ทุกวันนี้ ข่าวความรุนแรงในสังคมเกิดขึ้นแทบทุกวัน—จากการขับรถปาดหน้าจนลงมาต่อยกัน คนทะเลาะกันเพราะเรื่องเล็กน้อยแล้วถึงขั้นทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่เหตุสะเทือนขวัญที่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบของคนเพียงคนเดียว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ในสังคมที่ผู้คนจำนวนมากขาด “ทักษะควบคุมตัวเอง” จนนำไปสู่การสูญเสียที่ยากจะหวนคืน
ทั้งที่ รากฐานของการควบคุมตนเองสามารถเริ่มต้นง่ายๆ ได้ที่บ้าน และพ่อแม่คือบุคคลที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ให้เกิดขึ้นในสังคมได้ ด้วยการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้จักวิธีควบคุมอารมณ์ตัวเอง
เด็กที่เติบโตขึ้นโดยได้รับการฝึกฝนให้รู้จักควบคุมอารมณ์ ความต้องการ และพฤติกรรมของตัวเอง จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ สามารถแก้ปัญหาด้วยเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์ ความสงบสุขในสังคมจึงเริ่มจากการเลี้ยงลูกให้มี Self-control เพราะเมื่อคนในสังคมรู้จักควบคุมตัวเอง ปัญหาความรุนแรงก็จะลดลง และเราทุกคนจะได้ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปลอดภัยมากขึ้น
มีแต่พัง เมื่อไม่ยับยั้งอารมณ์ตัวเอง
เคยได้ยินข่าว คนยิงกันตายเพียงเพราะคำพูดไม่เข้าหูเพียงไม่กี่คำไหมคะ เรื่องเหล่านี้อาจฟังดูไม่มีเหตุผล แต่ก็เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งสาเหตุเบื้องหลังมาจากการที่คนๆ หนึ่งไม่สามารถยับยั้งอารมณ์ตนเองได้นั่นเอง
เพราะอารมณ์ชั่ววูบ ความโกรธ ความโลภ หรือความอยากบางอย่างพุ่งขึ้นมา จนห้ามตัวเองไม่อยู่ คำพูดแค่คำเดียวอาจทำลายความสัมพันธ์ การกระทำแค่ครั้งเดียวอาจเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล หลายคนไม่ทันคิดถึงผลที่ตามมา จนเมื่อสายไป และบางเรื่อง… ไม่มีโอกาสให้แก้ตัว นี่คือผลเสียของการขาดทักษะควบคุมตนเองหรือที่เรียกว่า Self-control
มองเผินๆ เราอาจบอกว่าเราควบคุมตัวเองได้ เราควบคุมตัวเองให้ไปทำงาน ให้รับผิดชอบสิ่งที่ได้รับมอบหมาย แต่ทักษะการควบคุมตนเองมีความหมายลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือ การสามารถยับยั้งอารมณ์ได้ทันที แม้จะเป็นอารมณ์เพียงชั่ววูบ เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียที่อาจกระทบทั้งต่อสังคมและต่อตัวเราเอง
