผลการกระทำของตนเองตามกติกาที่ลูกเป้นคนช่วยกำหนดขึ้น ไม่ควรใจอ่อน แต่ก็ไม่ควรพูดบ่นวนไปวนมา หากลูกยอมรับผิดและทำตามกฎได้แล้ว ก็ไม่ควรสั่งสอนหรืออ้างเรื่องเดิมซ้ำๆ ในวันต่อๆ ไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกรำคาญ ไม่พอใจ และอาจส่งผลให้มีพฤติกรรมต่อต้านได้ค่ะ

 

  1. มีทางเลือกให้บ้าง เพื่อลดความขัดแย้ง

ในทุกข้อกำหนดควรมีการสร้างทางเลือกไว้บ้าง เพื่อให้ลูกมีโอกาสเลือก และสามารถวางแผน ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง เช่น “จะทำการบ้านเลยไหม หรือจะพักก่อนสักครึ่งชั่วโมง” ซึ่งเมื่อวางกฎแล้วต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ จะช่วยทำให้ลูกปฏิบัติตามกฎได้ด้วยความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย แต่ไม่ใช่การละเมิดกฎนะคะ แค่ยืดหยุ่นได้บ้างเท่านั้นค่ะ

 

  1. ให้ลูกรู้จักการรอคอย

การตอบสนองความต้องการของลูกอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใดมากเกินไป จะทำให้ลูกคอยไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้เดี๋ยวนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีค่ะ คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกรู้จักรอคอยบ้าง เช่น “หนูอยากกินขนมที่เราซื้อมาจากตลาดใช่ไหมคะ รอแม่ทำกับข้าวเสร็จก่อนนะคะ เราค่อยกินพร้อมกัน” หรือการพาลูกไปต่อคิวซื้ออาหารหรือจ่ายเงินก็เป็นการฝึกการรอคอยที่ดีได้เช่นกันค่ะ

เตือนทันทีเมื่อลูกทำผิด

  1. เข้าใจและยอมรับความต้องการของลูก

ลูกน้อยนั้นต้องการการยอมรับจากพ่อแม่ค่ะ การรับฟังว่าลูกรู้สึกอย่างไร ต้องการอะไร แล้วพูดคุยกันด้วยเหตุผลว่า ทำไมจึงได้ เพราะอะไรจึงไม่ได้ จะช่วยให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่รับฟังและยอมรับความต้องการของตัวเอง การเอาแต่ใจ เจ้าอารมณ์ ก็จะลดลง ที่สำคัญคือคุณพ่อคุณแม่ต้องปฏิบัติให้เหมือนกันค่ะ เช่น ถ้าคุณแม่บอกว่าเรื่องนี้ไม่ได้นะคะ คุณพ่อก็ต้องทำในทิศทางเดียวกัน ถ้าคนหนึ่งไม่ให้ คนหนึ่งใจอ่อนให้ การฝึกวินัยในตนเองให้ลูก ก็จะไม่ได้ผลค่ะ

 

  1. เสริมแรงทางบวก

การชื่นชมหรือให้รางวัลเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ เป็นการสนับสนุนให้พฤติกรรมนั้นๆ ของลูกคงอยู่ค่ะ แต่ต้องระวังไม่ใช้รางวัลนเป็นเครื่องต่อรองให้ลูกทำพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ต้องการในลักษณะติดสินบนนะคะ เช่น “ถ้าลูกทำการบ้านเสร็จ เดียวแม่จะให้เงินซื้อเกมใหม่” แต่ควรให้การชื่นชมว่า “แม่ดีใจที่ลูกรับผิดชอบการบ้านของตัวเอง ทำให้แม่สบายใจ ไม่กังวลเลยค่ะ”

 

 

วินัยไม่ใช่แค่การเชื่อฟังคำสั่ง แต่เป็นการปลูกฝังความสามารถในการควบคุมตนเอง บริหารจัดการตนเอง และมีความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสู่ความสำเร็จและความสุขในทุกช่วงวัย การเริ่มต้นสร้างวินัยตั้งแต่วัยเยาว์จึงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้ามนะคะ

 

ที่มา : www.manarom.com , www.psy.chula.ac.th , www.nakornthon.com

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

8 วิธีฝึกลูกจัดการความโกรธ สยบอารมณ์ขุ่นมัวอย่างสร้างสรรค์

7 วิธีสงบสติอารมณ์เมื่อลูกน้อยร้องไห้ รับมือยังไง ไม่ทำร้ายจิตใจทั้งลูกและแม่

5R เคล็ดลับสร้างลูกฉลาด บ่มเพาะทักษะและความฉลาดให้ลูกง่ายๆ เริ่มได้ที่บ้าน

มีข้อสงสัยเรื่องการตั้งครรภ์ หรือมีคำถามเรื่องการเลี้ยงลูกหรือเปล่าคะ? ติดตามอ่านบทความ หรือสอบถามสิ่งที่คุณอยากรู้ผ่านแอปของเราได้เลย ดาวน์โหลด theAsianparent แอปพลิเคชัน ทั้ง IOS และ Android ได้แล้ววันนี้!