ในสังคม คนที่ควบคุมตัวเองไม่ได้คือระเบิดเวลาของปัญหา แค่บีบแตรใส่ก็ชักปืนไล่ยิง มองหน้ากันผิดจังหวะก็เป็นเรื่อง ทำให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตด้วยความหวาดระแวง พ่อแม่ที่อารมณ์ร้อน อาจทำร้ายจิตใจลูก คนรักที่ขาดสติ อาจทำให้ความสัมพันธ์กลายเป็นความรุนแรง เมื่อใครคนหนึ่งควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ ทุกอย่างย่อมพังทลาย ไม่เว้นแม้แต่ตัวเอง ที่อาจจบลงด้วยการถูกจับดำเนินคดี ติดคุก สูญสิ้นทุกอย่าง กว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว
Self-control ทักษะควบคุมตัวเอง ฝึกง่ายๆ ได้ตั้งแต่เด็ก
Self-Control หรือ ทักษะควบคุมตัวเอง คือความสามารถในการจัดการอารมณ์และแสดงออกในทางที่เหมาะสม สำหรับเด็ก อาจหมายถึงการที่เด็กๆ สามารถบอกได้ว่าพวกเขากำลังโกรธ เสียใจ หรือโมโห แทนที่จะไปทำร้ายผู้อื่น เพราะการสามารถระบุอารมณ์ได้ คือจุดเริ่มต้นสำคัญในการฝึกควบคุมตนเอง
ทักษะควบคุมตัวเอง เริ่มต้นตั้งแต่แรกเกิดและพัฒนาไปตลอดชีวิต หากได้รับคำแนะนำอย่างเหมาะสม เด็กที่มี Self-Control จะสามารถเข้ากับผู้อื่นได้ดี รับมือกับความผิดหวัง และแก้ไขความขัดแย้งได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง ซึ่งทักษะนี้จำเป็นต้องเรียนรู้ผ่านการปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวและการเลี้ยงดูจากพ่อแม่หรือผู้ดูแล ที่เป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมตนเอง
เพราะเด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบ ในช่วงเดือนแรกของชีวิต พ่อแม่จะพบว่าลูกควบคุมตนเองไม่ได้เลย เมื่อไม่ได้ดั่งใจจะร้องไห้ทันที แต่จากการดูแล ฝึกฝนเด็กๆ จะเริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์ดีที่ขึ้น ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างว่าในแต่ละวัยเด็กๆ เรียนรู้เรื่องการควบคุมตนเองอย่างไรบ้าง
-
ทารกแรกเกิด
กำลังร้องไห้เสียงดังด้วยความไม่พอใจ เมื่อถูกเปลี่ยนผ้าอ้อม คุณพ่อค่อยๆ พูดอย่างอ่อนโยนว่า “อีกนิดเดียวลูก พ่อรู้ว่าหนูไม่ชอบ แต่เดี๋ยวก็เสร็จแล้วนะ” จากนั้นอุ้มลูกขึ้นมาปลอบ ทำให้ทารกสงบลง หนูน้อยกำลังเรียนรู้ว่า มีคนรับรู้ความรู้สึกของเขา และช่วยจัดการอารมณ์เมื่อเขารู้สึกไม่สบายใจ
-
ลูกน้อยวัย 9 เดือน
กำลังจับรีโมตทีวีและกดปุ่มอย่างสนุกสนาน คุณแม่ค่อยๆ เอารีโมตออกพร้อมพูดอย่างมั่นคงแต่อ่อนโยนว่า “รีโมตไม่ใช่ของเล่นนะลูก แต่ลองเล่นอันนี้ดูดีไหม?” แล้วส่งของเล่นที่มีปุ่มกดและช่องเปิด-ปิดให้แทน เด็กคนนี้กำลังเรียนรู้ว่าอะไรเล่นได้และเล่นไม่ได้ ฝึกการรับมือกับความผิดหวัง และเรียนรู้ว่าบางครั้งก็ต้องยอมรับสิ่งทดแทน
-
เด็กวัย 2 ขวบ
อยากเล่นของเล่นชิ้นที่เพื่อนถืออยู่ เขาดึงมันมา และเมื่อเพื่อนร้องไห้ เขาก็ตีเพื่อนและร้องไห้ไปด้วย คุณแม่เข้ามาปลอบก่อน แล้วช่วยให้เขานำของเล่นคืนให้เพื่อน จากนั้นอธิบายว่า “เราตีนะไม่ได้จ้ะ ถ้าหนูอยากเล่น ให้บอกเพื่อนว่า ขอเล่นบ้างได้ไหม” เด็กคนนี้กำลังเรียนรู้วิธีจัดการอารมณ์ตัวเอง และการเลือกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ จะพบว่าพ่อแม่มีการระบุอารมณ์ เช่น พ่อรู้ว่าลูกไม่ชอบ มีการระบุว่าอะไรทำได้ไม่ได้ รวมทั้งการเสนอทางเลือก วิธีการเหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่จะค่อยๆ ช่วยให้เด็กรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้
3 ขั้นตอน สอนลูก ควบคุมอารมณ์ตัวเอง
1. ช่วยลูกระบุอารมณ์ของตัวเอง
เด็กเล็กมักรู้สึกโกรธ เศร้า หรือหงุดหงิด แต่ยังไม่สามารถอธิบายความรู้สึกเหล่านั้นได้ การช่วยลูกเรียกชื่ออารมณ์ เช่น “ลูกกำลังโกรธใช่ไหม?” หรือ “หนูเสียใจที่ไม่ได้ของเล่นใช่ไหม?” จะทำให้พวกเขาตระหนักรู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น เมื่อเด็กสามารถแยกแยะอารมณ์ได้ พวกเขาจะรับมือกับมันได้ดีขึ้น และมีโอกาสน้อยลงที่จะระบายออกด้วยพฤติกรรมก้าวร้าว เช่น กรีดร้อง ตี หรือโยนของ
2. เสนอทางเลือกให้ลูกได้จัดการอารมณ์
เมื่อเด็กเริ่มเข้าใจอารมณ์ตัวเอง พ่อแม่สามารถช่วยให้พวกเขาหาวิธีจัดการอารมณ์เหล่านั้นอย่างเหมาะสม เช่น ถ้าลูกหงุดหงิดจากการแพ้เกม อาจบอกว่า “แม่เข้าใจว่าหนูไม่ชอบแพ้ แต่เราลองพักหายใจลึก ๆ แล้วเล่นใหม่ดีไหม?” หรือถ้าลูกเสียใจ อาจให้เขาวาดรูปหรือกอดตุ๊กตาเพื่อช่วยปลอบใจ เมื่อเด็กมีทางเลือกที่ดีกว่า พวกเขาจะเรียนรู้ว่ามีวิธีอื่นในการจัดการอารมณ์ที่ไม่ใช่การระเบิดออกมา
3. กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้
แม้ว่าอารมณ์เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การแสดงออกต้องมีขอบเขต เช่น “หนูโกรธได้นะ แต่ตีแม่ไม่ได้” หรือ “เสียใจได้ แต่การโยนของไม่โอเค” พ่อแม่ควรช่วยลูกกำหนดขอบเขตให้ชัดเจนว่าเมื่อเกิดอารมณ์เชิงลบมีอะไรบ้างที่พวกเขาห้ามทำ ซึ่งหลักที่ใช้การทั่วไปคือ ห้ามทำร้ายตัวเอง ห้ามทำร้ายคนอื่น และห้ามทำร้ายข้าวของ การตั้งกฎเหล่านี้จะช่วยให้เด็กเรียนรู้ว่าเขาสามารถรู้สึกทุกอารมณ์ได้ แต่ต้องเลือกแสดงออกด้วยการไม่ทำร้ายใครหรือสิ่งใด ความชัดเจนของพ่อแม่ทำให้เด็กเข้าใจว่าสังคมมีขอบเขต และเขาต้องเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นแม้ในเวลาที่รู้สึกแย่
Self-Control ทักษะควบคุมตัวเอง คือทักษะพื้นฐานของชีวิต
ที่มา: Zero to Three , iStrong
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
20 กิจกรรมพัฒนาสมองลูกน้อย ปลดล็อคพลังสมองลูกวัยเตาะแตะ
Adaptability Quotient : 5 วิธีเลี้ยงลูกให้มี AQ สูง ปรับตัวเก่ง เอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์
ปักหมุด! 10 มารยาทที่พ่อแม่ต้องสอนลูก สร้างนิสัยที่ดีในการเข้าสังคม